- 29 ส.ค. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
ในกาลปัจจุบันสุดยอดของพระคาถาคือ การสวดพระคาถาชินบัญชร (ซึ่งถือเป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตอยู่กับเรา) พุทธคุณทั้ง ๙ ประการ มีดังนี้เมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปราศจากโรค ได้ลาภ ได้ยศ ค้าขายดี มีวิชาความรู้ เจริญรุ่งเรือง
ผู้ใดที่สามารถท่องและจำได้เป็นปกติถือว่ามีบุญมาก
ดังนั้นผู้ที่หมั่นท่องพระคาถาชินบัญชร ควรจะประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในทำนองครองธรรม
” ในโลกนี้อิทธิพลแพ้อิทธิฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์แพ้บุญฤทธิ์ บุญฤทธิ์แพ้กรรมวิบาก และฤทธิ์ของกรรมลิขิต”
” ไม่มีใครหนีพ้นกรรมไปได้ เราได้บอกทุกครั้งว่าท่านไม่ต้องเชื่อเราแต่ให้พิจารณาดูตามความเป็นไป ”
ความเป็นมาพระคาถาชินบัญชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
พระคาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ตกทอดมาจากลังกา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯค้นพบในคัมภีร์โบราณและได้ดัดแปลงแต่งเติมให้ดีขึ้น เป็นเอกลักษณ์พิเศษ ผู้ใดสวดภาวนาพระคาถานี้เป็นประจำสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเอง ศัตรูไม่กล้ากล้ำกราย มีเมตตามหานิยม ขจัดภัยตลอดจนคุณไสยต่างๆ เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงเจ้าประคุณสมเด็จ
* เริ่มสวด นโม 3 จบ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
* นึกถึงหลวงปู่โตแล้วตั้งอธิษฐาน
ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ
รากศัพท์ของคำว่า “คาถา” มาจากภาษาบาลีว่า ”กถา” แปลว่า ”วาจาเป็นเครื่องกล่าว” ดังนั้น…คำพูดของคนเราทุกคำก็คือคาถาทั้งสิ้น แต่คาถาในความเข้าใจของทุกคน ไม่ใช่ความหมายเช่นนั้น…
คาถาที่เรารู้จัก คือถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถแสดงผลอันวิเศษแก่ผู้ที่ยึดถือท่องบ่น ในบรรดาคาถาที่ท่านผู้รู้ผูกขึ้นมานั้น คาถาชินบัญชร ของ สมเด็จพุฒาจารย์ หรือ หลวงพ่อโต วัดระฆัง นับว่าแพร่หลายที่สุด…
คาถา ชินบัญชรนี้เพียบพร้อมไปด้วยอรรถและฉันทลักษณ์ ทั้งยังคงความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง กระทั่งพระเครื่องสมเด็จวัดระฆังที่ลือลั่นสนั่นเมือง ก็ปลุกเสกด้วยพระคาถานี้เอง…
แต่ ว่า…คาถาชินบัญชรนี้ ก็ยังมีแปลกแตกต่างไปหลายฉบับ บางฉบับก็เพิ่มมาหนึ่งบทบางฉบับก็หดหายไปสองบรรทัด คาถาบางตัวก็ผิดเพี้ยนกันไป แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร…
“ ความ ศักดิ์สิทธิ์ของคาถานั้น ขึ้นอยู่กับสมาธิจิตของผู้ท่องบ่น ต่อให้คาถาผิดพลาดเพียงไรก็ตาม หากจิตเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงเสียแล้ว ผลก็เป็นไปตามการอธิษฐานทุกประการ… ”
หาก ท่านผู้อ่านผู้ฟังตัดความตะขิดตะขวงใจในตัวคาถาเสีย ตั้งใจท่องบ่นอย่างจริงจัง ผลดีย่อมบังเกิดแก่ท่านอย่างไม่ต้องสงสัย และต้องอัศจรรย์ใจในคาถาอันวิจิตรไพเราะ ที่เป็นผลผลิตจากอัจฉริยภาพของเจ้าประคุณสมเด็จท่านเป็นแน่แท้…
พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร)
