- 20 มี.ค. 2566
ทำความเข้าใจ สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง คืออะไร มีความหมายของสีพื้นที่ สีผังเมืองอย่างไร ก่อนซื้ออสังหาริมทรัพย์
ต้องศึกษาไว้อย่างดี สำหรับใครที่มองหาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าเพื่อการลงทุน หรือเพื่อการอยู่อาศัยก็ตาม ย่อมต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นความชอบส่วนตัว กำลังซื้อ สิ่งแวดล้อมโดยรอบ เป็นต้น และอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไปไม่ได้ โดยเฉพาะนักลงทุนนั่นก็คือ สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง
- สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง คืออะไร
สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง ถูกออกแบบและกำหนดโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด วัตถุประสงค์ก็เพื่อ กำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ หรือการพัฒนาในพื้นที่ ตามแนวความคิดและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาของแต่ละเมือง
โดยคํานึงถึงความเป็นระเบียบความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ การดํารงรักษาสถานที่ทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี และการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยกำหนดรายละเอียดไว้ใน พระราชบัญญัติการผังเมือง
- สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง ที่ต่างกันกำหนดอะไร
พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2558 กำหนดให้ปฏิบัติ หรือไม่ให้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวม มีการกำหนดรายละเอียดโดยคำนึงถึง ปัจจัยดังต่อไปนี้
- ประเภท และขนาดกิจการที่จะดำเนินการ
- ประเภท ชนิด ขนาด ความสูง และลักษณะของอาคารที่จะสร้าง
- อัตราส่วนพื้นที่อาคาร รวมกันทุกชั้นของอาคารทุกหลัง ต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร
- อัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดิน ต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร
- อัตราส่วนพื้นที่ว่าง อันปราศจากสิ่งปกคลุมของแปลงที่ดิน ที่อาคารตั้งอยู่ต่อพื้นที่ใช้สอยรวมของอาคาร
- ระยะถอยร่นจากแนวธรรมชาติ ถนน แนวเขตที่ดิน อาคาร หรือสถานที่อื่น ๆ
- ขนาดของแปลงที่ดินที่จะอนุญาตให้สร้างอาคาร
- ข้อกําหนดอื่นที่จําเป็น โดยรัฐมนตรีประกาศกําหนดตามคําแนะนําของคณะกรรมการผังเมือง
ความหมายของสีพื้นที่ สีผังเมือง
- เขตสีเหลือง คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย(ย.1- ย.5)
เขตพื้นที่นี้เป็นเขตที่สนับสนุนให้พัฒนา อาคารสงเคราะห์รับเลี้ยงสัตว์, สถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา, สถานพยาบาล, สถานสงเคราะห์รับเลี้ยงเด็ก, คนชรา, ผู้พิการ และยังสามารถสร้าง ที่อยู่อาศัย , อาคารพาณิชยกรรม , สำนักงาน, โรงแรม และ ตลาดได้อีกด้วย
โดยที่ดิน ย.1 สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว ,ที่ดิน ย.2 เป็นต้นไป สร้างทาวน์เฮาส์ได้ ,ที่ดิน ย.3 เป็นต้นไปสามารถสร้างอาคารชุดขนาดเล็กและกลางได้ ,ที่ดิน ย.4 ให้ความสำคัญกับพื้นที่ชานเมืองที่อยู่ในเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชน
- เขตสีส้ม คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5-ย.7)
พื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ ถ้าเป็นอาคารชุดที่มีเนื้อที่เกิน 10,000 ตารางเมตร จะต้องตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร หรืออยู่ในระยะ 500 เมตรจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
- เขตสีน้ำตาล คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.8-ย.10)
พื้นที่ในบริเวณเมืองชั้นใน ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยสูง สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูง
ที่ดินรหัส ย.8 จะเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาทัศนียภาพ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ที่ดินรหัส ย.9 จะเน้นที่บริเวณเมืองชั้นใน และอยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน
ที่ดินรหัส ย.10 จะเป็นบริเวณของเมืองชั้นในซึ่งเป็นรอยต่อกับย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง อีกทั้งยังอยู่ในเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชน
- เขตสีแดง คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พ.1-พ.5)
พื้นที่ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ เช่น ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ และนันทนาการ โดยสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ และมีข้อจำกัดน้อยที่สุด
- เขตสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (อ.1-อ.3)
สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว หอพัก หรือคอนโดมิเนียมขนาดเล็ก รวมถึงสร้างร้านค้าได้ แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูงกับอาคารชุดขนาดใหญ่ได้
- เขตสีเม็ดมะปราง ที่ดินประเภทคลังสินค้า
ใช้เป็นพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เขตสีม่วงอ่อน ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ
- เขตสีเขียว ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
- เขตสีเขียวมะกอก ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา
- เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทะแยงสีเขียว ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม
- เขตสีน้ำตาลอ่อน ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
- เขตสีเทา ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา
- เขตสีน้ำเงิน ที่ดินประเภทสถาบันราชการ กราสาธารณูปโภคและสาธารณุปการ
วิธีตรวจสอบสีที่ดิน สีผังเมือง
สามารถนำเลขที่โฉนด มาตรวจสอบสีที่ดิน สีผังเมืองได้ ที่เว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง
คลิกที่นี่ : ตรวจสอบสีที่ดิน สีผังเมือง