- 02 พ.ค. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
หยาดเหงื่อของพระผู้เฒ่า...“หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม” เกจิดังแดนอีสานใต้ ศิษย์หลวงปู่ฝั้น ผู้ไม่เคยถือสมณะศักดิ์ หรือชื่อเสียงใดใด
หลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม ...พระอรหันต์เจ้าแห่งบุรีรัมย์
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีประชาชนร่วมเดินทางไปร่วมทำบุญวันครบรอบอายุ 90 ปี ของพระราชปัญญาวิสารัท หรือ "หลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม" เกจิอาจารย์ชื่อดังอีสานใต้ ที่วัดกระดึงทอง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์
ซึ่งหลังจากจบงาน อายุวัฒนมงคล ครบ 90 ปี ของหลวงปู่ หลวงปู่ได้ลงมือช่วยเก็บกวาดทันที ซึ่งลูกศิษย์ได้กล่าวว่า..
“เมื่อวานพอเสร็จงาน90ปีในช่วงบ่ายๆ เมื่อหลวงปู่กลับกุฎิบรรดาลูกศิษย์ก็ช่วยเก็บของเก็บงาน แล้วภาพที่ทุกคนเห็นแล้วต้องตื้นตันก็เกิดขึ้น....หลวงปู่ลงจากกุฎิมาทำกิจทันที ทั้งๆที่ทุกๆคนคิดว่าท่านคงจะพักหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน”
นับว่าเป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ศรัทธาเป็นอย่างมาก
ซึ่งการกวาดลานวัดนั้น ท่านได้ปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่เคยขาด ถึงแม้จะเป็นอายุมากขึ้น อีกทั้งวันนี้เป็นพิธีใหญ่ที่ท่านน่าจะเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ท่านก็ยังคงกวาดลานวัดอย่างที่ได้ปฏิบัติเป็นกิจวัตร
หลวงปู่เหลืองมีนามเดิมว่า ด.ช. เหลือง ทรงแก้ว ท่านเกิดในยามใกล้รุ่งของวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2470ที่บ้านนาตรัง หมู่ที่ 2 ต.เขวาสินรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นบุตรคนที่ 6 ของนายเที่ยง ทรงแก้ว และนางเบียน ทองเชิด หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ต่อมาท่านได้ออกจาริกเดินตามหลังพระพี่ชายไปเมื่อตอนอายุ16 ปี พระพี่ชายทั้งสองคือพระครูสมุห์ฉัตร ธมฺมปาโล และพระอาจารย์สมุห์เสร็จ ญาณวุฑโฒ ซึ่งพระทั้งสองเป็นศิษย์หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “มือขวา”ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยทั้งหมดได้ออกธุดงค์ในปี พ.ศ. 2486จากสุรินทร์ไปถึงนครราชสีมา ไปฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง หลังจากนั้นชีวิตของหลวงปู่เหลืองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะท่านมีบุญได้พบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระผู้สรุปอริยสัจ4 จนได้รับการขนานนามว่า เจ้าแห่งจิต นอกจากนั้นท่านยังได้มอบกายถวายใจเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร รวมทั้งได้พบและศึกษาธรรมกับท่านพ่อลี ธมฺมธโร แห่งวัดป่าคลองกุ้ง จันทบุรี อีกด้วย
ทุกวันนี้หลวงปู่เหลือง รับภาระการบริหารคณะสงฆ์เป็นเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์(ธรรมยุต) ภาระนี้เกิดมาต่อเนื่องตั้งแต่กึ่งศตวรรษก่อนโน้น เพราะปี พ.ศ. 2499ท่านเป็นพระครูสมุห์ ฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระอริยเวที พร้อมกับเจ้าอาวาสวัดรังสีปาลิวัน ปี พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าอาวาสวัดกระดึงทอง และเป็นเจ้าคณะตำบล วัดแห่งนี้เดิมเป็นวัดที่พระอาจารย์สมุห์เสร็จ พี่ชายเป็นคนบุกเบิกสร้างไว้ เมื่อท่านออกวิเวกเสียชีวิตเพราะไข้ป่า พระสมุห์ฉัตร พี่ชายคนรองก็เป็นคนมาดูแลแทน ปี พ.ศ. 2519 ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง พ.ศ. 2523 เป็นเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ (ธรรมยุต)
หลวงปู่เหลืองกล่าวว่า พระพุทธองค์มิได้สอนให้เชื่อพระองค์เพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ชื่อว่า “จิต คือ พุทธะ” ถ้าเราดำเนินตามที่พระองค์ทรงสอน จิตของเราก็เป็นพุทธะอย่างพระพุทธองค์ได้ ถ้าจะให้ถึงซึ่งพุทธะก็เหมือนกับเอาแก่นของต้นไม้ใหญ่ ถ้าจะเอาแก่นต้องใช้ขวานถากเปลือก ถากกระพี้ออก จิตคนเรานั้นเป็นพุทธะอยู่แล้ว หากแต่เราปล่อยให้กิเลสตัณหาห่อหุ้มจนจิตไม่ประภัสสร
“จิตประภัสสรก็หมายถึงจิตเดิม ซึ่งเปรียบเสมือนเพชร ลักษณะแวววาวสุกใสอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ที่มันเศร้าหมองจนเรามองไม่เห็นความประภัสสรของมัน เพราะมีสิ่งอื่นมาห่อหุ้ม ทำให้รัศมีเปล่งออกมาไม่ได้ อย่างไฟฉายของเรา พอเปิดสวิตช์ขึ้น มันก็สว่างเป็นลำพุ่งออกไปพอปิดสวิตช์มันก็มืด ไม่เห็นดวงไฟ ทั้งที่ความจริงจิตมันประภัสสรอยู่แล้ว แต่คนเราทุกวันนี้ ก็เอากิเลส ความโกรธ ความหลงที่เปรียบเหมือนดินทรายเขม่าไฟต่างๆ ไปห่อหุ้มปิดบังมันเสียเอง มันเลยมืดบอดอยู่อย่างนั้น...เราอยากจะเห็นตามพระองค์บ้าง ก็ต้องลงทุนลงแรงเอาสิ่งที่หุ้มห่อออก แล้วจึงจัดสีให้มันเปล่งแสงประภัสสรขึ้น เอาอะไรมาขัดสีล่ะ ก็เอาสมาธินั่นแหละมาขัดสี...”
หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม นับเป็นพระมหาเถระที่ควรแก่การอัญชลี ท่านเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ของท่านคือ แน่วแน่กับการปฏิบัติภาวนาไม่เสื่อมคลาย อยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย แทบไม่มีใครจำสมณะศักดิ์ของท่านได้ เรียกกันแต่ว่า หลวงปู่เหลือง วัดกระดึงทอง แม้ปัจจุบันอายุของท่านจะอยู่ในวัยชราภาพมากแล้วแต่ท่านก็มีสุขภาพแข็งแรงดีพอสมควร หากมีใครไปนิมนต์ท่าน ท่านก็จะรับนิมนต์ด้วยความเมตตา จึงนับได้ว่า หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม ท่านได้ดำรงธาตุขันแลวิถีชีวิตที่เหลืออยู่ในโลกสมมุตินี้ อย่างสมถะแลเรียบง่ายมากที่สุด จึงนับเป็นพระอรหันต์เจ้าผู้เอื้อเฟื้อสังคมโลก เป็นเนื้อนาบุญสืบต่อพระพุทธศาสนาอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามประเพณีแห่งพระอรหันต์เจ้า เพราะพระอรหันต์เจ้าจะไม่ขาดหายไปจากโลก จนกว่าจะสิ้นกาลพุทธศาสนา 5,000 ปี