สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องเงิน!! "พระมหาอุเทน" แฉ..เบื้องหลัง "อ.อ้อย เตโชฯ"  เจตนาเหยียบย่ำพระให้ต่ำลง เพื่อเบนเข็มผู้ศรัทธาสู่สำนักตัวเอง !!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องเงิน!! \"พระมหาอุเทน\" แฉ..เบื้องหลัง \"อ.อ้อย เตโชฯ\"  เจตนาเหยียบย่ำพระให้ต่ำลง เพื่อเบนเข็มผู้ศรัทธาสู่สำนักตัวเอง !!

          จากกรณีของอาจารย์อ้อย อัจฉราวดี วงศ์สกล เจ้าสำนักเตโชวิปัสสนา กับประเด็นที่เธอออกมาบอกว่า ไม่ได้ออกบวชก็สามารถบรรลุธรรมได้ และได้อ้างตัวว่า เป็น "ฆราวาสบรรลุธรรม" ที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ จากการเปิดประเด็นของเว็บไซต์ alittlebuddha ที่ออกมาเปิดประเด็นถึงเรื่องนี้เป็นรายแรก และมีนักวิชาการ นักเขียนหลายท่านที่ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว รวมไปถึงภาพที่ถูกแชร์ไปอย่างมากถึงความเหมาะสมของอาจารย์อ้อย อัจฉราวดี 

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องเงิน!! \"พระมหาอุเทน\" แฉ..เบื้องหลัง \"อ.อ้อย เตโชฯ\"  เจตนาเหยียบย่ำพระให้ต่ำลง เพื่อเบนเข็มผู้ศรัทธาสู่สำนักตัวเอง !!

         ทั้งนี้พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊คถึงกรณีอาจารย์อ้อย เจ้าสำนักเตโชวิปัสสนา ถึงกรณีที่อ้างว่า เป็นผู้บรรลุธรรม โดยระบุว่า

กรณีเตโชวิปัสสนาอัจฉราวดี บรรลุธรรมกับคำว่า ‘เพี้ยน’ ใกล้กัน

      จากข้อความในสกู๊ปข่าวพิเศษผู้จัดการออนไลน์ว่า “เตโชวิปัสสนา คือชื่อเทคนิกวิธีการเผากิเลสด้วย “การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน” ตามหลัก ‘สติปัฏฐาน ๔’ คือการตั้งสติดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมที่เกิดแก่ตน โดยมีสัมปชัญญะ คือความชัดเป็นองค์สำคัญ และมีหลักการไม่หวั่นไหว ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในเวทนา หรือสิ่งที่มากระทบกายและจิต การเอาชื่อ ‘เตโช’ เข้าไปใส่นำหน้าวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ชัดเจนในหลักเทคนิกวิธี”

      ก่อนข้าพเจ้าจะเขียนชี้แจงแสดงตามหลักวิปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ ขอให้เราชาวพุทธตั้งเมตตาจิตเป็นปุเรจาริกก่อน เพราะจะอย่างไรโยมคุณอัจฉราวดีก็ยังเป็นชาวพุทธ และเชื่อว่าเป็น “พุทธมามกะ” ที่ดีคนหนึ่ง เพียงแต่ตอนหลังมาเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม “หอมนสิการ” เพื่อประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” ปรารถนาปัจจัยเงินทองงบประมาณมหาศาล จึงเร่ิมเพี้ยนแปรเปลี่ยนไป ทำอะไรแปลกๆ ออกมา (พระหรือฆราวาสพอถูกตัณหาครอบงำก็มักจะเพี้ยนกันไปได้หมด)

      เรื่องดังกล่าวนี้เหมือนกรณีทั่วๆ ไปของพระที่ต้องการก่อสร้างศาสนสถาน โบสถ์ วิหาร เจดีย์ อาคาร สถานที่ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะพระสายครูบา ก็มักมีพระเครื่อง วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ตะกรุด ผ้ายันต์ ทำให้วิจิตรสวยงามและบอกว่าศักดิ์สิทธิ์ มอบให้แก่คนที่บริจาคนำไปบูชา หรือไม่ก็อ้างว่าเห็นในนิมิต พูดทำเป็นนัยให้รู้ว่าตนเป็นพระมีอิทธิปาฏิหาริย์หรือพระอริยบุคคล มักอวดอ้างกันไปต่างๆ นานาอย่างนี้แหละ