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง ได้พูดถึงพระคาถาชินบัญชรไว้ว่า
พระคาถาชินบัญชรเป็นพระคาถาสำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นบทคาถาสำคัญที่เจ้าประคุณสมเด็จใช้ปลุกเสกพระสมเด็จ คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถามเจ้าประคุณสมเด็จว่าเหตุใดพระสมเด็จวัดระฆังจึงศักดิ์สิทธิ์ เจ้าประคุณสมเด็จถวายพระพรตอบว่าเหตุที่สมเด็จวัดระฆังมีความศักดิ์สิทธิ์เพราะปลุกเสกด้วยพระคาถาชินบัญชร
มีความนิยมสวดพระคาถาชินบัญชรมาตั้งแต่ครั้งที่เจ้าประคุณสมเด็จยังมีชีวิตอยู่ ตลอดมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เพราะเชื่อว่าทรงอานุภาพ มีความศักดิ์สิทธิ์จริง ผมเองก็เคยสัมผัสพบเห็นเป็นที่ประจักษ์หลายครั้ง และเพื่อนชาวพุทธจำนวนมากก็มีประสบการณ์จากการสัมผัสด้วยตนเอง เหตุนี้จึงเป็นที่นิยมสวดกันโดยทั่วไป เพราะเชื่อว่ามีอานุภาพในการคุ้มครองป้องกันสรรพภัย สรรพโรค สรรพทุกข์ และยังให้เกิดความมงคลแก่ชีวิต
เมื่อไม่กี่ปีมานี้เคยมีคนอ้างว่าต้นฉบับพระคาถาชินบัญชรมีมาแต่ครั้งที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในประเทศลังกา แล้วพระคาถานี้ก็เคยมีจารจารึกไว้ในคัมภีร์ใบลานที่ภาคเหนือ มีเนื้อความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์หรือนักปราชญ์ชาวพุทธต้องค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป แต่ในชั้นนี้ก็พึงเป็นที่เข้าใจว่าพระคาถาชินบัญชรเป็นคาถาสำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ความหมายและความสำคัญตลอดจนเหตุผลที่พระคาถานี้มีความศักดิ์สิทธิ์ได้เคยเขียนในเชิงตอบคำถามไว้ในหนังสือเรื่อง “ศิษย์สมเด็จ” แล้ว ดังที่จะยกมาพรรณนาดังต่อไปนี้
“ความจริงชื่อพระคาถาชินบัญชรนั้นแปลว่าหน้าต่างของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเนื้อความในบทพระคาถาอันยาวเหยียดนั้นอาจจำแนกได้เป็นห้าตอน คือ
ตอนที่หนึ่ง เป็นบทสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ได้ตรัสรู้อริยสัจสี่ แล้วเสวยวิมุตติสุขจากความตรัสรู้นั้นแล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28พระองค์ มีสมเด็จพระตัณหังกรพระพุทธเจ้าเป็นต้นให้เสด็จมาอยู่ ณ เบื้องกระหม่อม
ตอนที่สอง เป็นบทอัญเชิญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มาสถิตอยู่ที่ศีรษะ ที่ดวงตา และหน้าอก
ตอนที่สาม เป็นบทอาราธนาพระอริยสาวกทั้งปวง มีพระสาลีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอนุรุทธเถระเป็นต้น ให้มาสถิต ณ ส่วนและอวัยวะต่าง ๆ
ตอนที่สี่ เป็นบทอัญเชิญพระสูตรทั้งปวง มีรัตนสูตรเป็นต้น มาสถิตอยู่ที่ส่วนต่าง ๆ และกางกั้นอยู่เบื้องบนอากาศ และเป็นกำแพงอันล้อมรอบ
ตอนที่ห้า เป็นบทอานิสงส์และเงื่อนไขของพระคาถาชินบัญชร สำหรับผู้ร่ำเรียนท่องบ่นมนต์นี้ ซึ่งมีสามส่วนคือ
ส่วนที่หนึ่ง เป็นส่วนอานิสงส์หรือผลที่จะได้รับ ซึ่งขออานิสงส์ให้อุปัทวันตรายทั้งหลายภายนอกและอุปัทวันตรายทั้งหลายภายในอันเกิดแต่เหตุต่าง ๆ มีลมกำเริบและดีซ่านเป็นต้นให้ดับสูญไป
