- 24 มิ.ย. 2562
หากย้อนมาสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ 2475 พวกนี้วางแผนมาอย่างดี ไม่ได้เอะอะแล้วจะปฏิวัติเลยเสียเมื่อไหร่ จากเท่าที่ดูประวัติแล้วพวกนี้ต้องการเปลี่ยนการปกครองไปจนถึงระบอบที่ไม่มีกษัตริย์หรืออย่างน้อยถ้ามีก็แค่เป็นสัญลักษณ์ ไม่มีบทบาทอะไรใดๆ ต่อการปกครอง นั่นคือเป้าหมายใหญ่ของเขา แต่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปถึงจุดนั้น จะหักดิบเลยก็ไม่ได้ เพราะอาจจะมีการต่อต้านจากประชาชน เลยต้องเอาอำนาจมาในมือให้ได้ก่อน แล้วค่อยๆ ลดทอนความสำคัญของราชวงศ์ลง จนคนส่วนใหญ่ของประเทศคล้อยตามกับระบอบที่คณะนี้ต้องการ
หากย้อนมาสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ 2475 พวกนี้วางแผนมาอย่างดี ไม่ได้เอะอะแล้วจะปฏิวัติเลยเสียเมื่อไหร่ จากเท่าที่ดูประวัติแล้วพวกนี้ต้องการเปลี่ยนการปกครองไปจนถึงระบอบที่ไม่มีกษัตริย์หรืออย่างน้อยถ้ามีก็แค่เป็นสัญลักษณ์ ไม่มีบทบาทอะไรใดๆ ต่อการปกครอง นั่นคือเป้าหมายใหญ่ของเขา
แต่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปถึงจุดนั้น จะหักดิบเลยก็ไม่ได้ เพราะอาจจะมีการต่อต้านจากประชาชน เลยต้องเอาอำนาจมาในมือให้ได้ก่อน แล้วค่อยๆ ลดทอนความสำคัญของราชวงศ์ลง จนคนส่วนใหญ่ของประเทศคล้อยตามกับระบอบที่คณะนี้ต้องการ
ก่อนปฏิวัติ คณะราษฎรต้องศึกษาเรื่องลำดับการสืบสันตติวงศ์มาเป็นอย่างดีแล้ว ว่าใครคือ กษัตริย์พระองค์ต่อไป เพราะถ้า ร.7 ไม่ยอมเปลี่ยนและมีการต่อสู้ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนรัชกาลตั้งแต่ปีนั้น แล้วที่คณะนี้เห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นงานง่าย คือ อีก 2 พระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระชนนีก็เป็นสามัญชน น่าจะคุมได้ไม่ยาก และยังมีเวลาริดรอนพระราชอำนาจได้อีกนาน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ มีเวลาเหลือเฟือจัดระบบที่เขาต้องการให้อยู่ในรูปในรอยได้อีกหลายปี เข้าทางอย่างที่สุด
เมษายน 2476 ณ เวลานั้นราชสกุลมหิดลก็ทรงพำนักที่วังสระปทุมกับสมเด็จพระพันวัสสา แล้วขณะนั้น ร.8 ไปโรงเรียนก็มีเพื่อนมาเรียกว่าองค์โป๊ย (ถือเป็นชื่อที่ใช้ล้อเลียน ร.8 ของลูกหลานคณะราษฏร์) ยิ่งทำให้สมเด็จพระพันวัสสายิ่งเห็นอันตรายที่เข้าใกล้พระนัดดามากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นสมเด็จพระพันวัสสาจึงรับสั่งให้สมเด็จย่า(สังวาลย์) พาพระโอรสและพระธิดา ไปเรียนต่อที่โลซานน์ให้ห่างไกลการเมือง นับเป็นหมากเดินที่มีประโยชน์มากสำหรับราชวงศ์ต่อไปในอนาคต
