- 29 พ.ค. 2562
วิบากกรรมของคนขี้อิจฉา! พระพุทธเจ้าสอน คนชอบอิจฉาริษยามีสิทธิ์ลงนรก หากได้เกิดเป็นคนจะมีศักดาน้อย
ความอิจฉาริษยานั้น ย่อมเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุปัจจัยของจิตที่ขาดมุทิตา นั่นคือ การขาดความชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่ยินดีเมื่อเขาเป็นสุข แต่กลับมีจิตใจที่ร้อนรนกระวนกระวาย เพราะไม่อยากให้เขาได้ดี ไม่อยากให้เขาเป็นสุข ขณะเดียวกัน คนที่ชอบอิจฉาริษยา คือ คนที่ทำความดีมาน้อย มีบุญวาสนาน้อย แต่ก็ไม่สำนึกหรือทำความดีเพิ่มขึ้น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดี มีลาภสักการะ มีผู้คนเคารพนับถือมาก กลับอิจฉาริษยา มีจิตมุ่งร้ายต่อเขา หากไม่อาจระงับในความริษยาได้ ก็มักจะเกิดกรรมทางกายตามมา คือ การกลั่นแกล้ง ขัดขวาง ไม่ให้เขาได้ดี คนประเภทนี้จะประสบกับวิบากกรรมของความริษยา ซึ่งกรรมที่ว่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในภพปัจจุบันและภพหน้า และผลกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในหลากหลายระดับตามแต่ความหนักเบาของกรรมที่ได้ก่อไว้
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬกัมมวิภังคสูตร http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798
ความตอนหนึ่งได้ตรัสถึงผลกรรมจากความอิจฉาริษยา ว่า
[๕๘๘] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม
มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความ
นับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป
ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง
จะเป็นคนมีศักดาน้อย ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจ
ริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ
การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ฯ
จะเห็นว่าคนที่ชอบริษยาผู้อื่น หากตายไปแล้วก็มีโอกาสเกิดในอบายภูมิ ลงนรกได้เช่นกันอยู่ที่ความหนักเบาของการก่อกรรม ขณะเดียวกัน หากผู้นั้นไม่ได้ลงอบาย แต่มีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดในที่ใดๆ ก็จะเป็นมนุษย์ผู้มีศักดาน้อย ซึ่งคำว่า “ศักดา” หมายถึง “อำนาจ” รวมถึง อานุภาพ พลัง หรือความสามารถต่างๆ ที่จะทำให้ตนประสบความสำเร็จหรือก้าวหน้า หากแต่คนที่ริษยาผู้อื่น วิบากกรรมก็จะส่งผลให้เป็นคนที่ไม่มีอำนาจ ด้อยอานุภาพ ความสามารถน้อย ประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวังได้ยาก ไม่ว่าจะพยายามเพียงไรก็ตาม นั่นก็เพราะ ความริษยาผู้อื่นไว้อย่างไร ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดีอย่างไร ขัดขวางผู้อื่นอย่างไร ตนก็ย่อมได้อย่างนั้น เช่น ไม่อยากให้เขาได้ลาภสักการะ ตนก็จะไม่ได้ลาภสักการะ ไม่อยากให้เขามีความสุข ตนก็จะไม่มีความสุข เป็นต้น
ฉะนั้นเมื่อรู้ว่าตนมีความรู้สึกอิจฉาริษยาผู้อื่น จึงควรฝึกฝนตนให้เป็นผู้มีจิตมุทิตา เมื่อผู้อื่นได้ดีแล้วก็ให้ยินดีด้วยจากใจจริง อย่าอิจฉาอย่าริษยา จนทำให้เกิดบาปแก่ตน เพราะเพียงแค่จิตใจที่กระวนกระวาย ร้อนรน เพราะเห็นผู้อื่นได้ดี ตนก็ไม่มีความสุข นี่ก็คือผลแห่งกรรมทางใจที่ให้ผลอย่างฉับพลันทันใดแล้ว… จงคิดดูแล้วกันว่า หากปล่อยให้ความอิจฉาริษยามีอำนาจมากขึ้นเท่าไหร่ สะสมนานวันมากเท่าไหร่ จะเกิดผลร้ายแรงต่อตนอย่างไร ทั้งภพนี้และภพหน้า จึงควรสยบอำนาจริษยาด้วยจิตที่เป็นมุทิตาเถิด
อ้างอิงข้อมูลจาก : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จูฬกัมมวิภังคสูตร
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=7623&Z=7798
เครดิตภาพ : Napapawn