      แท้จริงเบื้องหลังก็คือปรารถนาเงินทองนั่นเอง มองออกได้ง่ายๆ มิได้ลึกลับซับซ้อนอะไร ถ้าไม่ปรารถนาเงินทองลาภสักการะชื่อเสียงจะมาพูดอวดอ้างโปรโมทประชาสัมพันธ์โฆษณาตัวเองไปทำไม สัตบุรุษแท้พระอริยเจ้าจริงท่านยินดีสงบนิ่งมากกว่าจะพูดออกมา สำหรับพระสงฆ์ แม้คุณวิเศษนั้นๆ มรรค ผล ฌาน อภิญญา สมาบัติมีอยู่ในตนจริง ถ้าพูดแสดงออกไปก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทันที ฆราวาสญาติโยมผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลก็เช่นเดียวกัน มิได้มาอวดอ้างโปรโมทประชาสัมพันธ์โฆษณาตนเอง ยกหูชูหาง ไปดูตัวอย่างของมาติกมาตาผู้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลอนาคามีสิ ท่านถูกพระภิกษุรูปหนึ่งเจาะจงถามโดยเฉพาะ ถามตรงตัวเลยว่า “อุบาสิกาใช่ไหมที่ได้เจโตปริยญาณรู้วาระจิตของคนอื่น” มาติกมาตาตอบอย่างไร ท่านตอบว่า “พระคุณเจ้าเอย ผู้ที่ได้เจโตปริยญาณรู้วาระจิตของคนอื่นในโลกนี้ก็มีอยู่มากมาย” ฆฏิการนายช่างหม้ออุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “กัสสปะ” สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลอนาคามีก็เช่นเดียวกัน ท่านไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทองเลย ไม่ประดับตกแต่งกาย สวมแหวนแขวนสร้อยคอพระเครื่องเลี่ยมทองใดๆ พระเจ้าอยู่หัวพระนามว่า กิกิ ทรงมีพระบรมราชโองการให้ส่งเกวียน ๕๐๐ เล่ม บรรจุข้าวสารข้าวสาลีพร้อมเครื่องแกงสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่างไปพระราชทานถึงบ้านเรือนของท่านในเวภฬิคนิคม ฆฏิการนายช่างหม้อก็ไม่รับเอาสักชิ้นเดียวเลย ส่งกลับไปถวายพระเจ้าอยู่หัวฯ คืนเข้าสู่ท้องพระคลังหลวงทั้งหมด

         จากข้อความเบื้องต้นวรรคสุดท้าย “การเอาชื่อว่า ‘เตโช’ เข้าไปใส่นำหน้าวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ชัดเจนในหลักเทคนิกวิธี” ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการจับคำสองคำมาชนกัน “จับแพะชนแกะ” เหมือนคำว่า “สัมมาอรหัง” คำว่า “สัมมา แปลว่า โดยชอบ” อยู่หน้าคำว่า “สัมพุทโธ แปลว่า ตรัสรู้ด้วยตนเอง” คือ สัมมาสัมพุทโธ รูปวิเคราะห์ว่า “สมฺมา จ สามํ พุชฺฌตีติ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยตนเอง ชื่อว่า สัมมาสัมพุทธะ” ส่วนคำว่า “อรหัง แปลว่า พระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลส” เป็นคำเดียวโดดๆ สำเร็จความหมายคำแปลอยู่ในตัวเสร็จสรรพ ไม่จำเป็นต้องมีคำใดคำหนึ่งมาเติมหน้าหรือต่อหลังอีก เมื่อคำว่า “สัมมา” และคำว่า “อรหัง” ถูกจับมาชนกันจับแพะชนแกะสำเร็จเป็น “สัมมาอรหัง” คำว่า “เตโช” และคำว่า “วิปัสสนา” ถูกจับมาชนกันจับแพะชนแกะสำเร็จเป็น “เตโชวิปัสสนา” แล้ว แม้จะบอกว่าเป็นอุบายวิธีอย่างหนึ่งที่ให้บริกรรมภาวนาเพื่อเกิดความสงบ แต่ก็ถือว่าเป็นคำประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎกเลย

