- 18 ม.ค. 2561
"ระยะทางพิสูจน์ม้า นาฬิกาพิสูจน์คน"!!"รสนา"จี้"นายกฯ" ใช้มาตรฐานเดียว พิสูจน์การปราบโกงว่าจะน่าเชื่อถือ หรือแค่ปาหี่ให้มหาชนโห่
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.61 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว " รสนา โตสิตระกูล "ถึงกรณีนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า ...
“ระยะทางพิสูจน์ม้า นาฬิกาพิสูจน์คนและกลไกรัฐ”
“ระยะทางพิสูจน์ม้า นาฬิกาพิสูจน์คนและกลไกรัฐ”
พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (16 ม.ค 2561) เรื่องปมนาฬิกาหรูว่า
“เป็นการวนเอาเรือนเก่ามา ผมไม่มีหรอก ผมมีเพื่อน เพื่อนเอามาให้ผมใส่แค่นั้นเอง และก็คืนเขาทั้งหมดทุกเรือน” และ
“ไม่เป็นไร ขอให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ ถ้าชี้ผมผิด ผมก็ออก การทำงานของ ป.ป.ช.ไม่สามารถแทรกแซงได้ เพราะเขามีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนของเขา”
คนที่ได้ฟังคำชี้แจงหรือแก้ตัวนี้ล้วนไม่มีใครเชื่อ ยิ่งบอกว่าป.ป.ช ไม่มีใครแทรกแซงได้ สังคมยิ่งมีข้อกังขา ดังที่รู้ๆกันใช่หรือไม่
เมื่อนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์ว่า “ปัญหาเรื่องนาฬิกาต่างๆ ที่นักการเมืองออกมาพูด ขอให้กลไกได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขอร้องว่าช่วงนี้อย่าใช้วาทกรรมเหล่านี้มาสร้างเวทีทางการเมือง และ พล.อ.ประวิตรก็พร้อมที่จะตอบเรื่องเหล่านี้ด้วย”
แต่กลไกที่ท่านนายกฯกล่าวถึง ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าการทุจริตเกิดขึ้นในระดับสูง จึงต้องใช้กลไกทางบริหารด้วย ดังเหตุผลที่ท่านนายกฯเคยใช้มาตรา44ในการโยกย้ายและ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ และข้าราชการท้องถิ่น 71 คนว่า
“ยังไม่ถือว่าทั้งหมดมีความผิด เป็นการรวบรวมรายชื่อที่มีการร้องเรียนอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งหมด ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญมากๆ หรือเป็นปัญหาใหญ่ก็จำเป็นต้องรื้อตำแหน่งระดับสูงให้ขยับออกมาก่อน เพื่อให้เกิดการสอบสวน หาพยานหลักฐานในเชิงประจักษ์ให้ได้ แต่ถ้าไม่ผิดก็กลับมาที่เดิม”
ยกตัวอย่างการใช้มาตรา44 ปลดผู้ว่ากทม.ออกจากตำแหน่ง และตั้งคนที่รัฐบาลคสช.ต้องการ ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินการตามกลไกกฎหมาย หรือการโยกย้ายข้าราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นออกจากตำแหน่งไปหลายร้อยคน ไม่มีข้อมูลรายงานผลการสอบสวนใดๆว่าแต่ละกรณีทุจริตหรือไม่อย่างไร
หลายคนถูกให้ออกจากตำแหน่งไปโดยไม่มีการสอบสวนความผิดจนเกษียณอายุราชการไปยกตัวอย่างเลขาธิการสปสช.นายกฯให้พ้นตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการ แต่ไม่มีการเรียกสอบสวนเลย ปิดคดีไปดื้อๆ หรือกรรมการกองทุนสสส.หลายคนที่ถูกให้ออกตามมาตรา44 และต่อมาสอบแล้วไม่พบว่ามีเรื่องทุจริต
เมื่อท่านนายกฯเคยกล่าวว่า “ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญมากๆ หรือเป็นปัญหาใหญ่ก็จำเป็นต้องรื้อตำแหน่งระดับสูงให้ขยับออกมาก่อน เพื่อให้เกิดการสอบสวน หาพยานหลักฐานในเชิงประจักษ์ให้ได้ แต่ถ้าไม่ผิดก็กลับมาที่เดิม”
ดังนั้น มาตรฐานเดียวกันนี้ จึงควรนำมาใช้กับกรณีของพล.อ ประวิตร เพื่อสอบให้ได้ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เหมือนกับที่ท่านเคยทำกับคนอื่นๆมาแล้ว
การที่ประชาชนตรวจสอบก็เพื่อให้กลไกของภาคตัวแทนทั้งภาคการเมือง ภาคราชการและองค์กรอิสระต่างๆที่มีหน้าที่ให้ทำงานด้วยความบริสุทธ์ ยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่วาทกรรม ถ้าเรื่องนี้จะเป็นวาทกรรม ก็ขอให้ท่านนายกฯนึกถึงวาทกรรมของคนโบราณที่ว่า “ช้างตายทั้งตัว อย่าเอาใบบัวปิด” เพราะทุกคนย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่อาจจะหนีพ้นได้ ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน
และเรื่องนาฬิกานี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่าทั้งคนและกลไกภาครัฐในการปราบโกงจะเป็นกลไกที่ได้รับความเชื่อถือ หรือจะเป็นเพียงปาหี่ให้มหาชนโห่เท่านั้น !!?
รสนา โตสิตระกูล
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก "รสนา โตสิตระกูล "