ส่วนที่สอง เป็นคำมั่นสัญญาว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันว่า “เมื่อข้าพเจ้าประกอบการงานของตนอยู่ในขอบเขตในพระบัญชรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ขอได้โปรดคุ้มครองรักษาข้าพเจ้า”
ส่วนที่สาม เป็นเงื่อนไขและคำมั่นสัญญาในอนาคตว่า “ด้วยประการฉะนี้เป็นอันข้าพเจ้าได้คุ้มครองไว้ด้วยดีและด้วยอานุภาพของสมเด็จพระชินสีห์สัมพุทธเจ้า ขอให้ข้าพเจ้ามีชัยชนะแก่อุปัทวะทั้งปวง ด้วย อานุภาพของพระธรรมขอให้ข้าพเจ้ามีชัยชนะแก่หมู่อริศัตรูทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ขอให้ข้าพเจ้ามีชัยชนะแก่อันตรายทั้งปวง ข้าพเจ้าผู้อันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมคุ้มครองรักษาแล้วจะประพฤติตนอยู่ในขอบเขตพระบัญชรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไปเทอญ”
มาภายหลังได้พิเคราะห์ดูแล้วเข้าใจว่าบทพระคาถาชินบัญชรนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มากเพราะเหตุสองสถาน
สถานแรก เป็นความศักดิ์สิทธิ์ด้วยลักษณะของบทมนต์ เช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์ของมนต์คาถาที่มีมาในทุกศาสนา ทุกลัทธิความเชื่อ ซึ่งเรียกว่า “วิชชามัยฤทธิ์” คือบันดาลให้เกิดความสำเร็จเพราะวิชาหรือมนต์วิธี และที่ศักดิ์สิทธิ์มากก็เพราะว่าลักษณะของบทมนต์นั้นเป็นการอัญเชิญบุญญาบารมีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ของพระธรรม ของพระอริยสาวกทั้งหลาย ตลอดจนพระธรรมทั้งปวงอันพระตถาคตเจ้าได้แสดงแล้ว จึงนับว่าเป็นบทมนต์ที่เป็นธรรมขาวหรือที่เรียกว่าเศวตเวทย์ ไม่ใช่ไสยเวทย์ซึ่งเป็นธรรมดำหรือคุณไสย
สถานที่สอง เป็นบทที่มีลักษณะการสาธยายมนต์โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา และจิตที่ไกลจากกิเลสาสวะโดยลำดับแล้ว คำว่าชินบัญชรแปลว่าหน้าต่างของพระพุทธเจ้า หน้าต่างของพระพุทธเจ้าคืออะไร ตรงนี้วินิจฉัยโดยนัยยะความที่มีมาแต่โบราณว่า
“อันดวงตาคือหน้าต่างของดวงจิต เมื่อใจคิดงามงดตาสดใส
คิดชั่วช้าตาก็บอกออกความนัย รักษาใจให้เลิศไว้เถิดเอย”
บัญชรของพระพุทธเจ้าก็คือดวงตาของพระพุทธเจ้า นั่นคือดวงตาที่เห็นธรรมแต่อีกนัยหนึ่งก็อาจจะหมายความได้ว่าเป็นหน้าต่างที่จะมองเห็นพระพุทธเจ้า ซึ่งก็คือการมองเห็นธรรมดังพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ดังนั้นบทพระคาถาชินบัญชรที่แม้จะมีเนื้อความยืดยาวแต่รวมความก็คือการให้มีความศรัทธา ความเพียร มีสติ มีสมาธิ และมีปัญญารู้แจ้ง ซึ่งพระธรรมอันประเสริฐที่พระตถาคตเจ้าได้แสดงแล้ว คือมีดวงตาเห็นธรรมนั่นเอง
การที่จะมีดวงตาเห็นธรรมว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ซึ่งเรียกว่าเห็นพระไตรลักษณ์แล้วจะทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งหลาย ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตได้นั้นก็โดยอาศัยการปฏิบัติอบรมจิตในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา
ด้วยเหตุนี้พระคาถาชินบัญชรก็คือบทพระคาถาที่แสดงเป้าหมายที่สุดแห่งคำสอนของพระตถาคตเจ้า คือความหลุดพ้นจากทุกข์สิ้นเชิง ถึงซึ่งวิชชาและวิมุตโดยการฝึกฝนอบรมจิตด้วยศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง”
ข้อมูลจาก dharmaxp.blogspot.com / nananaru.net