- 27 ก.พ. 2562
องค์การเภสัชกรรมปลูกแล้ว ปลูกจริง กัญชาทางการแพทย์ต้นแรกที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอาเซียน (AEC)
นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การ เภสัชกรรม ร่วมในพิธี ซึ่งหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้องค์การฯ ดำเนินการปลูกกัญชาทางแพทย์สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิด น้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย
โดยในวันนี้เป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้นแรกในอาเซียน ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชาที่ใช้ปลูกครั้งนี้เป็นเมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสม ที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ต้องทำให้กัญชาของประเทศไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 ที่ออกมา หลักการ คือ ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการวิจัยและทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ กัญชายังเป็นพืชเสพติด และไทยเข้าร่วมอนุสัญญายาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หากเอาไปใช้โดยไม่ใช่ทางการแพทย์จะผิดอนุสัญญาตรงนี้ ซึ่งท่านประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB)
ยังบอกว่า การที่ไทยออก พ.ร.บ.นี้ออกมา ถูกต้องครบถ้วนตามที่ยูเอ็นและนานาชาติให้ความเห็น ดังนั้น เราต้องเร่งที่จะทำให้กัญชาเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะหลายชาตินำไปแล้วหลาย 10 ปี เช่น แคนาดา อิสราเอล แม้ พ.ร.บ.จะออกมาเพื่อกันต่างชาติ ให้คนไทยพัฒนาและใช้ประโยชน์ใน 5 ปี โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งตนตั้งเป้าอยากให้พัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อสู้กับต่างชาติให้ได้ภายใน 2-3 ปี เพราะหลังจาก 5 ปีแล้วต่างชาติจะเฮเข้ามา เราต้องเตรียมพร้อม
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาต่างชาติใช้กัญชาทางการแพทย์มาก่อนเรา จึงต้องเร่งพัฒนาสารสกัดให้ได้คุณภาพระดับเมดิคัลเกรด เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง อภ.ได้รับกัญชาของกลางมาพัฒนาเป็นยา แต่พบว่มีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเยอะมาก จึงต้องพัฒนาให้ได้คุณภาพที่สุดด้วยการทุ่มงบประมาณ10 ล้านบาท เพื่อทำการปลูกกัญชาในรูปแบบระบบปิดในพื้นที่ 100 ตารางเมตร ซึ่งจะมุ่งเน้นให้เป็นพืชยามาตรฐานสากล
โดยต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.ประสิทธิผล ใช้เป็นยาที่มีคุณภาพอย่างไร เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารสำคัญต่างกันใช้รักษาโรคต่างกัน จะปลูกกพันธุ์ไหนรักษาโรคอะไร 2.เรื่องความปลอดภัย ไม่มียาฆ่าแมลง ปนเปื้อนโลหะหนัก และ 3.คุณภาพจองแต่ละล็อต สารสำคัญต้องคงที่ โดยเฉพาะสารทีเอชซีและซีบีดี ทั้งหมดจึงเรียกว่าเป็นเมดิคัลเกรดหรือเกรดใช้ทำยาได้ เพราะอยากให้คนไทยใช้ของมีคุณภาพและได้ผลจริง
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า เหตุที่ต้องใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท เพราะเราเซตมาตรฐานไว้ การได้กัญชามาทำยา ต้องเป็นระดับความคงตัวสารตั้งต้น ดอกและสายพันธุ์ต้องคงตัว ทำให้เป้นต้นแบบ ลงทุนเรื่องโรงเรือน ระบบปลูกที่ใช้ทคโลโลยี อินดอร์ เร่งการผลิตได้คงตัว สม้ำเสมอ ระบบรัษาความปลอดภัย ให้เป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งจากแผนกำหนดการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ หลังจากปลูกในวันนี้ จะใช้เวลาในการปลูก 4 เดือน และคาดว่าจะสกัดสารออกมาเป็นน้ำมันชนิดหยดใต้ลิ้นได้ในช่วง ก.ค.นี้ จำนวน 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี โดยจะนำมาใช้รักษาในกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนแล้ว 4 โรค คือ ผลข้างเคียงจากการรับคีโมรักษามะเร็ง ลมชัก ปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีในกลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โดยการใช้น้ำมันกัญชาจะเป็นโครงการความร่วมมือกับโครงการวิจัยต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้ตั้งอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเตรียมสถานที่ เก็บรักษา ควบคุมการปลูก และข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานของเมดิคัลเกรด ซึ่งในส่วนของ อภ.ที่จะทำการปลูก ได้ผ่านมาตรฐานทั้งหมด เช่น มาตรฐานโรงเรือน มีความมิดชิด มาตรฐานที่ตั้ง เป็นเอกเทศ โครงสร้างแข็งแรง เรื่องข้อกำหนดระบบความปลอดภัย การติดกล้องวงจรปิดรอบทิศทาง การเคลื่อนย้ายต้นกัญชา แผนรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแล ผู้รับผิดชอบ ประตูเข้าออก ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสำรองข้อมูล และต้องพร้อมให้ตรวจกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดการลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งเราหวังให้เป็นต้นแบบมาตรฐาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ป.ป.ส. แจงผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตและอนุญาตให้ผลิต นำเข้าและส่งออก “กัญชา”
- ราชกิจจาฯแพร่ประกาศ "นิรโทษครอบครองกัญชา"
- ป.ป.ส. เปิดสายด่วน 1386 ให้ประชาชนสอบถามเรื่อง “กัญชา” เริ่ม 27 กุมภาพันธ์
ขอบคุณ
องค์การเภสัชกรรม