๒๕ ส.ค. น้อมรำลึก วันสิ้นพระชนม์ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า หม่อมเจ้าภุชงค์ สิริวฑฺฒโน” พระสังฆราช องค์ที่๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

๒๕ ส.ค. น้อมรำลึก วันสิ้นพระชนม์ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า หม่อมเจ้าภุชงค์ สิริวฑฺฒโน” พระสังฆราช องค์ที่๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

น้อมรำลึกในโอกาสครบ ๘๐ ปี วันสิ้นพระชนม์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ สิริวฑฺฒโน ป.ธ.๕) สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท” พระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน” เป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นหนึ่ง กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ กับ หม่อมปุ่น ชมพูนุท ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๒ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัย ในสำนักเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นย่า ในขั้นเริ่มต้นพอเขียนและอ่านได้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หลังจากพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าไปประทับอยู่ในวัง และได้เรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่งเพื่อเตรียมตัวเสด็จออกไปศึกษาในต่างประเทศ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พ.ศ. ๒๔๑๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่งบางกอก คราวเสด็จประพาสอินเดีย เรือพระที่นั่งแวะพักแรมที่เมืองสิงคโปร์ ให้อยู่เล่าเรียนในโรงเรียนแรพฟัล พร้อมกับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ อีกราว ๒๐ องค์ที่เสด็จไปในคราวเดียวกัน
ทรงศึกษาอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เป็นเวลา ๙ เดือน จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ขณะนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้น
ในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วจึงมีรับสั่งให้พระองค์เข้าเรียน ในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนั้น โดยไม่ต้องกลับไปเรียนต่อที่สิงคโปร์อีก
จึงนับได้ว่า พระองค์มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ ขนาดเขียนได้ อ่านได้ และพูดได้ เป็นบางคำ

เมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปประทับอยู่ที่วัดราชบพิธ ทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อมา จนถึงพระชนมายุครบอุปสมบท จึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ (พ.ศ. ๒๔๒๒) เวลาบ่าย ๒ โมง ๕๐ นาที มีพระนามฉายาว่า “สิริวฑฺฒโน”

๒๕ ส.ค. น้อมรำลึก วันสิ้นพระชนม์ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า หม่อมเจ้าภุชงค์ สิริวฑฺฒโน” พระสังฆราช องค์ที่๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

๏ ลำดับพระอิสริยยศ

พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม ได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และเป็นพระราชาคณะที่  หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต

พ.ศ. ๒๔๓๘ เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ เสมอชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม

๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมปาโมกข์" มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า  หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต อังคีรสธรรมปาโมกข์ ยุตโยคยตินายก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาทีคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี

๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง คณะกลาง มีสมณศักดิ์เสมอ "พระพรหมมุนี" และมีพระอิสริยยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต อังคีรสสาสนธำรง ราชวรพงษ์ศักดิ์พิบุลย์ สุนทรอรรถปริยัติโกศล โสภณศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณานุนายก สาสนดิลกบพิตร

๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง มีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ขัตติยพงศ์พรหมจารี ประสาทนียคุณากร สถาพรพิริยพรต อังคีรสศาสนธำรง ราชวรวงศ์วิสุต วชิราวุธมหาราชอภินิษกรมณาจารย์ สุขุมญาณวิบุล สุนทรอรรถปริยัติโกศล โศภนศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณิศรมหาสังฆนายก พุทธศาสนดิลกสถาวีรบพิตร

๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นเจ้าคณะรอง ฝ่ายธรรมยุติกนิกายด้วยอีกตำแหน่ง

๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก นับว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์แรก มีพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวง" มีพระนามว่า พระเจ้าวรวงศเธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน ขัติยมหาเจษฎานุพงศ อริยวงศาคตญาณวิมลสกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลาโกศล ภัทรผลพลูสวัสดิสัทธรรมทีปกร ไทวภราดรมหาราชาภินิษกรมณาจารย์ ภุชงคบุราภิธานครุฐานิยมมหาบัณฑิต สุขสิทธิหิตรรถเมตตาขันตยาศรัย ศรีรัตนตรัยศรณาภิรัต สยามาธิปัตยามหาสังฆปาโมกขประธานาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร

ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

 

                พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิหาคม ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ และทรงสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลสังฆปริณายก

                ถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมหลวง

 

ประกาศ

 

สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

 

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศทราบทั่วกัน

 

ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกปธานาธิบดีสงฆ์ สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระวรวงศเธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ทรงมีคุณูปการในทางพุทธสาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่งสนองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสืบไปได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนา คำนำ พระนาม แล ฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศเธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

 

พระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

งานนิพนธ์

 

                สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก เช่นพระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาหรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลีและศึกษาพระพุทธศาสนาของภิกษุสามเณรและ บุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายอยู่จนบัดนี้

๏ สิ้นพระชนม์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคนเบาพิการ ทำให้บังคนเบาเป็นโลหิต สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ตรงกับวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ สิริพระชนมายุได้ ๗๙ พรรษา ทรงดำรงสมณเพศได้ ๕๙ พรรษา ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ๑๖ ปี