- 07 พ.ค. 2562
สูตรปลาหมึกต้มหวาน ยัดไส้ข้าวเหนียว สไตล์ปักษ์ใต้
ต้องบอกว่าทำเอาน้ำลายสอเลยทีเดียวสำหรับ เมนูปลาหมึก ต้มหวานแบบโบราณที่ใส่เครื่องโขลกต้มกับน้ำซอส ลองยัดไส้ข้าวเหนียวเพิ่มความหอมมันแบบภาคใต้ โดยสมาชิก pantip ที่ใช้ชื่อว่า คุณมอแกนน้อย ได้โพสต์สูตรระบุว่า หลังเทศกาล ฮารียายอ ผ่านพ้นไปไม่นาน เรือก็เริ่มจับหมึกได้ ส่วนใหญ่คือหมึกสาว ไม่ใหญ่นักหมึกขนาดนี้ ชาวกรุงชอบนำไป ยัดไส้ใส่แกงจืด ชาวปลายด้ามขวานก็นิยมนำมายัดไส้เช่นกันเพียงแตกต่างกันที่ไส้ และวิธีทำ ชาวบ้านมักเรียกว่า "หมึกจุกเหนียว" แต่ในหมู่ชาวมุสลิม ที่นับถืออิสลาม จะเรียกเมนูนี้ว่า "ตูป๊ะ ซูตง" ตูป๊ะ หมายถึง ข้าวเหนียว
ซูงตง หรือ โซตง หมายถึงหมึก เมื่อนำมารวมกัน ความหมายคือ "หมึกยัดไส้เหนียว" นิยมทำกันในเทศกาลถือศีลอด หรือ บุญประเพณีสำคัญ เป็นเมนูที่ทำง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ความอร่อยมีมากมาย ยามที่ได้กินลงไปหมึกสดๆ เมื่อได้ปรุงอาหาร ถือว่ามีความอร่อยอยู่แล้ว แต่ยิ่งจะอร่อยขึ้น เมื่อได้ปรุงเมนูนี้ ตามมาชม กันได้เลยครับ
หมึกได้มาสดแบบ ผิวระยิบระยับ จัดการเลือกตัวใหญ่ เตรียมส่งให้ผู้ได้รับรางวัล เหลือตัวขนาดเล็ก ก็เตรียมดึงหัว ดึงไส้ ทำความสะอาดรอ
ข้าวเหนียวใหม่จะให้ความนุ่มหอม แช่น้ำไว้ค้างคืน กะทิ คั้นทีเดียว รวมหัวหาง น้ำไม่ต้องแยะ สำหรับเมนูนี้ ไม่แนะนำกะทิกล่อง เพราะจะขาดความมันและความหอมรวมถึงหวานจากกะทิสด
ใส่เกลือลงในกะทิสักช้อน กวนให้ละลายแล้วค่อยๆรินหัวกะทิด้านบนใส่ลงในข้าวเหนียวพอแฉะ กรอกใส่ในตัวหมึก
จนเต็มลำตัว กลัดด้วยไม้พร้อมหัวของหมึก
ตั้งหม้อ รองด้วยใบเตย ใส่กะทิลงไปสักครึ่ง จับหมึกวางเรียง ใช้ไฟกลางอ่อนเคี่ยวไปจนน้ำใกล้งวด เติมกะทิที่เหลือ ถ้าต้องการให้เปื่อยเร็วปิดฝาแง้มไว้น้ำเริ่มเดือดครั้ง2 เปิดฝา ใส่น้ำตาลแว่นลงไป 2-3 แว่น รอน้ำตาลละลายยกหม้อส่ายให้ละลายถั่วถึง หรือใช้ทัพพีค่อยๆกวนให้เข้ากันเบาๆ ชิมน้ำดูให้มีรสหวานนำเค็มตาม เคี่ยวต่อไปจนน้ำงวดแฉะก้นหม้อ
ตักมาชิมตัวนึง เมื่อได้ที่แล้ว ให้คนอื่นชิมด้วยเพื่อการันตี ปรากฎว่าผ่าน
ใช้มีดปาดให้เฉียงจะดูน่ากินกว่าปาดตรงๆ
ตัวหมึกอ้วนอวบ กัดลงไปมีความนุ่ม ได้รับรสหวานที่เคลือบผิวหมึกเคี้ยวลงไป เจอข้าวเหนียวอ่อนนุ่ม คล้ายๆไข่หมึก มีรสจืดมันกะทิ ถ้าจะให้อร่อย ราดน้ำลงไปสักปลายช้อน ยิ่งเพิ่มรสชาติหวานๆมันๆ
อาหารแต่ละชนิด มิใช่เพียงแค่ อิ่มปากท้องแต่คงมีความหมาย ถึงการหล่อหลอมรวมกัน นำมาผสมผสาน จากทรัยพ์ในดิน และ สินในน้ำ ผลพวงจากการประดิษฐ์คิดค้น แต่งแต้มสีสัน และกลิ่น เพื่อให้ได้รสชาติแสนอร่อย อย่างชาญฉลาด
ล้วนแล้วเกิดจาก บรรพบุรุษของเราทั้งสิ้น ตะโกเอง เป็นแค่เพียงผู้ทำตาม จากที่เคยสัมผัส เคยเห็น เคยกิน
ต้องยอมรับว่า "อร่อย แบบมีเหตุผล" มันเป็นความลงตัวของวัตถุดิบที่นำมาปรุง จากรุ่น สู่รุ่น คล้ายๆจะบอกว่า ถึงแม้บรรพบุรุษจะจากล่วงลับไป คงเหลือมรดกทางอาหารทิ้งไว้ให้ลูกหลาน
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณมอแกนน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม