อันตราย!!...ของการทำให้พุทธธรรมเป็นวิทยาศาสตร์
จริง ๆ ผมเคยเข้าไป comment ที่หน้าเพจของคุณ “วินทร์ เลียววาริณ” บ้างแล้ว แต่เห็นคุณวินทร์เงียบ และต่อมาเห็นโพสต์ของคุณวินทร์กลายเป็นข่าว ก็ขอจะพูดเรื่องนี้ตรงนี้ให้ชัด ๆ อีกครั้งครับ ถือซะว่าเป็นเสียงวิพากษ์เสียงหนึ่งจากคนที่ชื่นชอบผลงานของคุณวินทร์อยู่ มิได้มีเจตนาอย่างอื่น
ผมเข้าใจเจตนาของคุณวินทร์ที่อยากกระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถามและคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ แน่นอนครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็ดีกว่าคิดไม่มีเหตุผล แต่ที่จะบอกคือ ถ้าเพียงใช้ “ความคิด” และ “เหตุผล” เป็นเครื่องมือและลดทอนพุทธธรรมให้กลายเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นคือสิ่งที่ต้องระวังและอันตรายที่สุดครับ!!
1. “ความรู้” ในทางพุทธศาสนา (พุทธธรรม) มิใช่ความรู้ที่ได้มาด้วย “การอ่าน” ... ตรงนี้คืออันตรายที่สุดของปัญญาชนพุทธฯ หรือนักวิชาการพุทธฯ ซึ่ง “อ่าน” และ “แตกฉาน” ในคัมภีร์อย่างหาตัวจับได้ยาก
การท่องไตรปิฎกได้ทั้งหมด จดจำคำพระพุทธเจ้าได้ทุกคำ วิเคราะห์ข้อธรรมข้อต่าง ๆ ได้อย่างแตกฉาน โดยตัวมันเองไม่ใช่ “เงื่อนไขเพียงพอ” ที่จะเกิดความรู้ (หรือปัญญา) ทางพุทธศาสนา บางคนอ่านมากอาจนำไปสู่ “กับดักแห่งความหลง” ไปคิดว่าตัวเองรู้ (มากกว่าชาวบ้าน) จับโน่นนี่ไป “จินตนาการ” ประมาณ “ไอน์สไตน์พบ = พระพุทธเจ้าเห็น” ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดก็เป็น “นิยาย” ที่ตัวเองแต่งขึ้นมาตาม “การปรุงแต่ง” ของจิตตัวเองเท่านั้น
เช่นกันครับ การอ่านวิทยาศาสตร์ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ อย่างดีมันก็แค่ทำให้เรา “รู้จำ” ข้อความทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะวิทยาศาสตร์เองก็มีกระบวนการซับซ้อนทั้งทางวิธีวิทยา ทั้งทางสังคม ในการตัดสินว่าอะไรเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์
การรู้เพียงจากการ “อ่าน” อาจช่วยให้เปิดหูเปิดตา ความคิดเปิดกว้าง โลกไม่แคบ แต่ก็ต้องตระหนักว่ามันมีข้อจำกัดที่เอามาพูดบางอย่างไม่ได้ และอะไรที่พูดไม่ได้ด้วยข้อจำกัดของการ “อ่าน” ก็ไม่ควรพูด เพราะไม่ได้รู้จริงพอที่จะพูด หรือถ้าอดไม่ไหว อยากพูด ก็ต้องตระหนักว่ากำลัง “มโน” เกินไปกว่าที่ตัวเองรู้ และที่พูดอาจเป็นได้ทั้ง “วิทยาศาสตร์กำมะลอ” (Pseudo Science) หรือ “พุทธฯ กำมะลอ” (Pseudo Buddhism) ได้พอ ๆ กัน
2. ปัญญาในพุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากลำพังการคิดหรือการลำดับเหตุผล!! ปัญญาถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญของพุทธธรรมมากกว่าความรู้ (พระพุทธเจ้าเองเลือกที่จะไม่ตอบคำถามแนวความรู้หลายคำถามเพราะเห็นว่าไม่ได้ช่วยให้เกิดปัญญา) ตรงนี้เราต้องชัดครับว่า อะไรคือที่มาของปัญญาญาณทางพุทธศาสนา และอะไรที่ว่านั้นแตกต่างจากการได้มาของความรู้หรือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างไร?
หลวงปู่ หลวงตา ท่านไม่เคยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ท่านก็ “เข้าถึง” “หยั่งถึง” ธรรมชาติของจิตได้ด้วยวิธีการ “ปฏิบัติ” อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการ “ตื่น” ของจิต
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง ๆ และรู้เรื่องศาสนาตะวันออกมาก อย่าง “ออปเพนไฮเมอร์” กลับเป็นคนที่คิดค้นระเบิดปรมาณูสำเร็จ และไม่ได้มีปัญญาพอที่จะคำนึงถึงผลที่จะตามมาทางจริยธรรมของสิ่งที่เขาค้นพบ (แม้ว่าตนเองจะ “อ่าน” คัมภีร์ศาสนาตะวันออกอย่างแตกฉาน)
ในเบื้องต้นก่อนนะครับ พุทธศาสนาอาจมีบางมิติที่ดูมีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนาอื่น ๆ อาจมีนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจพุทธศาสนามากกว่าศาสนาอื่น โดยเฉพาะการค้นคว้าทดลองเรื่อง “การเจริญสติ” อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่เฟื่องฟูมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา (จากการสนับสนุนส่วนหนึ่งของทะไลลามะ)
แต่นั่นไม่ได้บอกว่า “พุทธ = วิทยาศาสตร์”
เท่าที่ติดตาม ผมคิดว่าทุกคนที่ทำงานตรงนั้นอยู่ชัดเจนเรื่องนี้ครับ เขาพูดในเรื่องที่เขารู้ (จริง) และพูดได้ และก็ชัดเจนพอที่จะไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องที่เกินขอบเขตของวิทยาศาสตร์ (อย่างเรื่องคุณวิเศษ เรื่องเหนือธรรมชาติที่มีอยู่เป็นปกติในทุกศาสนา) อย่างที่คุณวินทร์พยายามทำอยู่
ซึ่งเรื่องคุณวิเศษนี้ผมจะขอยกไปเขียนถึงในตอนต่อ ๆ ไปครับ
------------------------------------------------------------------
เวทิน ชาติกุล / เพจเปาบุ้นจุ้น