2 มี.ค.2478 ร.7 ประกาศสละราชสมบัติ และให้สภาหาผู้สืบสันตติวงศ์ต่อเอง ทุกอย่างเข้าทางตามแผนคณะราษฏร์ และคณะราษฎร์จึงส่งโทรเลขมาเชิญ ร.8 รับราชสมบัติ ตามที่คาดหมายไว้ แผนต่อของคณะราษฎร์คือให้ ร.8 เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยเร็ว เพื่อมาทำพระราชพิธีราชาภิเษกและให้ประชาชนเห็นว่า โอเคระบอบนี้ยังมีกษัตริย์นะ เราไม่ได้ทำลายสถาบันนะ เพราะถ้านับตั้งแต่ ร.7 ประพาสอังกฤษ แผ่นดินไทยไม่มีพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ปีกว่า
แต่สมเด็จย่าก็ทรงต่อรองรัฐบาลไม่พา ร.8 กลับประเทศ ณ ตอนนั้น เพราะรู้ถึงแผนการของคณะราษฎร์ ที่ทำไมจึงเร่งรีบให้พา ร.8 เสด็จกลับประเทศ จึงได้อ้างถึงพระอาการประชวรที่ต้องอยู่ที่มีอากาศเย็น กลับตอนหน้าร้อน ประชวรไปจะไม่สง่างาม โดยจดหมายที่สมเด็จย่าเขียนโต้ตอบไว้มีดังนี้
“หม่อมฉันจะขอเล่าถวายถึงเรื่องเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศพูดกับหม่อมฉันเมื่อได้มาพบทีแรก หม่อมฉันจะกราบทูลไปตั้งแต่จดหมายฉบับก่อนก็ลืมไป เจ้าพระยาศรีฯ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้อยู่โลซานน์ต่อไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งอีก และเจ้าพระยาศรีฯ เองไม่ทราบว่าจะให้อยู่ต่อไปทำไม แต่นึกเอาเองว่าบางทีจะให้อยู่คอยเพื่อจะเชิญนันทเสด็จกลับชั่วคราวสำหรับให้ราษฎรเห็นว่าได้มีพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ ไม่ใช่แต่ชื่อหรือหลอกกันเล่น และเจ้าพระยาศรีฯ ก็ถามความเห็นของหม่อมฉันว่าเห็นเป็นอย่างไร หม่อมฉันก็ตอบว่าเรื่องนี้หม่อมฉันก็เห็นใจรัฐบาล แต่การกลับนั้น ถ้าจะให้กลับเวลานี้ในหน้าร้อนกลัวจะทำให้นันทประชวรทีเดียวเมื่อถึงเมืองไทย หม่อมฉันเห็นว่าการกลับชั่วคราวนี้เราควรจะยอม เพราะรัฐบาลก็จะจัดการให้กลับไปถึงหน้าหนาวและออกมาอีกก่อนหน้าร้อน สิ่งอะไรที่จะผ่อนผันได้หม่อมฉันเห็นว่าควรจะทำ เขาจะได้ตามใจเราบ้างเมื่อเราต้องการให้เป็นอย่างไร และถ้าจะกลับหม่อมฉันขอให้รับสั่งแก่คณะผู้สำเร็จราชการหรือรัฐบาลถึงเรื่องการอยู่ ว่าจะแยกกันไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะนันทก็เป็นเด็ก ยังต้องการความดูแลของแม่เสมอ
หม่อมฉันได้พูดกับเจ้าพระยาศรีฯ และนายดิเรก ชัยนาม ด้วยถึงเรื่องร่างกายและการศึกษาต่อไป ทีแรกเจ้าพระยาศรีฯ เห็นว่านันทไม่ควรไปโรงเรียน ให้มีครูมาสอนที่บ้าน หม่อมฉันก็ตอบไปทันทีว่าหม่อมฉันเห็นตรงกันข้าม เพราะการเรียนคนเดียวจะทำให้เด็กไม่อยากเรียน เพราะไม่มีคนแข่งและไม่สนุกเลยที่ไม่ได้มีเพื่อน จะทำให้นันทไม่มีความสุขที่ต้องแบกยศพระเจ้าแผ่นดินจนไม่มีเวลาที่จะเป็นเด็ก และพระเจ้าแผ่นดินก็จำเป็นมากที่จะต้องปะปนกับคนอื่น จะได้รู้จักนิสัยคนทั่วไป จะเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองที่มีการปกครองอย่างประชาธิปไตย เจ้าพระยาศรีฯ ก็เห็นด้วย
