- 21 ก.พ. 2562
ดื้อรั้นไม่มีใครเกิน!! "ดร.สามารถ"อัดหนักอีกรอบ ทอท.เมินข้อท้วงติงสภาพัฒน์ ดันทุรังสร้าง"เทอร์มินัล 2" ไม่ตรงแผนแม่บท
ถือเป็นหนึ่งประเด็นร้อนที่มีการติดตามมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการออกแบบที่ขัดหลักการในหลาย ๆ ด้าน จนมีทักท้ววงจากหลายฝ่าย กระทั่งต่อมาบอร์ดทอท.ได้ยกเลิกการว่าจ้างแผนการออกแบบที่เคยมีการอนุมัติไปก่อนหน้า
โดยทางด้าน นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธานได้มีมติให้ยกเลิกมติบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2561 สำหรับการอนุมัติให้ ทอท.จ้างกลุ่มนิติบุคคล ร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก (บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด เป็นแกนนำ) เป็นผู้รับจ้างงานสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เดิม ซึ่งเคยประกวดแบบไว้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบการใช้งาน จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน
ส่วนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (Terminal concourse A Annex วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น บอร์ด ทอท.รับทราบตามที่ฝ่ายบริหารเสนอให้เดินหน้า ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ขออนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ จากที่ได้หารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษาสนามบิน (Airport Consultative Committee : ACC) ซึ่งสนับสนุนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัด และรองรับการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association (IATA) ได้สอบถามความคิดเห็นสายการบินที่เป็นสมาชิกแล้ว เห็นว่าควรมีการก่อสร้างเช่นกัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (AOC) เนื่องจาก AOC ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าสายการบินในเรื่องความแออัด
เนื่องจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และแนวนโยบายของประเทศที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการคมนาคมขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการอาจทำให้บริษัทสายการบินต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการบิน นอกจากนั้นเห็นว่าการขยายส่วนต่อข้างอาคารผู้โดยสารปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแออัดได้
ส่วนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับ และสายการบินต้องเสียต้นทุนอย่างมหาศาล สายการบินจึงต้องการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal concourse A Annex) เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศได้ภายในอาคารเดียวกัน และเห็นด้วยกับการนำหลุมจอดของ Concourse A และ B และ C มาควบรวมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2
อย่างไรก็ตามกับการตัดสินใจของบอร์ด ทอท. ก็มีความเห็นในเชิงคัดค้านตามมา อาทิเช่น มุมมองความเห็นของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตามประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้น
โดยบทความล่าสุดของ ดร.สามารถ มีเนื้อหาใจความสำคัญ ลงลึกไปถึงข้อทักท้วงต่าง ๆ ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้บอร์ดทอท.พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะหากเกิดความผิดพลาด เสียหายใด ๆ จะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ และรวมถึงการเฝ้าจับตาว่าที่สุดแล้วผู้รับผิดชอบในระดับนโยบาย รวมถึงสภาพัฒน์จะดำเนินการต่อกรณีนี้อย่างไร " ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ปรากฏว่าบอร์ด ทอท.มีมติให้ ทอท.เดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือเทอร์มินัล 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิบนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทต่อไป ทั้งๆ ที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ได้ทักท้วงและเสนอแนะให้ ทอท.ดำเนินการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทที่วางไว้ ดังนี้
1. เร่งขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ซึ่งออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553
2. เตรียมโครงการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันตก
3. เร่งก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งจะอยู่ทางทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ไม่ใช่บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บท ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งมอเตอร์เวย์
ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 มีการเสนอข่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงคมนาคมได้ส่งความเห็นของสภาพัฒน์ไปให้ ทอท.พิจารณา และให้ดำเนินการตามความเห็นสภาพัฒน์”
หลังจากนั้นไม่นาน คือเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 มีการเสนอข่าวความคิดเห็นของผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของสภาพัฒน์ โดย ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตั้งข้อสังเกตว่า “สภาพัฒน์จะรู้เรื่องการบินดีกว่า ทอท.ที่เป็นผู้บริหารสนามบินหรือไม่”
ผมไม่ทราบว่าเลขาธิการสภาพัฒน์ซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคมโดยมีข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นจะรู้สึกอย่างไรต่อข้อสังเกตของ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถ้าเป็นผมคงรู้สึกไม่ดีแน่ๆ
สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 20 (10) ของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2561 ระบุให้สภาพัฒน์มีหน้าที่และอำนาจ “ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย แผน แผนงาน และโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเร่งรัด ปรับปรุง หรือเลิกล้มโครงการพัฒนาอันหนึ่งอันใดเมื่อเห็นสมควร”
ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.สภาพัฒน์ระบุหน้าที่และอำนาจของสภาพัฒน์ไว้ชัดเจนเช่นนั้น ทอท.จะต้องรับฟัง จะตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าสภาพัฒน์จะรู้เรื่องการบินดีกว่า ทอท.หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ รมว.คมนาคมซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ทอท.ได้ส่งความเห็นของสภาพัฒน์ไปให้ ทอท.พิจารณา และให้ดำเนินการตามความเห็นสภาพัฒน์ แต่ ทอท.ก็ยังไม่ยอมทำตาม
ผมอยากให้ ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ย้อนพิจารณาถึงการคัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทของกลุ่มบริษัทอีพีเอ็มซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ ทอท. และทอท.ยอมรับในความเชี่ยวชาญด้านการบินของบุคลากรทั้งไทยและต่างประเทศที่ทำงานในสังกัดของอีพีเอ็ม แม้กระนั้นก็ตาม ทอท.ก็ยังไม่ยอมทำตามข้อเสนอแนะของอีพีเอ็มที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดยอีพีเอ็มได้เสนอให้ขยายเทอร์มินัล 1 ก่อน และตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บท
แทนที่จะทำตามคำแนะนำของสภาพัฒน์ รมว.คมนาคม และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาอีพีเอ็ม ทอท.กลับไปทำตามความเห็นของสมาคมขนส่งทางอากาศ (International Air Transport Association หรือ IATA) ที่อ้างว่าได้สอบถามความเห็นสายการบินที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ แล้ว พบว่าสายการบินสนับสนุนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดย ทอท.ได้นำความเห็นของสมาคมฯ เสนอต่อบอร์ด ทอท.ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้บอร์ด ทอท.ไม่ท้วงติงการเดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ของ ทอท.แต่อย่างใด
การนำความเห็นของสายการบินมาอ้างนั้นไม่น่ารับฟังได้ทั้งหมด เนื่องจากสายการบินไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบของการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 อย่างละเอียดรอบคอบ คงคิดแค่เพียงว่าการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารในเทอร์มินัล 1 ได้เท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงความไม่สะดวกของผู้โดยสารที่ต้องใช้รถไฟฟ้าถึง 3 สาย ประกอบด้วยลอยฟ้า 2 สาย และใต้ดิน 1 สาย ไม่ได้คำนึงถึงการต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าถึงกว่า 30,000 ล้านบาท และใช้เวลานานกว่าการขยายเทอร์มินัล 1 และคงไม่รู้ว่าเทอร์มินัล 2 จะไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปีตามที่ ทอท.อ้าง
ทั้งหมดนี้ จึงน่าคิดว่าอะไรทำให้ ทอท.ไม่ยอมทำตามคำแนะนำของสภาพัฒน์ และของ รมว.คมนาคม แต่กลับไปทำตามความเห็นของสมาคมขนส่งทางอากาศซึ่งไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพัฒนาประเทศไทยเลย หากมีความเสียหายเกิดขึ้น สมาคมฯ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ
จึงน่าติดตามว่า รมว.คมนาคมและสภาพัฒน์จะมีท่าทีอย่างไรกับความดื้อรั้นของ ทอท.???