        พุทธวจนะว่า “สาตฺถํ สฺพยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประกาศพรหมจรรย์ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างสิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ (เนื้อหาสาระ) และพยัญชนะตัวอักษรคำพูดคำแสดง” พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ว่า ไม่มีคำหนึ่งความใดเติมหน้าหรือต่อหลังได้อีกแล้ว เพราะบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยประการทั้งปวง” ในความหมายว่า “พระพุทธวจนะถ้อยคำของพระพุทธเจ้าบรรดามีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหมดนั้นชัดเจนดีแล้ว” ถ้าไปเอาคำหนึ่งความใดมาเติมหน้าหรือต่อหลัง ก็เท่ากับไปดูถูกพระพุทธวจนะถ้อยคำของพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธองค์ตรัสไว้ไม่ชัดเจน”

        นี้คือความไม่เข้าใจอย่างหนึ่งของคนที่ถูกตัณหาครอบงำต้องการสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ ลัทธิ หรือวาทกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา อย่าลืมว่าพวกเราชาวพุทธสายเถรวาท อนุรักษ์นิยม มิใช่มหายาน ถ้าบอกว่าตนเป็นมหายาน ก็ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหาเลย ตามอัธยาศัย จะจัดปรับแต่งใหม่ปรุงปลอมอะไรอย่างไรก็ทำไปไม่ว่ากัน

คำว่า “เตโช” เป็นชื่อของ “เตโชกสิณ” อยู่ในส่วนของสมถบริกรรมภาวนากสิณ ๑๐ คำว่า “วิปัสสนา” อยู่ในส่วนของวิปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ ตั้งสติกำหนดดูกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งสองคำนี้อยู่คนละส่วนกันเลย ถามว่า “จะจับมาชนกันจับแพะชนแกะได้ไหม”

        ถ้าเป็นการทำกรรมฐานสายหนึ่งที่เรียกว่า “ปฐมํ สมโถ ปจฺฉา วิปสฺสนา ทำสมถกรรมฐานก่อนจึงมาเจริญวิปัสสนากำหนดรู้รูปนามในภายหลัง” คือทำสมถะให้เป็นบาทฐานของวิปัสสนา ยกสมถะขึ้นสู่วิปัสสนา ผู้ปฏิบัติก็ต้องทำสมถกรรมฐานเตโชกสิณเพ่งมองดวงไฟหรือเปลวไฟตั้งสติบริกรรมภาวนาอยู่ภายในใจว่า “เตโชๆๆ” หรือสำนวนโวหารที่ตนเป็นคนไทยคุ้นเคยว่า “ไฟๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนดวงไฟหรือเปลวไฟนั้นติดตาเป็น “อุคคหนิมิต” ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็นแล้ว ก็ให้ออกจากที่ตรงนั้นไปอยู่ในสถานที่สัปปายะสงบสงัดปราศจากเสียงรบกวน บริกรรมภาวนาคำว่า “เตโชๆๆ” หรือ “ไฟๆๆ” ภายในใจต่อ เมื่ออุคคหนิมิตเปลี่ยนกลายเป็น “ปฏิภาคนิมิต” ที่ปรากฏอย่างสว่างบริสุทธิ์ผ่องแผ้วเหมือนดึงแว่นกระจกออกจากถุงมาสว่างวาววับ สามารถขยายย่อส่วนได้ตามใจปรารถนา ต่อจากนั้นก็ให้ไปทำอัปปนาโกศล ๑๐ ฉลาดในวิธีที่จะทำอัปปนาสมาธิ ปฐมฌานให้เกิดขึ้น

