- 29 ม.ค. 2562
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด สืบเนื่องจากกรณีมีกระแสลือว่า 4 รมต. แกนนำพรรคพลังประชารัฐเตรียมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อลงสนามการเมืองเต็มตัว ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงในแวดวงสนทนาการเมืองถึงคำครหาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์
เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด สืบเนื่องจากกรณีมีกระแสลือว่า 4 รมต. แกนนำพรรคพลังประชารัฐเตรียมลาออกจากตำแหน่ง เพื่อลงสนามการเมืองเต็มตัว ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงในแวดวงสนทนาการเมืองถึงคำครหาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยเพราะคล้ายเป็นการเหยียบเรือสองแคม ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง กระทั่งล่าสุดวันที่ 29 ม.ค. 2562 มีรายงานที่สยบทุกเสียงลือ ลบล้างทุกคำครหา เมื่อนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวภายหลังเข้าพบนายกฯว่า ตนขอแจ้งข่าวอย่างเป็นทางการว่า 4 รัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 30 ม.ค. เป็นต้นไป
โดยทั้ง 4 ประกอบไปด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ,นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ,นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อกราบลาในฐานะที่มีโอกาสได้ร่วมทำงานในคณะรัฐมนตรีมา อย่างไรก็ตาม นับแต่ 29 ก.ย. เป็นต้นมาซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของผู้ร่วมก่อตั้งพรรค พปชร. โดยทั้ง 4 คนปรากฏตัวต่อสื่อเป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้เคยมีการเน้นย้ำมาตลอดเวลาจะลาออกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
นายอุตตม กล่าวว่า "การที่เราปฏิบัติตัวตามนี้ อยากจะให้ถือว่าเป็นแนวความคิดของเรา สะท้อนเจตนารมณ์และความเชื่อของเราตั้งแต่ต้นว่าเราทำอย่างโปร่งใส ทำงานการเมืองอย่างมีเป้าหมาย ก้าวสู่การเมืองด้วยความมั่นใจ เป็นไปตามนั้น ไม่ได้เอาการเมืองนำ แต่ทำงานการเมืองโดยเอาประโยชน์ของประเทศชาติ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ภารกิจเสร็จสิ้นไปได้พอสมควร เราถึงมาทำงานการเมือง นายกฯก็รับทราบมาตั้งแต่ต้นว่าเราจะเดินแนวทางนี้ ในการเข้าพบนายกฯครั้งนี้ ท่านได้อวยพรขอให้สิ่งที่เรามุ่งหวังจะทำงานการเมืองนั้นให้ประสบความสำเร็จและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ส่วนตำแหน่งที่ว่างลงใครมาแทนแล้วแต่นายกฯจะพิจารณา"
มีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจถึงคำถามที่มีกระแสลือมาโดยตลอดว่าทางพรรคฯเตรียมเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาขึ้นบัญชีเป็นว่าที่นายกฯลำดับที่ 1 ซึ่งนายอุตตม ยังคงยืนยันว่า "ยังไม่ได้มีการทาบทามใครทั้งสิ้น และยังไม่ได้หารือว่าจะเชิญท่านไหนบ้าง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกระบวนการของพรรคที่ต้องพิจารณาและลงมติกันภายใน ตนเรียนว่าไม่ช้าแล้ว เพราะเห็นแล้วว่า 4-8 ก.พ.ต้องได้ข้อยุติ เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งผู้สมัคร ส.ส. และบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรค ดังนั้น เร็วๆ นี้แน่ไม่นานเกินรอ"
พร้อมทิ้งท้ายว่า เมื่อมาทำงานการเมืองเต็มตัวแล้ว พวกเรามีความมั่นใจ แต่ไม่ได้มั่นใจในตัวของพวกเราทั้ง 4 คน เพราะเรามั่นใจว่าประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งด้วยประสบการณ์ของพวกเราและพรรค พปชร.เรามั่นใจ ว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเดินหน้าทำงานการเมืองอย่างเต็มตัว ส่วนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชน ขอให้รอดูผลการเลือกตั้งเป็นหลัก เพราะเราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนพรรค พปชร.จะทำหน้าที่เต็มความสามารถ หากได้รับความไว้วางใจก็จะทำหน้าที่นั้นต่อไป
อย่างไรก็ตามบุคคลทั้ง 4 ก็ถือเป็นมือดีที่ทำงานรับใช้ประเทศ เคียงบ่าเคียงไหล่รัฐบาลคสช. มาโดยตลอด และมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์เพียงพอที่จะสร้างความน่าเชื่อถือบนถนนการเมืองในอนาคต จึงไม่แปลกใจที่พรรคพลังประชารัฐถูกจับตามองว่าอาจเป็นม้ามืดในสนามการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
สำหรับ นายอุตตม สาวนายน ผู้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เริ่มเส้นทางการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทั่งปี 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ได้ยื่นหนังสือลาออกเพื่อให้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นกระทรวงที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังจากการยื่นลาออกได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และในเดือน ธ.ค. 2559 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนผลงานชิ้นโบว์แดงนั้นคือการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ประกอบด้วยพื้นที่ของ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราเป็นโครงการที่สำคัญที่สุดในรัฐบาลปัจจุบัน ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ การขับเคลื่อนโครงการอีอีซีได้ ต้องขับเคลื่อนโดยองค์รวม ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน หัวใจหลักของอีอีซีจึงอยู่บนพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนทุกภาคส่วน ขั้นตอนการดำเนินโครงการจึงมีความซ้ำซ้อน แตาหากโครงการนี้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า
