- 05 มี.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
เป็นกระแสดังอยู่ในขณะนี้สำหรับละครดัง อย่าง "บุพเพสันนิวาส" ที่ออกอากาศทางช่อง 3 เรียกได้ว่า "ออเจ้า" กันทั้งบ้านทั้งเมือง สำหรับละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเป็นละครแนวพิเรียดย้อนยุค ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกได้ว่าเป็นละครย้อนยุคที่มีสถานที่การถ่ายทำที่โดดเด่น น่าสนใจมากเลยทีเดียว สำหรับสถานที่ในละครดังเรื่องนี้ มีการถ่ายทำที่วัดหลายที่ วันนี้เราจะพาไปตามรอยละคร บุพเพสันนิวาส กันว่ามีสถานที่ที่ไหนกันบ้าง
1. เมืองโบราณ
เมืองโบราณจังหวัดสมุทรปราการนั้น บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่า ที่นี่คือเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของหนังและละครไทยหลายๆ เรื่อง ที่นี่คือสถานที่ถ่ายทำละครและหนังย้อนยุคมาหลายเรื่องแล้ว และเช่นกัน ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้เมืองโบราณแห่งนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำ และถ่ายทอดบรรยากาศแห่งตลาดน้ำสมัยโบราณออกมาได้อย่างสมจริง
เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยนายเล็ก วิริยะพันธุ์ นักธุรกิจเจ้าของบริษัทวิริยะประกันภัย เป็นสถานที่รวบรวมวัฒนธรรม ของไทย อาทิ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางปูใหม่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 33 ถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ห่างจากตัวจังหวัด 8 กิโลเมตร มีพื้นที่ 800 ไร่ ลักษณะที่ดินมีผังบริเวณคล้ายรูปขวาน เหมือนกับอาณาเขตของประเทศไทย ภายในจะมีโบราณสถาน ปูชนียสถาน วัดโบราณ พระราชวัง ต่างๆ เป็นต้น และยังมี ส่วนรังสรรค์เป็นสถานที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของไทย มีไว้จัดแสดงที่นี่ด้วย ภายในเมืองโบราณยังมีค่ายพักแรม ชื่อว่า "ค่ายริมขอบฟ้า"
ใน พ.ศ. 2549 รายการอเมริกาส์เน็กซต์ท็อปโมเดล ฤดูกาลที่ 6 รายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาได้นำผู้เข้าแข่งขันมาแข่งรอบชิงชนะเลิศที่นี่ โดยใช้ศาลาพระอรหันต์ซึ่งเป็นศาลากลางน้ำขนาดใหญ่เป็นรันเวย์ และถือได้ว่าเป็นเวทีเดินแบบที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการ นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่ภายในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทจำลองเป็นสถานที่ในการตัดสินผู้ชนะอีกด้วย
2. วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดไชยวัฒนาราม หรือ วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านป้อม อำเภอเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 โดยเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดาของพระองค์ และอีกประการหนึ่งวัดนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด
3. วัดพุทไธศวรรย์
เป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง ปรากฏตามตำนานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "ตำบลเวียงเล็กหรือเวียงเหล็ก" ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็คงจะได้โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกข้าศึกทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานไว้ชมอีกมากมาย
4. เพนียดคล้องช้าง
คือสถานที่สำหรับการจับช้างหน้าพระที่นั่ง แต่เดิมเคยใช้พื้นที่ข้างพระราชวังจันทรเกษม จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงย้ายมาที่ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญสูงมาก เป็นพาหนะของชนชั้นสูงสำหรับพระราชดำเนินทางบก และเป็นเหมือนรถถังหรือ เครื่องมือสำคัญในการนำลี้พลเข้าต่อสู้กับข้าสึก ยิ่งถ้าเป็นช้างเผือก สิ่งมงคลคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว พระองค์ก็จะโปรดเกล้าฯให้นำมาเลี้ยง และประดับยศศักดิ์ให้ด้วย
พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา น่าจะเสด็จมาทอดพระเนตรการคล้องช้างด้วยเสมอ เพราะนอกจากจะเป็นขั้นตอนในการคัดเลือกช้างแล้ว ยังเป็นมหรสพชนิดหนึ่งอีกด้วย
