- 26 เม.ย. 2562
วิบากกรรม "หุ้นอลเวง" !? งานนี้ถ้าผิดจริง ไม่ใช่ซวยแค่ "ธนาธร" สุ่มเสี่ยงโดนยุบพรรค-มารดาติดร่างแหไปด้วย!?
ยังคงต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดกับสถานการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่ดูจะไม่ค่อยสู้ดี เสมือนการยืนอยู่บนหุบปากเหวของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นหัวหน้าพรรค ที่ออกอาการลูกผีลูกคนจากคดีที่ยาวเหยียด ตามกระชั้นชิดจ่อจี้คอ ทำเอากลุ่มผู้สนับสนุนถึงกับหายใจกันไม่ทั่วท้อง
จากกรณีล่าสุดที่ยังดูเหมือนยังคงเป็นความคลุมเครือของเจ้าตัวที่ไม่อาจแถลงไขความกระจ่างยืนยันความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างสะอาดหมดจรด จากปมการถือครองหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ก่อนหน้าเมื่อตั้งข้อสังเกตดูจะพบได้ว่า นายธนาธรยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ ลักษณาการแค่เพียงเพื่อพยายามหักล้างข้อสังเกตุของสื่อมวลชนเป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น ทำให้ท้ายสุดจึงนำมาซึ่งการแจ้งข้อกล่าวหาของกกต. เมื่อ วันที่ 23 เมษายน 2562
เนื่องจากในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ร้องว่านายธนาธร ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 1 เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3) อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว มีหลักฐานเบื้องต้นฟังได้ว่า นายธนาธรเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้นตั้งแต่ 1350001-2025000กกต.จึงได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธนาธร โดยมอบหมายให้เลขาธิการ กกต. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและรับฟังพยานหลักฐานแทน ตาม พ.ร.ป. คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 ข้อ 64 และให้ดำเนินการไต่สวนให้สิ้นกระแสความ
ทั้งนี้ตามข้อกล่าวหาข้างต้น นายธนาธร มีสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำหรือมีหนังสือชี้แจงแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการชี้แจงแสงดหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา”
เพื่อความกระจ่างต่อกรณีดังกล่าวมากขึ้นทางสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รายงานว่า วันที่ 21 มี.ค.2562 บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมการบริษัทฯ ได้ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ชุดใหม่ จำนวน 5 คน ไม่มีรายชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเคยถือจำนวน จำนวน 675,000 หุ้น
และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยานายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้น จำนวน 225,000 หุ้น จากเดิมจำนวน 10 คน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 ประมาณ 3 วัน ขณะที่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”
นายธนาธร ได้ชี้แจง เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2562 นายธนาธรว่า ตนและภรรยาโอนหุ้นไปนางสมพร มารดา ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา 1 เดือนก่อนการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีปัญหาทางด้านคุณสมบัติในการสมัคร ส.ส. พร้อมกับโพสต์แสดงตราสารการโอนหุ้น ฉบับลงวันที่ 8 ม.ค.2562
อ่านข่าว : "แก้วสรร" แถลงไข วิบากคดี "ธนาธร-ปิยบุตร" กับ ผลร้ายที่สุดของ"พรรคอนาคตใหม่"!?
ต่อมา สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2562 (หลังบริษัทฯ ยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น 1 วัน) บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยนางสมพร ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท (แบบ บอจ.1) แจ้งว่า นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ลาออก จากกรรมการ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2562 มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.2562 ในการประชุมผู้ถือหุ้นแจ้งการลาออก เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562 มีกรรมการ/ผู้ถือหุ้นเข้าประชุม จำนวน 10 คน นับจำนวนหุ้นได้ 4,500,000 หุ้น โดยนางสมพร เป็นประธานที่ประชุม
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อนายธนาธรและภรรยาโอนหุ้นให้นางสมพรตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 ผู้ถือหุ้นจึงน่าจะเหลือ 8 คน มิใช่ 10 คนตามที่ระบุในเอกสารการประชุมของบริษัทฯ ดังนั้นจึงเป็นข้อถกเถียงกันว่า แท้ที่จริงแล้วมีการโอนหุ้นเมื่อไหร่กันแน่ ระหว่างวันที่ 21 มี.ค.2562 (วันที่บริษัทฯยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนกรมการค้า) กับ วันที่ 8 ม.ค.2562 (ตามคำชี้แจงประกอบเอกสารตราสารการโอนหุ้นของนายธนาธร)
วันที่ 29 มี.ค. 2562 นายธนาธรชี้แจงว่า บริษัทฯปิดกิจการเมื่อปลายปี 2561 การประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 เกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากตนอยู่จ.สุราษฏร์ธานี และนางรวิพรรณ อยู่บ้านทั้งวัน หน้าที่ของตนในฐานะผู้ถือหุ้น พอขายหุ้นเสร็จ การจะไปยื่นจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่บริษัทที่ทำหน้าที่ในการยื่นเอกสาร ไม่ใช่ความรับผิดชอบของตน ยืนยันว่าโอนหุ้นตั้งแต่ 8 ม.ค.2562
กระทั่งช่วงค่ำของงวันที่ 2 เม.ย.2562 นายธนาธรออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้งสรุปยืนยันว่า ได้โอนหุ้น จำนวน 675,000 หุ้น ด้วยการขายให้นางสมพรตั้งแต่ 8 ม.ค.2562 โดยนางสมพรได้จ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนบางนา-ตราด (เซ็นทรัลซิตี้) ขีดคร่อมผู้ถือ (A/C PAYEE ONLY) ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 สั่งจ่ายนายธนาธร เป็นหลักฐาน นอกจากนี้ นางรวิพรรณ ภรรยาก็โอนหุ้นจำนวน 225,000 หุ้น
ให้นางสมพรด้วย หลังจากนั้น 14 ม.ค.2562 นางสมพรได้โอนหุ้นเดิมของนายธนาธร ต่อไปให้คุณเอหลานชายคนที่ 1 และโอนหุ้นเดิมของภรรยาไปให้คุณบีหลานชายคนที่สอง ทำให้ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562 มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 4 คนและมีผู้รับมอบฉันทะซึ่งรับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นซึ่งมิได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองทั้ง 6 คน รวมเป็น 10 คน จากนั้นวันที่ 21 มีนาคม 2562 หลานชายทั้งสองคนได้โอนหุ้นกลับคืนให้นางสมพร ตามลำดับ
พร้อมกับคนอื่นอีก 3 คนก็โอนหุ้นให้นางสมพรด้วย จึงเหลือผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 21 มี.ค.2562 จำนวน 5 คน และนางสมพรนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ต่อมา วันที่ 3 เม.ย.2562 สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า วันที่ 8 ม.ค.2562 ที่นายธนาธรอ้างว่า ทำตราสารโอนหุ้นให้นางสมพรต่อหน้าพยาน 2 คนนั้น สื่อมวลชนอย่างน้อยหลายสำนัก รายงานว่านายธนาธรเดินทางไปเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดบุรัมย์ ทั้ง 8 เขต และก่อนหน้านั้นวันที่ 7 ม.ค.2562 เดินทางไปช่วยผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงใน จ.สุรินทร์
กรณีนี้ยังเป็นข้อสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้วมีการโอนหุ้นเมื่อไหร่กันแน่ ระหว่างวันที่ 21 มี.ค.2562 (วันที่บริษัทฯจดทะเบียนต่อนายทะเบียนกรมการค้า) กับ วันที่ 8 ม.ค.2562 (ตามคำชี้แจงประกอบเอกสารตราสารการโอนหุ้นของนายธนาธร)
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าวิบากกรรมในครั้งนี้หากนายธนาธรมีความผิดจริง อาจเป็นการฉุดทั้งพรรคอนาคตใหม่ลงเหวโดยไม่รู้ตัว เมื่อนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธาน กมธ.ด้านการเมือง สปท. ได้เผยแพร่ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ไว้เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
คำว่า “การเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” มีความหมายเพียงใด ? ซึ่งเทียบเคียงกับ พรป.เลือกตั้ง สส. มาตรา 54 วรรคสองได้บัญญัติว่า “หากผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิดหรือไม่แจ้งข้อเท็จจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม”
ดังนั้น ตาม พรป.เลือกตั้ง สส. มาตรา 132 วรรคแรกได้บัญญัติว่า “ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หาก กกต.เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (หมายถึงการปกปิดหรือไม่แจ้งข้อเท็จจริงเรื่องคุณลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 98 ประกอบ พรป.เลือกตั้ง สส.มาตรา 42) เช่นนี้ กกต.มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครได้ที่กระทำการดังกล่าวไว้เป็นการขั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ กกต.มีคำสั่ง....”
ขณะนี้มีผู้สมัคร สส.หลายคน ที่มีทีท่าว่าจะมีคุณลักษณะต้องห้ามสมัคร สส.ดังกล่าว ซึ่งผู้สมัครที่กระทำการข้างต้นหากเป็นการกระทำของหัวหน้าพรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคด้วยแล้วให้ กกต.เสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคนั้นได้ด้วย ตาม มาตรา 132 วรรคสาม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย และยังอาจถูกดำเนินคดีอาญาตามวรรค 5 อีกด้วย
ดังนั้น ที่มาออกตัวกันว่า “การขาดคุณลักษณะต้องห้ามสมัคร สส.ไม่ใช่เป็นเรื่องทุจริตเลือกตั้ง”นั้น ไม่จริงหรอก เพราะคนที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วไปสมัคร สส.ไม่ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายล้วนเป็นการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมทั้งสิ้น และ กกต.ยังมีอำนาจหน้าที่ในการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น ตามมาตรา 138 อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้เพราะทางด้าน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมถึกรณีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม บัญญัติว่า การโอนหุ้นให้แก่กันจะนํามาใช้แก่บริษัท หรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งช่ือและสํานักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๗๓/๒๕๔๓ ว่า การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม เมื่อโจทก์ขายหุ้นแล้วมิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์ เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าได้มีการโอนหุ้นไปแล้วเพื่อใช้ยันจำเลยคือกรมสรรพากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ โจทก์จึงต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของบริษัทฯ มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อ้างว่าได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 แต่เมื่อไม่ได้นำไปจดแจ้งการโอนโดยระบุชื่อและที่อยู่ของผู้รับโอนในทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน ตามแบบ บอจ.5 จึงอ้างการโอนหุ้นใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้
การไปยื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในระหว่างวันที่ ๔-๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้แจ้งการโอนหุ้นต่อนายทะเบียนแต่เพิ่งแจ้งเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ในทะเบียนของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยังปรากฎชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ จึงไม่อาจอ้างว่าได้มีการโอนหุ้นไปแล้วเพื่อใช้ยัน กกต. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้
ดังนั้น กกต.จึงต้องฟังว่าในวันที่นายธนาธรไปยื่นสมัครรับเลือกตั้งนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ นายธนาธรจึงมีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และ พรป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 42(3) คือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมมีความผิดตาม พรป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 151 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี
อนึ่งที่กล่าวมาเป็นความเห็นทางกฎหมาย ผู้ใดจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นดุลพินิจของแต่ละคน แต่แม้ไม่เห็นด้วยผู้ที่เป็นอารยชนย่อมไม่ด่าด้วยคำหยาบเฉกเช่นผู้ไร้การศึกษาและขาดการอบรมสั่งสอนจากบุพการีเพราะมีนิสัยเหมือนกัน
หากทั้งหมดทั้งมวลคงไม่มีอะไรสำคัญเหนือไปกว่าผลกระทบที่อาจตามมาเป็นลูกโซ่ถึงนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นมารดาของนายธนาธร หากตัดสินว่านายธนาธรมีความผิดจริงที่ย่อมไม่พ้นการติดร่างแห เพราะน่าตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าในกรณีที่การดำเนินการโยกย้ายหุ้นมีความไม่โปร่งใส
อันมีเหตุมาจากการพยายามสร้างหลักฐานเท็จเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อหวังผลทางการเมืองนั้น อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา ลักษณะ7 ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง หมวด3 ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร มาตรา 266 ข้อ 3 ใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทหรือสองแสนบาท
และนั่นอาจหมายถึงว่าไม่ใช่นายธนาธรเท่านั้นที่ต้องรับผลจากการกระทำหากไม่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของตนได้ แต่จะเป็นการฉุดเอาทั้งผู้เป็นมารดารับกรรมร่วมกันอย่างหนีไม่พ้น...บทสรุปจะเป็นอย่างไรต้องจับตาอย่างใกล้ชิด!!