- 23 ก.ค. 2563
แพทย์ยันแล้ว หลังหลายคนเข้าใจผิด เรื่องการดื่มน้ำบรรจุขวดที่ถูกตากแดดจะมีอันตรายต่อสุขภาพ
ที่เว็บไซต์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่หลายคนเข้าใจผิดโดยระบุข้อความว่า เป็นข่าวลือกันมานานช่วงระยะเวลาหนึ่ง เรื่องน้ำดื่มบรรจุขวดที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ ว่าการดื่มน้ำบรรจุขวดที่ถูกวางทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดดจะมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่าสารไดออกซิน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักเจ้าสารไดออกซินที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในเรื่องนี้กันก่อน สารไดออกซินเป็นกลุ่มของสารเคมีหลายร้อยชนิดที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุหลังมากกว่า ทั้งจากอุตสาหกรรมหลายประเภท การเผาไหม้ตามธรรมชาติ เผาขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกจากอุตสาหกรรมและบ้านเรือนที่มีสารพีวีซีหรือคลอรีนเป็นส่วนประกอบ สามารถสะสมในอาหารในไขมันของสัตว์ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ สารในกลุ่มไดออกซินถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์มาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว โดยออกฤทธิ์ในการลดภูมิต้านทานของเราและกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งที่อาจแอบแฝงตัวอยู่เจริญเติบโตได้มากขึ้น ที่น่ากลัวคือเป็นสาเหตุของมะเร็งได้หลายอวัยวะอีกต่างหาก นอกจากนั้นยังมีผลเสียต่อสุขภาพในแบบเรื้อรังอีกหลายอย่าง
อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องกันก่อนก็คือประเภทของขวดน้ำที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันนี้มี 3 ประเภทหลักคือขวดใส ขวดขาวขุ่น และขวดน้ำขนาดใหญ่แบบเติมสีฟ้าใส ขวดใสที่ผลิตจากสาร PET หรือที่เรียกกันว่าขวดเพ็ต ส่วนขวดสีขาวขุ่นผลิตจากสารพีอีหรือโพลีเอทิลีน และขวดน้ำขนาดใหญ่แบบเติมสีฟ้าใสผลิตจากสารพีพีหรือโพลีโพรพิลีน เจ้าพลาสติกทั้ง 3 ชนิดที่ใช้ทำขวดน้ำดื่มที่ว่า ไม่มีส่วนประกอบของสารพีวีซีหรือคลอรีนแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการที่จะมีสารไดออกซินสลายตัวออกมาจากวัสดุที่ทำขวดน้ำ จึงแทบจะไม่มีความเป็นไปได้
ล่าสุดเดื่มน้ำมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการแถลงผลการตรวจของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่า น้ำดื่มจากขวดน้ำไม่ว่าจะเป็นขวดขาวขุ่นหรือขวดใสจำนวน 18 ยี่ห้อที่ถูกตากแดดทิ้งไว้ในรถเป็นเวลา 1 และ 7 วัน ไม่พบว่ามีสารไดออกซินแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า สามารถดื่มน้ำบรรจุขวดได้อย่างปลอดภัยไร้สารก่อมะเร็งอย่างแน่นอน ก่อนจากต้องฝากย้ำกันอีกครั้งว่า สมัยนี้ยุคแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก การส่งต่อข้อมูลข่าวสารทั้งจริงทั้งเท็จมีกันอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะเชื่อเรื่องใดโดยเฉพาะเรื่องข้อมูลด้านสุขภาพ ต้องมีสติใช้ปัญญาและวิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ ที่สำคัญต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้านเสียก่อนที่จะปักใจเชื่อนะครับ…ขอบอก