- 08 ส.ค. 2560
"พญาครุฑ" เครื่องหมายแห่งสิทธิอำนาจและความเป็นมงคล
ตราแผ่นดินของไทย คือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติและเป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ตามแนวคิดสมมุติเทพ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่หลัง พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นต้นมา แต่มาใช้อย่างเต็มที่แทนตราแผ่นดินเดิมทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้ตราอาร์มเป็นตราแผ่นดินใน พ.ศ. ๒๔๑๖ ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริว่า ตราอาร์มที่ใช้เป็นตราแผ่นดินในเวลานั้นเป็นอย่างฝรั่งเกินไป และทรงระลึกได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยใช้ตราพระครุฑพ่าห์มาก่อน (ตราที่กล่าวถึงคือตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์องค์เดิม) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ขึ้นเป็นตราแผ่นดินเพื่อใช้แทนตราอาร์ม โดยครั้งแรกทรงเขียนเป็นรูปตราพระนารายณ์ทรงครุฑจับนาค ตรานี้ได้ใช้อยู่ระยะหนึ่งก็โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนตราครุฑขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นตราวงกลม โดยยกรูปพระนารายณ์และนาคออกเสีย คงเหลือแต่รูปครุฑ ซึ่งเขียนเป็นรูปครุฑรำตามแบบครุฑเขมร พื้นเป็นลายเปลวไฟ เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็ชอบพระราชหฤทัย และมีพระราชประสงค์ที่จะให้ใช้ตรานี้เป็นตราแผ่นดินถาวรสืบไป จะได้ไม่ต้องสร้างขึ้นใหม่เมื่อเปลี่ยนรัชกาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปชัย) เป็นผู้เขียนตราครุฑถวายใหม่ โดยยังคงใช้ตราครุฑเดิมแบบสมัยรัชกาลที่ ๕ เพียงแต่เพิ่มพระปรมาภิไธยตามขอบพระราชลัญจกร และเปลี่ยนพระปรมาภิไธยที่ขอบพระราชลัญจกรให้ตรงตามรัชกาล และให้ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลจะสร้างขึ้นใหม่เมื่อพระมหากษัตริย์ได้รับการบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๘ จึงไม่มีการสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลขึ้น เนื่องจากพระองค์มิได้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คงมีแต่พระราชลัญจกรประจำรัชกาลเท่านั้น และเชิญพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ รัชกาลที่ ๕ ออกประทับแทน
พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์นี้ใช้สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์หรือกำกับนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งลงนามแทนในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ก็ยังใช้เป็นตราประจำสถานที่ราชการต่างๆ ของรัฐบาลไทย ใช้พิมพ์เป็นตราบนหัวหนังสือและเอกสารต่างๆ ของทางราชการ และใช้เป็นตราสำหรับประทับในหนังสือราชการของกรมกองต่าง ๆ
อนึ่ง บริษัทห้างร้านใดที่จดทะเบียนโดยชอบตามกฎหมายที่ติดต่อค้าขายกับทางราชสำนัก ซึ่งปรากฏว่ามีฐานะทางการเงินดี เป็นที่เชื่อถือแก่มหาชน ไม่มีหนี้สินรุงรังนอกจากหนี้สินปกติจากการค้าขาย และจะต้องประกอบการค้าโดยสุจริต อาจได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราพระครุฑพ่าห์เป็นตราตั้งห้างไว้ที่ห้างร้านของตนได้ โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ในสิทธิที่จะเรียกคืนตราดังกล่าวได้
