ศาลฎีกายืนตามคำสั่งศาลอุทธณ์ยกคำร้อง"ยิ่งลักษณ์และพวก"สู้คดีกปปส.ฟ้องละเมิดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน "ถาวร"ลั่นบทพิสูจน์กปปส.ชุมนุมโดยชอบธรรม

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

    ถือเป็นหนึ่งเรื่องใหญ่ทางการเมืองที่จะต้องติดตามผลต่อไป   สำหรับเหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มกปปส.  เมื่อ   นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของแกนนำ กปปส. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา  ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหนึ่งในแกนนำ กปปส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศรส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. ในฐานะรอง ผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดเมื่อปี พ.ศ.2557 จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม., บางอำเภอใน จ.นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2557

 

    โดยศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้นชอบแล้ว   ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น จึงให้พิพากษายืนตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งดังกล่าว

     สำหรับความเป็นมาของกรณีดังกล่าว เริ่มต้นจากการที่ นายถาวร เสนเนียม   แกนนำ กปปส. ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.ต.อ.อดุลย์ เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เมื่อปี พ.ศ.2557 เป็นคดีหมายเลขดำ 275/2557 เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม เนื่องจากออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯนั้นไม่ชอบ เพราะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ หลังจากมีการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556

 

      ขณะที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2557 เห็นว่า แม้ว่าฝ่ายบริหารจะมีอำนาจดำเนินการออกประกาศและข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้ แต่ต้องดำเนินการด้วยความเป็นธรรม เสมอภาค รวมทั้งจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพยานหลักฐาน ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า การชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ดังนั้นโจทก์และผู้ชุมนุมย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ จึงพิพากษาห้ามจำเลยที่ 1-3 นำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯมาใช้บังคับ และห้ามดำเนินการตามประกาศและข้อกำหนดที่ออกมา รวม 9 ข้อ กับโจทก์และประชาชน นับแต่วันที่ 21 ม.ค.2557

 

    ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้ง 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งตามฟ้องขณะนั้น ระงับการใช้ประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวม 9 ข้อ   และเป็นทางด้านฝ่ายจำเลยทั้งสามได้อุทธรณ์   แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

     จากนั้นจำเลยได้ยื่นฎีกาอีก  โดยขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว    เห็นว่าการที่แกนนำ กปปส.  ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงฯ ลงวันที่ 21 ม.ค.2557  แล ะ ขอให้เพิกถอนประกาศข้อกำหนดทุกฉบับที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ   รวมทั้งห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา  ห้ามจำเลยทั้งสามนำประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงฯ มาใช้บังคับที่จะออกประกาศและข้อกำหนดอื่น  

 

      รวมทั้งไม่ให้นำประกาศและข้อกำหนดนั้นมาใช้กับโจทก์และประชาชน โดยห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการบางประการด้วย   ซึ่งระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2557  มีการประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกทุกท้องที่ของประเทศ และวันที่ 22 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศเข้าควบคุมอำนาจปกครองประเทศ พร้อมกับออกประกาศให้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง และยังได้ออกประกาศฉบับที่ 7 /2557 ห้ามไม่ให้มีการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่มขณะนั้นได้ยุติและสลายการชุมนุมหมดแล้ว ดังนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ดังกล่าวตามฟ้อง รวมทั้งบรรดาประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดอื่นที่ออกตามประกาศดังกล่าว ซึ่งมีข้อความขัดกับกฎอัยการศึกนั้นย่อมต้องระงับไป โดยใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกแทน

 

     และเมื่อ คสช.เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศโดยประกาศให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองเดินทางกลับภูมิลำเนา  ซึ่งได้มีการยุติและสลายการชุมนุมหมดสิ้น จึงไม่มีเหตุที่จะต้องบังคับการคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีก ดังนั้นศาลฎีกาเห็นว่ากรณีจึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะวินิจฉัยคำฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามอีกต่อไป  จึงให้พิพากษายืนตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งดังกล่าว

 

   ล่าสุดจากการสอบถามกับ นายถาวร  เสนเนียม  อดีตแกนนนำกปปส.  ระบุว่า    จากคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นส่วนหนึ่งทำให้สามารถยืนยันได้ว่าการชุมนุมของกปปส.ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างถูกต้อง ชอบธรรม   เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายมาระงับยับยั้งได้    โดยทางกปปส.ก็จะใช้แนวคำพิพากษาดังกล่าวเป็นแนวทางการต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาในชั้นศาลต่อไป