- 30 พ.ค. 2562
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำทั้งสองพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ถูกยึดครอง เป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการ
เนื่องในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๗
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำทั้งสองพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ถูกยึดครอง เป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของรัชกาลที่ ๗ ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่ ๒-๓ วัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ พระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพร และฉลองพระองค์แขนยาว ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก จึงรับสั่งกับสมเด็จฯ ว่าหากจะเสด็จไปพระตำหนักเวนคอร์ตก็ได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล คำตรัสครั้งสุดท้ายคือ
จะไปไหนก็ได้ ฉันสบายดี .... อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์
สมเด็จฯ จึงเสด็จออกไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น.พระเจ้าอยู่หัวทรงเสวยไข่ลวกนิ่มๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย ทรงหนังสือพิมพ์แล้วบรรทมต่อ สักพักหนึ่งก็ทรงบ่นว่ามีอาการวิงเวียนไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา
พอกลับมาอีกที ก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้างๆ หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนกำลังหลับอย่างสบาย ประมาณ ๐๙.๐๐ น. นางพยาบาลจับพระชีพจรดู จึงรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว โดยไม่มีผู้ใดทราบว่าเวลา แต่ตามคติไทยก็คือทรงพระบุญญาธิการ จึงเสด็จสวรรคตอย่างสงบนิ่ง สิริรวมพระชนม์มายุได้ ๔๘ พรรษา และเป็นเวลา ๖ ปี ๓ เดือน นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
ขณะที่รถพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ วิ่งออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ และต้องชะลอแล่นช้าลงเพราะหมอกบดบัง พลันพระองค์ทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนขวางอยู่
เห็นพิลึกแท้
ทรงสังหรณ์พระราชหฤทัยยิ่งนัก ต่อมาตำรวจอังกฤษได้สกัดรถพระที่นั่งสมเด็จฯ เพื่อแจ้งข่าว สมเด็จฯ ทรงรีบเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์ทันที เมื่อเสด็จฯ กลับถึงพระตำหนัก ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงเข้มแข็ง ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน โดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษ ได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา ๔ วัน เพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนาเพราะไม่มีพระสงฆ์ รวมทั้งไม่มีการพระราชพิธีอื่น ๆ ตามราชประเพณีด้วย
หลังจากทราบข่าวการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่ยังอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศล ทักษิณานุปทานอุทิศถวายรัชกาลที่ ๗ ขึ้น ที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพ ตามราชประเพณี โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๔ อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐาน บนรถซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม มีธงมหาราชคลุมพระบรมศพ เชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตัน ไปยังสุสานโกดเดอร์สกรีน ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ ๕ คัน ขณะกำลังเคลื่อนพระบรมศพ ออกจากพระตำหนัก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประทับทอดพระเนตรอยู่ที่หน้าต่าง เป็นการส่วนพระองค์ ทรงกลั้นพระกรรแสงไว้ไม่ไหวอีกต่อไป ทรงรับสั่งว่าเบาๆ ว่า
เขาเอาไปแล้ว
พระบรมศพทรงพระภูษา (โจงกระเบน) สีแดง ฉลองพระองค์สีแดง เช่นกัน ตามที่เคยรับสั่งกับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ให้จัดถวายให้เหมือนกับพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในรัชกาลที่ ๔ พระบรมวงศานุวงศ์ จะทรงพระภูษาแดงทุกวันพระ ในรัชกาลนั้น แดงจึงถือเป็นสีของพระราชวงศ์ มีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มากทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศ ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทยและเป็นทนายความประจำพระองค์ และเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นถวายความเคารพทีละคน
ไม่มีพิธีสงฆ์ใดๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในขณะนั้น มีแต่คนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล แล้วมีการบรรเลงเพลง เมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งไทยและเทศ พนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้า หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคาร ถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตัน อันเป็นที่ประทับของพระองค์
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนไทยในอังกฤษส่วนใหญ่พากันเดินทางกลับประเทศไทย เพราะอังกฤษถือว่าไทยเป็นชนชาติศัตรู แต่สมเด็จฯ ยังคงประทับอยู่ต่อไป ทั้งๆ ที่เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลนโดยทั่วไปมีการแบ่งสันปันส่วนอาหาร ไข่ไก่ก็ต้องใช้วิธีถนอมไว้ใช้โดยการลอยน้ำ ข้าวสารก็ไม่มี ต้องใช้ลูกเดือยหุงแทน แต่รัฐบาลอังกฤษได้ถวายพระเกียรติโดยอนุญาตให้ทรงใช้รถยนต์ และจัดน้ำมันเบนซินถวาย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ สมเด็จฯ ต้องทรงเผชิญกับความเศร้าโศกในครอบครัวของพระองค์เองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิระศักดิ์ พระโอรสบุญธรรม ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นเรืออากาศเอกในกองทัพอังกฤษ ได้สิ้นพระชนม์ลงทันที เมื่อเครื่องบินของ Air Transport Auxiliary ประสบอุบัติเหตุตก เพราะชนภูเขาในภาวะอากาศมีหมอกหนา
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าคุณปราบสุราพินาศ