- 28 ธ.ค. 2560
ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓ ธนบัตรเล้งท่าฉาง กับ ขบวนการไทยถีบ
ย้อนรอยสงครามมหาเอเชียบูรพา ธนบัตรในยุคสงคราม ๓
ธนบัตรเล้งท่าฉาง กับ ขบวนการไทยถีบ
ธนบัตรซึ่งมีชื่อเสียงโจษขานในเรื่องการถูกขโมยและการปลอมแปลงลายมือชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากที่สุดในช่วงสงคราม เห็นจะไม่มีชุดใดเกินธนบัตรชุด “เล้งท่าฉาง”
ในระหว่างสงครามขณะที่นายเล้ง ศรีสมวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีเรื่องเล่ากันมาว่าญี่ปุ่นได้ลำเลียงธนบัตรชนิดราคาต่างๆ จากมลายูหรืออินโดนีเซียเข้ากรุงเทพฯ โดยทางรถไฟหลายเที่ยว เที่ยวหนึ่งถูกคนไทยขโมยธนบัตรเหล่านี้
โดยการถีบหีบห่อลงจากตู้รถไฟ ขณะแล่นอยู่ระหว่างสถานีบางน้ำจืดถึงสถานีท่าฉาง เมื่อได้ธนบัตรเหล่านี้แล้วก็มีชาวบ้านหัวใส นำไปมอบให้ชายไทยผู้หนึ่งชื่อ “เล้ง” แห่งอำเภอท่าฉาง เป็นผู้เซ็นชื่อ “เล้ง ศรีสมวงศ์” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงในธนบัตรดังกล่าว
และได้ไปว่าจ้างโรงพิมพ์ในท้องถิ่นตีพิมพ์หมายเลขธนบัตร แล้วนำออกเผยแพร่จ่ายแจกหรือจำหน่ายในราคาถูก ธนบัตรเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก
คนไทยสมัยนั้นจึงเรียกธนบัตรรุ่นที่มีปัญหานี้ว่า “ธนบัตรเล้งท่าฉาง” และเรียกกลุ่มคนที่ขโมยธนบัตรหรือสัมภาระของญี่ปุ่นจากตู้รถไฟว่า “ขบวนการไทยถีบ”
ภาพที่ ๑๔ ธนบัตรราคา ๕ บาท ลงนามโดยนายเล้งท่าฉาง (นายเล้ง แห่งอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี)
ธนบัตรเล้งท่าฉางที่พบส่วนใหญ่เป็นราคา ๑๐ บาท บางฉบับนายเล้งได้ลงนามเอง บางฉบับใช้ลายเซ็นซึ่งแกะด้วยหัวมันเทศประทับลงไป นับเป็นเรื่องที่จัดว่าฮือฮากันทั่วไปในเวลานั้น
จากการสอบถามนายธรรมทาส พานิช แห่งโรงพิมพ์ธรรมทาน อำเภอไชยา เล่าว่าสมัยนั้นมีการขโมยห่อธนบัตรที่ขนจากทางใต้ไปกรุงเทพฯ ที่สถานีรถไฟบางน้ำจืด อำเภอท่าฉางจริง
และได้มีผู้นำเอาธนบัตรราคา ๑๐ บาท (สีน้ำตาล) มาว่าจ้างให้โรงพิมพ์ธรรมทานตีพิมพ์ชื่อนายเล้ง ศรีสมวงศ์ และพิมพ์หมายเลขลงบนธนบัตร แต่ทางโรงพิมพ์ปฏิเสธ ตนจึงไม่ทราบว่าธนบัตรดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด และนำไปดำเนินการอย่างไรต่อไป
ภาพที่ ๑๕ ธนบัตรราคา ๑๐ บาท ลงนามโดยนายเล้งท่าฉาง (นายเล้ง แห่งอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี)
แต่หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้แล้ว ขบวนการไทยถีบน่าจะดำเนินการขโมยและปลอมแปลงธนบัตรอีกชุดหนึ่งคือ
ชุดพิมพ์ที่ญี่ปุ่น (ชนิดราคา ๑๐ บาท) ซึ่งมีจำนวนหนึ่งพิมพ์ที่ชวาด้วยกระดาษและหมึกที่คุณภาพต่ำและปลอมแปลงได้ง่ายในวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รัฐบาลจึงประกาศให้ใช้เป็นธนบัตรแก้ราคาเป็น ๕๐ สตางค์
ภาพที่ ๑๖ ธนบัตรราคา ๑๐ บาท ซึ่งนำมาจากประเทศอินโดนีเซีย ผ่านทางภาคใต้โดยทางรถไฟ
ซึ่งจากธนบัตรตัวอย่างที่มีอยู่ จะเห็นว่าตราประทับแก้ราคา ง่ายต่อการปลอมและเป็นไปได้ที่จะแกะจากหัวมัน ลงนามพระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในสมัยนั้น) ก็ดูไม่ออกว่าใครเขียน
ภาพที่ ๑๗ ธนบัตรราคา ๑๐ บาท (ด้านหลัง) ภายหลังมีการแก้ไขราคาเป็น ๕๐ สตางค์
เลขหมวดหมู่ก็ใช้ปากกาคอแร้งเขียนเอาเฉยๆ ประกอบกับมีหลักฐานสนับสนุนว่าธนบัตรชุดนี้ขนจากใต้ไปกรุงเทพฯ แน่ (เพราะพิมพ์ที่ชวา) ทำให้น่าจะเชื่อว่าเรื่องธนบัตรเล้งท่าฉางนั้น อาจเป็นศรีวิศาลวาจาท่าฉางก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่คลายสงสัยว่าเหตุใดจึงเพียรพยายามแก้ธนบัตรจากราคา ๑๐ บาท ลงมาเป็น ๕๐ สตางค์เล่า?
เอกสารอ้างอิง : ชาลส์ สจ๊วต ธนบัตรไทย โรงพิมพ์ด่านสุทธาการพิมพ์ ๒๕๒๘