- 30 มิ.ย. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
จากประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กับกรณีการสอบถามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ขุดเจาะถ้ำหลวงของ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ถามว่าเป็นการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการขออนุญาตหรือยัง รวมไปถึงการเข้ามาสอบถามถึงใบอนุญาตการใช้โดรนจากเจ้าหน้าที่ ขณะกำลังซ้อมทำการบินเพื่อค้นหาผู้สูญหาย ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากสังคมอยู่ในขณะนี้
ประเด็นดังกล่าว พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องการสอบถามการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือนักฟุตบอลและโค้ชทั้ง 13 คน จนถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องนี้ว่า สำหรับเรื่องโดรนบินนั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนมาทำงานตรงนี้ก็คงไม่ได้ใช้เงินส่วนตัว มันก็ต้องเบิกหลวง หากคุณเบิกหลวงก็ต้องทำตามกฎหมาย เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะเบิกไม่ได้ มันก็ต้องมีกฎมีระเบียบ ในฐานะที่ตนเป็นคนรับผิดชอบ ตนสั่งงานไปก็ต้องถูกกฎหมายและสามารถเบิกงบประมาณแผ่นดินได้ และการดำเนินการจะได้ไม่ขาดตอนสามารถดำเนินการได้ทันที หากใช้งบประมาณแผ่นดินก็ควรทำให้ถูก มันไม่มีการล่าช้าและคลาดเคลื่อน ตนในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดูแล ตนต้องทำให้เป็นไปตามกฎหมายกฎระเบียบ ซึ่งกฎหมายบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้ไปยกเว้นกฎหมายอื่น
“ผมถามว่าแล้วใครมันรับผิดชอบตามกฎหมาย ชีวิตคนตั้ง 13 คน เราค้นหาไม่มีหยุด ผมถามว่าโดรนต้องมีใบ มีใบก็บินไป ผมใช้เวลาถามอยู่สัก 30 วินาทีเท่านั้น มันจะไปเสียเวลาอะไรหนักหนา ผมสั่งการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ผมเป็นผู้ใหญ่ ผมเป็นคนของประชาชน มันจะผิดตรงไหน มันไม่ดีเหรอ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าโซเชี่ยลที่มันลงพวกนั้นมันรับจ้างใครมา มันไม่บริสุทธิ์ใจหรอกท่าน ผมเรียนเลย คุณใช้งบประมาณแผ่นดิน จะมาซี้ซั้วได้ไง คุณเป็นคนของแผ่นดิน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายบรรเทาสาธารณภัยไม่ได้เว้นกฎหมายอื่น เห็นมีอัยการออกมา ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าว
ล่าสุดทาง เฟซบุ๊ก "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ที่เป็นเพจของจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กได้โพสต์ข้อความระบุว่า ข่าวเรื่องถ้ำหลวง พ่อแม่สามารถใช้คลิปนี้สอนเด็กๆได้เหมือนกันนะคะ ในเรื่องการพูดกับคนอื่นอย่างคิดถึงใจเขาใจเรา คิดถึงความรู้สึกของคนฟัง ในคลิปนายตำรวจท่านนี้กำลังถามวิศวกรท่านหนึ่งที่อาสามาช่วยงานช่วยเหลือเด็กๆที่ติดในถ้ำ ซึ่งหมอคิดว่าพ่อแม่สอนลูกได้เลยว่า เวลาคุยกับคนอื่นแม้ว่าเขาจะเป็นใคร เราควรใช้คำพูดและน้ำเสียงที่ให้เกียรติ หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี เช่นคำพูดเชิงประชดประชัน ที่บางครั้งคนพูดอาจไม่ได้ตั้งใจ เช่น อย่างที่นายตำรวจท่านนี้พูดว่า “ท่านอย่าไปเที่ยวเพลิดเพลินให้ดูกฎหมายด้วย” ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ไปเพลิดเพลิน เขากำลังไปช่วยคน ตรงนี้คนที่ฟังอาจจะรู้สึกแย่ได้ ทำให้ใจความสำคัญของการสื่อสารที่คิดว่าท่านต้องการสื่อว่า เป็นห่วงเรื่องข้อกฎหมายอาจไม่ไปถึงใจคนฟังอย่างที่ตั้งใจ #หมอมินบานเย็น
ขอบคุณ : เฟซบุ๊ก "เข็นเด็กขึ้นภูเขา"