         ผู้ปฏิบัติเตโชกสิณจะต้องทำให้อัปปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่เอกัคคตาอารมณ์เดียวนิ่งดิ่งลึก) ปฐมฌานเกิดขึ้นเป็นอย่างต่ำ เพราะสัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ ข้อสุดท้าย พระพุทธเจ้าตรัสสัมมาสมาธิไว้ในอัปปนาสมาธิคือปฐมฌาน สมาธิในระดับอัปปนาปฐมฌานนั้นจึงจะเป็นสมาธิที่มีกำลังเพียงพอเพื่อกำหนดดูรูปนามให้เห็นไตรลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างชัดเจน โดยวิธีที่ผู้ปฏิบัติจะต้องออกจากอัปปนาสมาธิปฐมฌานนั้นมาอยู่ในอุปจารสมาธิ (สมาธิเริ่มแน่วแน่จวนเจียนจะเป็นฌาน) ซึ่งมีสติระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจริงๆ ถ้ายังอยู่ในอัปปนาปฐมฌานจะเหมือนคนกึ่งหลับกึ่งตื่น ได้ยินพระเทศน์แสดงธรรมเสียงดังๆ จะฟังเป็นเสียงแผ่วๆ ไม่ค่อยชัดเจน (ข้าพเจ้าได้ยินจากพระอาจารย์รูปหนึ่งมาอย่างนี้) สติสัมปชัญญะไม่พร้อมจะกำหนดรู้รูปนามเห็นไตรลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้

“พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในปฐมฌานแสดงธรรม” นั้น ข้าพเจ้ายังไม่เห็นหลักฐานในพระไตรปิฎก แต่สำหรับพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ย่อมเป็นไปได้อยู่ในพุทธวิสัยโดยแท้

          ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้น “ฆราวาสบรรลุธรรม” และหลักเทคนิกวิธีการปฏิบัติของโยมคุณอัจจาราวดีว่าเป็นอย่างไร แต่จะขอฝากคำถามไว้ในที่นี้ว่า “เตโชวิปัสสนา ที่โยมคุณอัจฉราวดีอ้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองว่า สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรงฺสี) สมเด็จวัดระฆัง มาเป็นพระวิปัสสนาจารย์สอนกรรมฐานให้แก่ตนนั้นถูกต้องตรงตามข้อความที่ข้าพเจ้าเขียนอธิบายมานี้หรือไม่”

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องเงิน!! \"พระมหาอุเทน\" แฉ..เบื้องหลัง \"อ.อ้อย เตโชฯ\"  เจตนาเหยียบย่ำพระให้ต่ำลง เพื่อเบนเข็มผู้ศรัทธาสู่สำนักตัวเอง !!

         หลักวิธีการปฏิบัติที่ข้าพเจ้าเขียนอธิบายพอให้เข้าใจได้ง่ายๆ นี้มีมาในคัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค ซึ่งมีอาคตสถานแหล่งอ้างอิงมาจากพระไตรปิฎกเถรวาทโดยเฉพาะ พระพุทธศาสนาเถรวาทให้การยอมรับจัดอยู่ในคัมภีร์ลำดับที่ ๕ ของพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา โยชนา คือ ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค

          ตามที่อ่านเจอข้อความบางแห่งของโยมคุณอัจฉราวดีเขียนอธิบายไว้ “คำว่า ‘เตโช’ เป็นคำเดียวกันกับว่า อาตาปี แปลว่า เพียรเผากิเลสให้เหือดหายไป ซึ่งอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ อาตาปี สัมปชาโน สติมา นั่นเอง” ก็ต้องถามต่อว่า “คำว่า ‘เตโช’ อยู่ในส่วนของกสิณกรรมภาวนา คำว่า “อาตาปี” อยู่ในส่วนสติปัฏฐาน ๔ นั้นใช้แทนกันได้ไหม”

มาดูอรรถถาธิบายของคำว่า “อาตาปี” ดังต่อไปนี้

           “อาตาปี” หลวงพ่อพระอาจารย์ใหญ่ภัททันตะ อาสภะมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคกัมมัฏฐานาจริยะ อธิบายตามหลักอภิธรรมไว้ว่าเป็น “วิริยเจตสิก องค์ประกอบจิตคือความเพียร” อาตาปีก็คือวิริยะความเพียรนั่นเอง มิใช่ เตโช ที่แปลว่า ไฟ มิใช่จะไปทำให้อาตาปีเป็นไฟขึ้นมาเผาย่างกิเลส “อาตาปี” ที่ท่านแปลว่า “ความเพียรเผาย่างกิเลสให้เหือดหายไป” นั้น ในความหมายว่า “ทำความเพียรจริงจังตั้งใจหรือตั้งสติกำหนดรู้รูปนามอย่างจอจ่อต่อเนื่องเชื่อมโยงกันไปไม่ขาดสาย เรียกว่า ‘สาตจฺจกิริยานุโยโค’ หรือ ‘ชาครนิยานุโยค ทำความเพียรในการตื่นรู้อยู่เสมอ’”

            สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนาสติปัฏฐานไปถึงสภาวอารมณ์ระดับหนึ่งแล้ว จะนอนเพียง ๔ ชั่วโมง (ตามมาตรฐานการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ใน อปัณณกปฏิปทาสูตรว่า “ปฐมยาม ๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น. ทำความเพียรเดินจงกรมสลับกับการนั่งกำหนดอารมณ์กรรมฐาน เพื่อกำจัดนิวรณธรรม ๕ มีถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น มัชฌิมยาม ๒๒.๐๐ - ๐๒.๐๐ น. ให้เอนกายลงสู่การนอนหลับโดยตะแคงขวาซ้อนเท้าทั้งสองเหลื่อมกัน ทำอุฏฐานสัญญาว่าจะตื่นลุกขึ้นในเวลา ๐๒.๐๐ น. ปัจฉิมยาม ๐๒.๐๐ - ๐๖.๐๐ น. ทำความเพียรเดินจงกรมสลับกับการนั่งกำหนดอารมณ์กรรมฐาน เพื่อกำจัดนิวรณธรรม ๕ มีถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น”) นอกจากนั้นอยู่ในการกำหนดรู้รูปนามตลอด กาย เวทนา จิต ธรรม อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย อิริยาบถหลัก อิริยาบถรอง ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียด คู้ ก้ม เงย เหลียวซ้ายแลขวา มองข้างหน้าดูข้างหลัง ทุกๆ อิริยาบถเลย

“ทำความเพียรจนเป็นเตโชไฟร้อนขึ้นมาเผากิเลส” ตามที่โยมคุณอัจราวดีกล่าว พิจารณาคำว่า “เตโช” อีกสักนิด เตโชธาตุ ธาตุไฟ ตามหลักอภิธรรมท่านไขขยายความไว้ว่า “อุณหเตโช ลักษณะอุ่นร้อน” “สีตเตโช ลักษณะเย็น” ผู้ปฏิบัติกำหนดว่า “เย็นหนอๆ” บริเวณใบหน้าลำตัวหรือแขนขา นั่นมิใช่อาโปอาการธาตุ หากแต่เป็นเตโชอาการธาตุ

            ทีนี้มาดูกิเลสอกุศลมูล ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเป็นไฟที่แผดเผาเร่าร้อน เรียกว่า “ราคคฺคิ ไฟคือราคะ” “โทสัคคิ ไฟคือโทสะ” “โมหัคคิ ไฟคือโมหะ” ในความหมายว่า ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อกำเริบขึ้นมาก็แผดเผาเร่าร้อนกายและใจอยู่เสมอตลอดเวลา ถามว่า “ไฟจะดับไฟ ร้อนจะดับร้อนได้หรือไม่” ตามที่บอกว่า “ทำอาตาปีให้เป็นเตโชไฟร้อนจึงจะมีกำลังเผาย่างกิเลสได้” นั้น ความร้อนจะดับกิเลสร้อน ย่างกิเลสให้เร่าร้อนเหือดหายไปได้อย่างไร อะไรที่จะสามารถดับกิเลสที่เร่าร้อนนั้นได้ คือความเย็นมิใช่หรือ ถ้าจะทำให้เกิดเตโชอย่างแท้จริง ต้องทำให้เป็นสีตเตโชความเย็น และต้องเย็นยะเยือกด้วย เย็นสนิทประหนึ่งพระนิพพานธาตุเลยทีเดียว จึงจะสามารถดับสงบระงับดับกิเลสความเร่าร้อนลงได้ “อารมณ์ร้อนมิใช่อารมณ์แห่งการบำบัด อารมณ์เย็นต่างหากเป็นอารมณ์แห่งการบำบัด”

