- 17 มี.ค. 2562
บิ๊กป้อม ยกย่อง วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา เป็นข้าราชการคนสำคัญของแผ่นดิน หลังถึงแก่อนิจกรรม
สืบเนื่องจากวานนี้ (16 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 'นายวีรชัย พลาศรัย' เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงแล้วเมื่อเวลาเที่ยงคืน 43 นาที (เวลาที่วอชิงตันดีซี) หรือเวลา 11 นาฬิกา 43 นาที (เวลาประเทศไทย) โดยมีรายงานว่าเขาได้เข้ารับการรักษาตัวในห้อง ICU ที่โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากอาการไขข้อกระดูกอักเสบอย่างรุนแรง
กระทั่งล่าสุดวันนี้ (17 มีนาคม) 'พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์' โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า 'ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้แสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้ง หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของ 'นายวีรชัย พลาศรัย' เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยได้กล่าวแสดงความอาลัยว่า "ถือเป็นการสูญเสียข้าราชการคนสำคัญของแผ่นดิน ที่ควรค่าแก่การยกย่อง
พร้อมทั้งกล่าวชื่นชม นายวีรชัย ถึงการทุ่มเท เสียสละและมีส่วนสำคัญยิ่งในการปฏิบัติราชการแผ่นดินที่สำคัญๆในเวทีระหว่างประเทศที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำหน้าที่หัวหน้าคณะต่อสู้และชี้แจงต่อศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร
รวมทั้งมีส่วนสำคัญยิ่งในการประสานขับเคลื่อนและผลักดันแก้ปัญหาวิกฤติสำคัญๆของชาติในเวทีระหว่างประเทศจนประสบความสำเร็จ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของประเทศอย่างมาก ทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ( IUU ) , ปัญหาการบินพลเรือน ( ICAO ) , ปัญหาการค้ามนุษย์ , ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น"
อย่างไรก็ตามประวัติของ 'นายวีรชัย' เป็นบุคคลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเคยสร้างคุณงามความดีไว้มากมายให้แผ่นดินไทย และเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การจดจำ ... 'นายวีรชัย พลาศรัย' ชื่อเล่น 'แสบ' เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2503 ภรรยาชื่อ 'นางอลิซาเบธ พลาศรัย' ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะหัวหน้าคณะต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารการชี้แจงต่อศาลโลกกรณีคดีปราสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ ประวัติการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รุ่น12)เคยเข้าศึกษาที่ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท มหาวิทยาลัยปารีส (นองแตร์) ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ฝรั่งเศส ระดับประกาศนียบัตร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน
ประวัติการทำงานเลขานุการตรี กองแอฟริกา และกลุ่มอาหรับ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (เจ้าหน้าที่การทูต 10) สำนักงานปลัดกระทรวง 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (นักบริหาร 10) 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551 กรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (กรุงเฮก) 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา.
เรื่องราวชีวิตของท่านทูต ถูกนำเสนอออกมามากมาย หนึ่งในนั้นก็คือชีวิตอีกมุมหนึ่ง ดังเช่นที่เขาบอกเล่าไว้ว่า ในวัยเด็กอยากเป็น 2 อย่างคือ ทูตกับผู้พิพากษา “แต่มาวันนี้เป็นทูต เพราะมองว่าผู้พิพากษา เรามีเป้าหมายเป็นประธานศาลฎีกา
แต่ว่าประธานศาลฎีกานั้น เป็นยากกว่า เพราะในแต่ละครั้งมีคนเดียว แต่ทูตมีพร้อมๆ กัน 50-60 คน โอกาสเป็นทูตจึงมีสูงกว่า อีกอย่างคือได้ทุนด้วย คุณแม่ขอไว้ว่า ไม่ให้เป็นนักดนตรีอาชีพ จะเล่นก็เล่นได้ แต่ไม่ให้เป็นอาชีพ ขอว่าถ้าไม่มาทางการทูตก็ให้เป็นผู้พิพากษา ถ้าทำได้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทูตวีรชัย พลาศรัย ผู้ต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร เสียชีวิตแล้ว!
- "บิ๊กป้อม" คืนความสุข มอบคืนโฉนดที่ดินให้ปชช.ลดความเหลื่อมล้ำ