- 31 มี.ค. 2568
เช็กจุด อาคารหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร มีการสั่นไหว สั่งอพยพเจ้าหน้าที่และประชาชนออกมาด้านนอก มีที่ไหนบ้าง?
(31มี.ค.68)มีรายงานว่าอาคารหลายแห่งในกรุงเทพมหานครเกิดอาการสั่นไหว ส่งผลให้มีคำสั่งอพยพเจ้าหน้าที่และประชาชนออกจากตัวอาคารเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ บางหน่วยงานยังประกาศให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน พร้อมเร่งส่งวิศวกรเข้าตรวจสอบอาคารโดยด่วน โดยอาคารที่มีการอพยพหลัก ๆ ได้แก่
ศาลยุติธรรมและศาลอาญา รัชดาภิเษก
- เวลาประมาณ 09.25 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลยุติธรรม แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ อพยพออกจากอาคารสำนักงานศาลยุติธรรมสูง 27 ชั้น หลังรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน
- อาคารศาลแพ่ง ศาลอุทธรณ์ และศาลอาญาก็มีการอพยพเช่นกัน ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องหยุดชั่วคราว
- เวลาประมาณ 10.00 น. สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่และคู่ความสามารถกลับไปที่ห้องพิจารณาคดีได้ตามปกติ
- 11.30 น. สำนักงานศาลยุติธรรมชี้แจงว่า ไม่พบความผิดปกติในระบบโครงสร้างของอาคาร
ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
- เวลาประมาณ 09.30 น. อาคารเอ หรืออาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลแขวงดอนเมือง และกรมคุมประพฤติ ได้รับรายงานถึงแรงสั่นสะเทือน
- เจ้าหน้าที่บางส่วนระบุว่าได้ยินเสียงดัง พร้อมกับพบเศษปูนร่วง และมีรายงานว่าอาคารเอ ฝั่งศาลล้มละลายกลางเกิดการทรุดตัวเล็กน้อย จึงมีคำสั่งอพยพทั้งหมด
- 10.00 น. วิศวกรตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นรอยแยกเดิม และ 11.00 น. สถานการณ์กลับสู่ปกติ พร้อมประกาศให้เข้าใช้งานได้
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
- 10.30 น. มีรายงานว่า ธอส. สำนักงานใหญ่ ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ พบแรงสั่นสะเทือนที่ชั้น 9 ของอาคาร 2 ส่งผลให้มีคำสั่งอพยพและอนุญาตให้พนักงานกลับบ้านทันที
- 10.38 น. ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ธอส. ชี้แจงว่า อาคาร 2 สำนักงานใหญ่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่ชั้น 17 จึงได้ใช้แผนฉุกเฉิน (ERP) และอพยพพนักงานกับลูกค้าออกมายังจุดรวมพลตามมาตรการความปลอดภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์เพิ่มเติม
โรงพยาบาลตำรวจ
- 10.30 น. โรงพยาบาลตำรวจ ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ อพยพบุคลากรออกจากอาคาร หลังได้รับแจ้งว่าอาคารมีอาการสั่นไหว
- ต่อมา พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ รองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ยืนยันว่า ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ และไม่มีคำสั่งอพยพ พร้อมระบุว่าได้มีการตรวจสอบโครงสร้างของโรงพยาบาลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแม้จะพบรอยร้าวบางส่วนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก
กระทรวงแรงงาน
- 10.00 น. อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ สูง 15 ชั้น ได้รับรายงานแรงสั่นสะเทือน จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่อพยพออกจากอาคาร และเปลี่ยนการทำงานเป็นระบบออนไลน์
- ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าชั้น 15 ของอาคารพบรอยร้าวจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม และได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่บริเวณดังกล่าวทำงานจากที่บ้านอยู่แล้ว
เมื่อเวลา 11.53 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยระบุว่า
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ไม่มีแผ่นดินไหวในประเทศไทย และ Aftershock จากเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทย
รอยร้าวที่พบในอาคารต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นรอยร้าวเดิมที่มีอยู่แล้ว
ขอให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารอย่างละเอียดก่อนเปิดใช้งาน และสามารถขอความช่วยเหลือจากกรมโยธาธิการและ ปภ. ได้
คำสั่งอพยพของแต่ละอาคารควรเป็นคำสั่งที่มีข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางการเพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดความกังวลที่อาจเกิดขึ้น