5.ป้อมเพชร
เป็นป้อมปราการป้อมเดียวที่ยังเหลืออยู่จากเดิมที่มีอยู่ 29 ป้อม รูปทรงป้อมแบบหกเหลี่ยม ผนังก่อด้วยอิฐสลับด้วยศิลาแลง? มีช่องเชิงเทินก่อเป็นรูปโค้งซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ประจำป้อม สร้างในสมัย พระมหาจักรพรรดิ์ (กษัตริย์องค์ที่15) เพื่อป้องกันข้าศึกที่จะมาทางน้ำ เป็นที่บรรจบระหว่างแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นท่าเรือสินค้าที่สำคัญในอดีต รวมทั้งเป็นย่านที่พักอาศัยของพ่อค้าชาวจีน ฮอลันดาและฝรั่งเศส ป้อมเพชรตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทอง ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใกล้วัดพนัญเชิง
6. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ในนาม นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี ได้มีการรื้ออิฐจากสถาปัตยกรรมในกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปก่อสร้างกรุงเทพมหานคร ทำให้โบราณสถานต่าง ๆ ถูกทำลายและทิ้งร้างไป ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อนุรักษ์และฟื้นฟูโบราณสถานในกรุงศรีอยุธยาขึ้นอีกครั้ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินท์ ข้าหลวงมณฑลกรุงเก่าทำการขุดแต่งโบราณสถาน และปรับปรุงสภาพในพระราชวังโบราณ เมื่อปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานหลายแห่งในเกาะรอบเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ รวม 69 แห่ง ต่อมาในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มโครงการบูรณะพระที่นั่ง และวัดต่างๆ โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล
ปี พ.ศ. 2512 ได้มีโครงการชื่อ โครงการสำรวจขุดแต่งและบูรณะปรับปรุงโบราณสถาน โดยมีความพยายามที่จะประสานงานร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในอันที่จะอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไว้ ในที่สุด พ.ศ. 2519 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของงานชิ้นใหม่ แล้วจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้น และเริ่มทำการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานเป็นต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 ปี พ.ศ. 2534 ณ เมืองคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย นครประวัติศาสคร์พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก
7. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนปรีดีพนมยงค์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งแรกของไทยที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไปและใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ
8. หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี
เกิดจากแรงบันดาลใจของอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ที่ต้องการจะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน จึงได้เริ่มรวบรวมทั้งสถานที่และสิ่งของมาตั้งแต่ปี 2512 อาทิ เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ(บิดาของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร) เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงผ้าทอโบราณ และเรือพื้นบ้าน ที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก” โดยอาจารย์ตั้งใจว่าจะให้เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนใน สระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวล้านนาที่ถูกกวาดต้อนอพยพมาจากเมืองเชียงแสน เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว และจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม บ้านพักโฮมเสตย์ โดยนักท่องเที่ยวจะได้กินอาหารพื้นถิ่น ชมการแสดงทางวัฒนธรรมแบบล้านนา นอกจากนี้อาจารย์ยังรวบรวมภูมิปัญญาการแสดงและการละเล่นจากผู้ใหญ่ในชุมชนเพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ ได้สืบสานวัฒนธรรมอันดีงามนี้ต่อไป ในปี 2536 อาจารย์ได้จัดตั้งชมรมไทยวนสระบุรี ขึ้นเพื่อร่วมกันอนุรักษ์และสืบทอดในเอกลักษณ์ของชาวไทยวนอาทิภาษาหรือวัฒนธรรม ตั้งแต่การแต่งกาย การกินขันโตก ต่อมาในปี 2539 ได้มีโครงการ Thing Earth ของบริษัทสยามกลการ เข้ามาสนับสนุนในการจัดตั้งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน ต่อเนื่องจนถึงปี 2551 ที่มีโครงการเตรียมจะจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบบูรณาการเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนในอนาคต
9. วัดเชิงท่า
อยู่บริเวณท่าข้ามเรือฝั่งเกาะเมืองมายังฝั่งวัดเชิงท่า จึงเป็นที่มาของชื่อวัดเชิงท่าหรือวัดตีนท่า วัดแห่งนี้มีตำนานการก่อสร้างหลายสำนวน ทั้งในประวัติศาสตร์และวรรณคดี เช่น ตำนานว่ามีเศรษฐีสร้างเรือนหอให้บุตรสาวซึ่งหนีตามชายคนรักไปแล้วไม่ย้อนกลับ จึงถวายเรือนหอแก่วัดที่สร้างขึ้น ชื่อว่า วัดคอยท่า ซึ่งปรากฎในนิราศทวารวดีของหลวงจักรปราณีแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เมื่อพระยาโกษาปานราชทูตไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลับมาจากฝรั่งเศสแล้วได้มาปฏิสังขรณ์วัดนี้และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโกษาวาส รวมทั้งเป็นสถานศึกษาของนายสิน หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาภาษาไทย ขอมและพระไตรปิฎกที่วัดนี้
บริเวณวัดยังมีโบราณสถานสำคัญประจำวัด ได้แก่ ปรางค์ห้ายอดสมัยอยุธยา ซึ่งมีลักษณะพิเศษหาที่อื่นไม่ได้ โดยก่อฐานพระปรางค์เป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยมจตุรัสและสร้างวิหารยื่นออกไปเป็นรูปกากบาทหรือไม้กางเขนโดยเฉพาะทางทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าวัดแต่เดิม สร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่เป็นมหาปราสาทยอดปรางค์ที่พบที่วัดเชิงท่านี้แห่งเดียว ส่วนศาลาการเปรียญสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในมีธรรมาสน์ปิดทองคำเปลวงดงาม ลายจำหลักไม้หน้าบันว่ากันว่าเป็นของเดิมที่เหลือรอดมาจากครั้งกรุงแตก ซึ่งย้ายมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณและยังมีงานช่างฝีมือเล็กๆ น้อยๆ มากมาย เช่น ลายจำหลักไม้ที่ส่วนบน ที่เรียกว่านมบนของอกเลา หรือสันกลางบานประตูหน้าต่าง ซึ่งสลักลวดลายแต่ละบานไม่ซ้ำกันเลย ทั้งลายไทย จีนและฝรั่งเสาแต่ละต้นก็มีลายมือสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนไว้อย่างบรรจง ถึงชื่อช่างที่เขียนลายประดับเสาต้นนั้นๆ
10. วัดธรรมาราม
พระอารามเล็กๆที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดที่หลายๆคนมองข้ามไปในโปรแกรมไหว้พระ 9 วัด เพราะส่วนใหญ่คนจะไปวัดท่าการ้องหรือวัดกษัตราธิราชมากกว่า โดยวัดธรรมาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา อยู่ถัดจากวัดกษัตราไป 500 เมตร (ถึงก่อนวัดท่าการ้อง) ถึงจะเป็นวัดเล็กๆแต่ประวัติศาสตร์และคุณค่าวัดนี้ไม่ได้เล็กตามเลย
วัดธรรมาราม เป็นวัดโบราณสร้างแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฎว่าสร้างมาแต่รัชสมัยใด ใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 414 ปี โดยที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน แต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งค่ายของพม่าทุกครั้งที่ยกทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้ควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เพราะเหนือวัดนี้ไปเพียงเล็กน้อยคือ บริเวณปากน้ำลพบุรีที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และป้องกันการเคลื่อนย้ายกำลังของไทยมาจากภายนอกเสริมกำลังในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี เพราะด้านหลังวัดธรรมารามเป็นทุ่งกว้างมีชื่อว่า “ทุ่งประเชต” อันเป็นหนึ่งในสามของทุ่งที่มีการสัปประยุทธกันอย่างโชกโชนระหว่างไทยกับพม่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org
ขอบคุณท่านเจ้าของภาพมา ณ โอกาสนี้