สิทธิอำนาจพญาครุฑสัตว์กายสิทธิ์ที่ไม่มีผู้ใดสามารถฆ่าให้ตายได้มีอายุยืนเสมือนว่า เป็นอมตะนั้น นับเป็นเรื่องลี้ลับที่ผู้รู้พยายามค้นคว้า และเสาะหาที่มาแห่งพลังอำนาจดังกล่าว จนเกิดการสร้างเครื่องรางต่าง ๆ ขึ้น อำนาจพญาครุฑสามารถจำแนกได้ถึง ๘ ประการ โดยนับเอาอำนาจหลัก ๆ ได้ดังนี้คือ
๑. เป็นมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ เป็นสิทธิอำนาจอันเฉียบขาด
๒. สามารถลบล้างอาถรรพ์และคุณไสย์ทั้งปวง ภูติผีปิศาจกลัวไม่กล้าเข้าใกล้
๓. เป็นสื่อนำความเจริญรุ่งเรือง ยศถาบรรดาศักดิ์มาสู่ชีวิตหน้าที่การงาน
๔. ปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัยเป็นคงกระพัน
๕. เป็นเมตตามหานิยม
๖. นำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้
๗. ทำมาค้าขายดีเป็นสื่อนำโชคลาภนานาประการ
๘. สัตว์ร้าย เขี้ยวงาสารพัด งูเงี้ยวเขี้ยวขอ อสรพิษไม่กล้ากล้ำกรายเข้าใกล้ เพราะเกรงตบะบารมีขององค์พญาครุฑเป็นที่สุด
อำนาจพญาครุฑ ยังมีมากกว่านี้อีกมาก แล้วแต่ท่านใดจะรู้จักใช้ ในตำราทางไสยเวทพุทธาคมมีทั้งการใช้ยันต์ครุฑให้ผลดีในทางคงกระพันชาตรี มีนะพญาครุฑใช้ลงตบเข้าหน้าผากเป็นคงกระพันชาตรีกันเขี้ยวงาอสรพิษได้ ทั้งนะพญาครุฑนี้เมื่อประสิทธิ์ลงไปยังตัวคนผู้ใดแล้วยังสามารถทรหดอดทน เดินไกลไม่เหนื่อย เป็นวิชาตัวเบาชั้นยอด และเป็นเมตตามหานิยมชั้นสูงอีกด้วย ยังมีคาถาพญาครุฑซึ่งเมื่อกล่าวพระคาถานี้งูพิษรวมไปจนถึงตะขาบแมงป่องและสัตว์ร้ายต่าง ๆ ทั้งหลายจะหลบหนีไปสิ้นโดยพระคาถาพญาครุฑท่านว่าดังนี้
" โอมพญาครุฑจะเห็นผล หลีกไปให้พ้น พญาหนจะเดินทาง เคาะงอ เคาะงอ "
ก่อนว่าพระคาถานี้ให้นมัสการพระรัตนตรัยเสียก่อนด้วยนะโม ๓ จบและท่องพระคาถานี้ก่อนออกเดินทางตั้งสติส่งจิตไปถึงพญาครุฑจะปลอดภัยทุกประการ
การบูชาพญาครุฑ ประกอบกับพยาปักษาชาติอันมีฤทธิ์ทั้งหลายนั้น ท่านให้สักการะคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จากนั้นให้ตั้งจิตระลึกถึงพญาครุฑท่าน ด้วยการทำสมาธิภาวนาเป็นสื่อถึงองค์พญาครุฑว่า ครุฑโธ จนจิตสงบหรือระลึกชื่อ พญาวายุภักษ์ หรือ ท่องคำว่า การะวิโก อันเป็นคาถาหัวใจพญาการเวกก็ว่าได้ จากนั้นเมื่อเห็นว่าจิตสงบลงบังเกิดเสียงนกร้องระงม จากบริเวณที่มีนกอยู่ใกล้ ๆ จนบางครั้งอาจมีนกมาบินเวียนวนอยู่เป็นทักษิณาวัตรอย่างน่าอัศจรรย์ หรือมีฝูงนกมาทานอาหารที่เราเซ่นไหว้ อาการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเป็นศุภมงคลอย่างประเสริฐแล้ว สื่อให้เห็นว่าจิตเราพิธีกรรมเราที่ตั้งถึงองค์พญาครุฑและเหล่าพญาปักษาชาติทั้งหลาย อันมีฤทธิ์นั้นท่านรับรู้แล้ว และท่านทั้งหลายจะช่วยเหลือเหลือ
นอกจากนี้หลายท่านคงเคยเห็นและสังเกตว่าทำไมถึงมีตราครุฑติดที่หน้าบริษัทเหล่านั้นคือ เป็นการพระราชทานตราตั้ง ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ที่ได้รับพระราชทานตราตั้งนอกจากช่างหลวงแล้ว มักเป็นผู้ประกอบการกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน คุณสมบัติของบุคคลหรือห้างร้าน บริษัท ที่ขอพระราชท่านตราตั้ง ดังนี้
๑. มีฐานะการเงินดี และไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
๒. ประกอบกิจการโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฏหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
๓. คุณสมบัติอื่นใดที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา ๘
การขอพระราชทานตราตั้งกระทำได้โดยยื่นคำขอต่อสำนักพระราชวัง เมื่อสำนักพระราชวังตรวจสอบและพิจารณาเห็นสมควรได้รับพระราชทานตราตั้ง ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป
อ้างอิงมาจาก : เพจ เรื่องเล่า ภาพเก่า ในอดีตราชบุรี.