อีอีซีเป็นจุดเริ่มต้นการผลักดันไทยแลนด์ 4.0 แบบก้าวกระโดด โดยใช้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และการพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ แถมยังสามารถเป็นตัวอย่างให้กับการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต จะช่วยยกระดับรายได้ของครัวเรือนสู่กลุ่มรายได้ระดับสูงสร้างงานคุณภาพกว่า 100,000 ตำแหน่งต่อปีและมีโรงเรียนโรงพยาบาลระดับนานาชาติที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายพร้อมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อมระดับสากลด้วยการผลิตสมัยใหม่และมีกองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนอีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานเนื่องจากมีเทคโนโลยีใหม่ใหม่นวัตกรรมล้ำสมัยทำให้คนในชุมชนและคนที่จะเข้ามาประกอบอาชีพสามารถทำในสิ่งใหม่และทันสมัยได้เป็นอย่างดี อีอีซีคือความหวังใหม่ที่จะยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก
ถัดมากับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้ เป็นรองประธานและประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสัมมาชีพ อนุกรรมการคณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระมหามิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เลขาธิการสมาคมบ้านจัดสรร กรรมการองค์การสะพานปลา กรรมการสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กรรมการบริหารสมามการบรรจุภัณฑ์ไทย กรรมการมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ และตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ต่อมาได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ ขยับเก้าอี้จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผลงานส่วนใหญ่เป็นการดูแลเรื่องปากท้องของประชาชน พร้อมผลักดันการเปิดตลาดต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งค้าขายและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของชุมชน รวมถึงมีส่วนผลักดันร้านธงฟ้าประชารัฐเชื่อมโยงกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เน้นดูแลเศรษฐกิจฐานรากตลอดมา
และล่าสุดกับการผลักดันให้คณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ที่มีมติให้นำเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์มาอยู่ในบัญชีสินค้าที่ต้องควบคุมราคา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายจะนำสินค้าที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและเสี่ยงที่จะฉวยโอกาสขึ้นราคาเข้าบัญชีสินค้าและบริการที่ต้องควบคุม เพื่อแก้ปัญหาการใช้ยา และค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่แพงริบริ่ว ด้วยที่นายสนธิรัตน์ พบว่า รัฐบาลของสิงคโปร์และมาเลเซีย ได้เริ่มเข้ามาดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเพดานขึ้นมาควบคุม เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ๆ โดยชี้ให้เห็นว่า หากมีราคากลางจะส่งผลให้ผู้ทำประกันไม่ต้องจ่ายเบี้ยแพงอย่างในปัจจุบัน
ขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากมติ ครม. เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะมีผลบังคับใช้และครอบคลุมค่ารักษาพยายาลรอบด้านหรือไม่ ซึ่งหากสำเร็จไปได้ด้วยดีจะถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์เลยเลยทีเดียว
ส่วนนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เรียกได้ว่าเป็นผู้หันเหเส้นทางชีวิตจากนายแบงค์อนาคตไกลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะเข้าสู่การเมืองเต็มตัวเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2559 ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทย ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 โดยตลอดเวลาที่รับใช้ประชาชนภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช. ได้สร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนส่งเสริมให้บริษัทไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ หรือการบูรณาการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ถือได้ว่าเป็นมันสมองของรัฐบาลอย่างแท้จริง
และสุดท้ายกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเป็นผู้อำนวยการ SIGA เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในปี 2557 และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จากนั้นในเดือนธันวาคมปี 2559 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้ความรู้ความสามารถผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ในทุกมิติ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
เพียงพอที่จะก่อเกิดเป็นจินตนาภาพถึงอนาคตที่จะมีบุคลากรมากความสามารถเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ หากพรรคพลังประชารัฐได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เรียกได้ว่าต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าเส้นทางการเมืองของทั้ง 4 จะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรืออาจเปี่ยมไปด้วยอุปสรรคขวากหนามซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป