- 09 พ.ค. 2562
เพื่อไทยหงายเงิบ!ศาลปกครองไม่รับฟ้องสุรพลร้องโดนใบส้ม ชี้กกต.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ คำสั่งเป็นที่สุดแล้ว
จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีคำสั่งที่ 191 / 2562 สั่งระงับสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิวัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด เนื่องจากมีหลักฐานจากภาพถ่ายว่า นายสุรพลได้ถวายเงินให้กับพระสงฆ์จำนวน 2,000 บาท และทาง กกต.ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค. 62 โดยไม่ต้องมีการสมัครใหม่นั้น
ทั้งนี้นายสุรพล ได้ออกมายอมรับว่า มีการถวายปัจจัยทำบุญให้กับพระครูบาสาม หรือ พระปลัดสาม ฐานวโร เจ้าอาวาสวัดดอยพระเจ้า ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเคารพนับถือด้วยการใส่ซองทำบุญ 2,000 บาท แต่กลับมีการกลั่นแกล้งโดยการจัดฉาก ถ่ายภาพ สร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาด้วยการเขียนชื่อตนเองลงบนซอง นำไปรวมกับเงินของหมู่บ้าน ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทาง กกต.ทราบแล้ว และ กกต.ระบุว่า ไม่ติดใจ แต่กลับมีการให้ใบส้มกับตนเอง
“จึงได้มาร้องขอความเป็นธรรมกับศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ กกต.มีการพิจารณายกเลิกการให้ใบส้มและรับรองผลการเลือกตั้งของตนเอง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และระงับการจัดการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ ออกไปก่อน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทราบผลการพิจารณาคำร้องของศาลปกครองสูงสุดก่อนวันที่ 26 พ.ค.นี้”
ต่อมาล่าสุด(8พ.ค. 62) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่ นายสุรพล ฟ้องขอเพิกถอนมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพลไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี และสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการที่ กกต.มีมติให้ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพลไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี และมีมติสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ทั้งเขตเลือกตั้งที่ 8 ของจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นการดำเนินการตามมาตรา 225 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 132 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และมาตรา 41 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.
อีกทั้งมาตรา 225 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ยังบัญญัติให้คำสั่งตามวรรคหนึ่งของ กกต.เป็นที่สุด การกระทำของ กกต.ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญของ กกต. ข้อพิพาทคดีนี้ จึงมิใช่กรณีที่เป็นการดำเนินการของ กกต.ในการจัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 17 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.