            สุดท้ายข้าพเจ้าขอพูดถึงคำกล่าวตำหนิติเตียนของโยมคุณอัจฉราวดีต่อพระสงฆ์ค่อนครึ่งประเทศว่ามามอมเมาประชาชน และว่าเป็นอลัชชีด้วย คำว่า “อลัชชี” นี้เป็นคำด่าที่รุนแรงสำหรับพระสงฆ์มาก เปรียบเป็นคำด่าในทางโลกก็คือคำหยาบคายหยาบโลน แต่กลับยกหลวงพี่น้ำฝนที่ปลุกเสกกระเป๋าขายเป็นกรณีตัวอย่างเพียงรูปเดียว (โยมอุปัฏฐากก็ปรามข้าพเจ้าไว้อยู่ว่า หลวงพี่อย่าเพิ่งเขียนอะไรตอนนี้เลย เดี๋ยวเขาจะหาว่าหลวงพี่อยู่ฝ่ายพระอลัชชีที่สูญเสียผลประโยชน์มากล่าวแก้)

           โยมคุณอัจฉราวดีบอกว่าเป็นพระสงฆ์ค่อนประเทศหรือครึ่งประเทศมามอมเมาประชาชน ถ้าเช่นนั้น พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในวัดอารามต่างๆ สมมุติมีอยู่ ๑๐ รูป ๕ รูป หรือ ๓ - ๔ รูป ก็เป็นอลัชชีมอมเมาประชาชน แต่ก่อนพระในวัดชนะสงครามนับเป็น ๑๐๐ รูป (ปัจจุบันรวมสามเณรด้วย ๑๐๐ กว่ารูป) แสดงว่า ๕๐ รูป หรือ ๓๐-๔๐ รูปเป็นอลัชชีมอมเมาประชาชน

           ถ้าคิดโดยถัวเฉลี่ยอย่างที่โยมคุณอัจฉราวดีมาชี้โทษก็ต้องคิดอย่างนี้ แต่ทว่านั้นมันเป็นความจริงหรือเปล่า พระในทุกๆ วัด ทุกๆ อาราม ๒๐ รูปต้องแยกออก ๑๐ รูป หรือ ๗-๘ รูปเป็นอลัชชีมอมเมาประชาชน คนสติปัญญาดีเขาจะไม่พูดอย่างนี้อย่างเด็ดขาด พระพุทธดำรัสในโอวาทปาติโมกข์ว่า “อนูปวาโท ไม่เข้าไปว่าร้ายโจมตีใคร” “อนูปฆาโต ไม่บีฑาล้างผลาญกัน” เอาไปไว้ที่ไหน โยมคุณอัจฉราวดีระลึกได้อยู่หรือเปล่า

           ในมุมมองของข้าพเจ้า โยมคุณอัจฉราวดีมิได้ปรารถนาดีที่จะมากระตุ้นเตือนให้เกิดการสังคายนาชำระสะสางพระสงฆ์ในประเทศไทยให้บริสุทธิ์ผุดผ่องจริงๆ หรอก เพียงแต่เธอต้องการเบี่ยงเบนเข็มทิศให้ชาวพุทธไทยออกจากวัดมาสู่สำนักเตโชวิปัสสนาของตนเองต่างหาก เธอกำลังก่อสร้างใหญ่โตอยู่มิใช่หรือ ถ้าฆราวาสญาติโยมพากันออกจากวัดมาเข้าสู่สำนักเตโชวิปัสสนาได้มากจริงๆ อะไรจะเกิดกับโยมคุณอัจฉราวดีล่ะ ปัจจัยเงินทอง ลาภสักการะชื่อเสียงนั่นอย่างไร

เบื้องหลังของโยมคุณอัจฉราวดีที่มาเหยียบย่ำพระภิกษุสงฆ์ให้ต่ำลง แล้วยกตนให้สูงขึ้น แท้จริงก็คือปัจจัยเงินทองลาภสักการะชื่อเสียงนั่นเอง

“ยกตนข่มท่าน” วิธีการของอสัตบุรุษชัดๆ.

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์