เมื่อเจ้าพระยาศรีฯ จะไปจากโลซานน์ หม่อมฉันก็บอกให้เป็นที่เข้าใจอีกว่า ทั้งลูกและหม่อมฉันไม่มีความต้องการยศและลาภเลย แต่การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต่อไปขอให้พูดกันดีๆ อย่าบังคับและตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน และสำหรับร่างกายและการศึกษาแล้วขอให้ได้เต็มที่ เวลานี้เป็นเด็ก ก็ขอให้เป็นเด็ก พระเจ้าแผ่นดินที่ร่างกายไม่แข็งแรงและโง่ก็ไม่เป็นสง่ากับประเทศ
หม่อมฉันรู้สึกว่าอันตรายภายนอกสำหรับนันทคงจะมีน้อย ที่หม่อมฉันวิตกอยู่ก็ถึงเรื่องที่นันทจะไม่ได้มีความสุขอย่างเด็กมาก และกลัวการศึกษาจะได้ไม่เต็มที่ ที่หม่อมฉันไม่ใคร่กลัวอันตรายภายนอกก็เพราะว่าเราไม่ได้อยากจะเป็น แต่ต้องรับเพราะเห็นแก่บ้านเมืองที่อาจไม่สงบได้”
สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงพอพระทัยการพูดโต้ตอบของสมเด็จย่ามากได้พบร่างลายพระหัตถ์อยู่ในซองจดหมายจากสมเด็จย่า ใจความว่า
“ฉันต้องชมเชยสังวาลย์อีกครั้งหนึ่ง ฉลาดเป็นอัศจรรย์ ใจเย็น พูดโต้ตอบได้งดงามอย่างน่าพิศวงกับเจ้าพระยาธรรมาธิเบศ บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ ไม่มีใครมาดูถูกได้ว่าเลวทราม ฉันพูดนี่ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วยจนน้ำตาไหล”
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าการย้ายมาสวิสเซอร์แลนด์มีประโยชน์ เพราะการที่รัฐบาลไม่มีกษัตริย์กลับไปให้ราษฎรเห็น ยิ่งสร้างความน่ากังขาให้กับราษฎรว่า การปกครองที่คณะราษฎรยึดมาจากเจ้าเนี่ยจะเป็นระบอบที่มีกษัตริย์อยู่ต่อจริงหรือ หลอกกันมั้ย อย่าลืมว่าเพิ่งจะผ่านการเปลี่ยนแปลง 2475 มายังไม่ทันครบ 3 ปี คนที่ยังไม่พร้อมกับการไม่มีกษัตริย์นั้นมีอยู่มาก อีกทั้งสมเด็จย่าทรงพระปรีชามากในการต่อรองกับรัฐบาลคณะราษฎร์
ส่วนคณะราษฎร์ใช่ว่าจะราบรื่นมีการแย่งชิงอำนาจกันภายในคณะ มีการยึดอำนาจกันไปมา เริ่มมีอำนาจเป็น 2 ขั้วและขัดกันเองตลอด จนสุดท้ายใช้การสวรรคตของ ร.8 เพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง รวมไปถึงทำลายความน่าเชื่อถือของ ร.9 และสมเด็จย่าด้วย
แต่สุดท้ายพวกเรารอดวิกฤติมาได้เพราะในหลวง ร.9 ทรงอดทนต่อการบีบบังคับต่างๆ จากคณะราษฎร์ในช่วง 10 ปีแรกที่ครองราชย์
จนหลังเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2500 จากรัฐบาลจอมพลป. มาเป็นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ในหลวง ร.9 จึงเริ่มทรงงานเพื่อประชาชนและออกเยี่ยมประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและความยากจนของราษฎร พร้อมกับเสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี
ในหลวง ร.9 ทรงงานหนักเพื่อให้ราษฎรกินดีอยู่ดี จนเป็นที่ประจักษ์ต่อราษฎร นำมาซึ่งความรัก ความเทิดทูนและศรัทธาที่มีต่อพระองค์ท่านและพระราชวงศ์องค์อื่นๆ ทำให้วิกฤติของราชวงศ์ช่วง ร.7-ร.8 ที่อ่อนแอลงกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูล และ จดหมายจาก - พระราชนิพนธ์เจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์ , pantip.com/topic/35712228