- 03 พ.ย. 2565
งานนี้คาบ้าน! HR บริษัทหนึ่งบ่นอุบ ทัศนคติคนรุ่นใหม่ ทำอะไรต้องมีเบี้ยเลี้ยง...?! ก่อนลั่นหรือผมแก่เกินไป?
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ ระบายลงกลุ่มว่ารู้สึกท้อกับทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่เกี่ยวกับการทำงาน โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อ คือ
1. ไม่ทำงานนอกเวลา - ส่งงานผิด ต้องแก้ไขแต่ไม่ทำนอกเวลา ทั้ง ๆ ที่เป็นงานเร่งแผนกอื่นรองานต่อ
2. นอกเวลาต้องโอที - ทำงานช้าเสร็จไม่ทัน แต่ร้องจะเอาโอที
3. นอกสถานที่ต้องมีเบี้ยเลี้ยง - เอาความคิดแบบนี้มาจากไหนทั้ง ๆ บริษัทจัดรถรับ-ส่งให้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
4. อยากทำงาน WFH (Work from home : ทำงานที่บ้าน) แต่พอให้เงินเดือนไม่เยอะ ก็โวยวาย
โดยผู้โพสต์ได้ฝากข้อความทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า "ตรรกะผมผิดปกติหรือเปล่า หรือผมแก่เกินไป" งานนี้ก็มีชาวเน็ตแห่เข้ามาถล่มยับ หงายการ์ดถามเจ้าของโพสต์ก่อนเลยว่า "ได้อ่านกฎหมายแรงงานบ้างไหม" พร้อมซัดต่อว่าใครพลาดไปอยู่ในองค์กรที่มี HR ทัศนคติแบบนี้ถือว่าซวย เพราะจรรยาบรรณของคนเป็น HR ที่แท้จริง คือต้องดูแลพนักงาน รักษาผลประโยชน์ของพนักงานและบริษัท ไม่ใช่แค่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทอย่างเดียว พนักงานไม่ใช่ทาส
จากนั้นเรียกว่าได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในกลุ่มฝ่ายบุคคล (HR : Human Resources) ขึ้นมาทันที บางคนแชร์ประสบการณ์ของตัวเองว่า เคยเป็นลูกจ้าง เจอแบบนี้ก็ลาออกเลย อย่างเช่นข้อแรก ที่ไม่ทำงานนอกเวลา ส่งงานผิด แต่หัวหน้ามาตรวจตอนเย็นก่อนเลิกงาน ทั้งที่ส่งไปนานแล้ว มีเวลาทั้งวันแต่ไม่ตรวจ แล้วจะคาดหวังให้แก้วันนั้นเลย เป็นปัญหาที่การจัดการ แต่เอามาลงที่เด็กหรือเปล่า ?
ส่วนเรื่องโอที ถ้าหัวหน้าประเมินระยะเวลาการทำงานของลูกน้องได้ วางแผนร่วมกัน กำหนดเวลาส่งให้เหมาะสมกับจำนวนคนทำงาน ก็ไม่จำเป็นต้องมีโอที สำหรับเบี้ยเลี้ยงนอกสถานที่ อันนี้แล้วแต่ตกลงกัน ต้องดูว่าค่าข้าวแพงกว่าเดิมไหม ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
สุดท้ายเรื่อง WFH ขึ้นอยู่กับเนื้องาน บางงานไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็ได้ถ้าจัดการดี ๆ และค่าแรงก็น่าจะขึ้นอยู่กับความสามารถและเนื้องาน ปัญหาทั้งหมดแก้ได้ด้วยโครงสร้างระบบในบริษัท ถ้าเด็กไม่พอดีกับที่ทำงาน ก็แค่ไม่ผ่านงาน แต่บริษัทต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมายแรงงาน และถ้าไม่ปรับอะไรเลย ก็จะกลายเป็นบริษัทที่ล้าหลังตามโลกไม่ทัน
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline