- 23 พ.ค. 2562
ธีระชัยอดีตรมว.คลังงัดกฎกกต.สหรัฐฉีกหน้าปิยบุตร ชี้ชัด!พรรคการเมืองจะกู้เงินหัวหน้าพรรคทำไม่ได้
จากกรณีเมื่อวานนี้(22 พ.ค. 2562) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงกรณีเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่จากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยช่วงหนึ่งระบุว่า เราต้องการทำพรรคอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ พยายามให้ตรวจสอบเงินของพรรคได้ ในเวลานั้นที่เราเปิดรับบริจาคและระดมทุน กกต.ห้ามพรรคขายของ แล้วจะนำงบที่ไหน กฎหมายให้กรรมการบริหารพรรคบริจาคได้คนละไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่มีใครมีเงินขนาดนั้น เราจึงศึกษากฎหมายทั้งหมด พบว่าพรรคการเมืองในต่างประเทศเป็นหนี้ธนาคารเต็มไปหมด
“ดังนั้น พรรคการเมืองกับการกู้เงินจึงเป็นเรื่องปกติ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมรายได้ของพรรคอยู่ แต่เงินกู้ไม่มีระบุไว้ พรรคการเมืองถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน เมื่อไม่เขียนจึงสามารถทำได้ และจากการตรวจสอบพรรคการเมืองหลายๆ พรรคในไทยก็กู้เงิน เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยใหม่ มีเอกสารยืนยัน กรณีนี้ไม่ใช่นายธนาธร ครอบงำพรรค แต่มีสถานภาพที่ให้กู้เงินได้ หากนายธนาธร อยากครอบงำพรรคจริงๆ คงไม่ทำสัญญาเงินกู้ อย่าจับจ้องการใช้เงินของพรรคเราเพียงอย่างเดียว ขอให้ไปตรวจสอบพรรคอื่นๆ ด้วยว่ามีการใช้เงินหรือที่มาของเงินกันอย่างไร”
ล่าสุด นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุว่า “พรรคการเมืองในต่างประเทศกู้เงินได้หรือไม่?”
ข่าว 22 พ.ค.62-นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่ต้องกู้เงินจากจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ร้อยกว่าล้านบาทว่า
“ ... กฎหมายให้กรรมการบริหารพรรคบริจาคได้คนละไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่มีใครมีเงินขนาดนั้น
ดังนั้นเราจึงศึกษากฎหมายทั้งหมด ทั้งยังพบว่าพรรคการเมืองในต่างประเทศเป็นหนี้ธนาคารเต็มไปหมด ดังนั้นพรรคการเมืองกับการกู้เงินจึงเป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมรายได้ของพรรคอยู่ แต่เงินกู้ไม่มีระบุไว้ พรรคการเมืองถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน เมื่อไม่เขียนจึงสามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม”
ผมแสดงกฎของ กกต. สหรัฐ ที่ระบุว่า
“กรณีบุคคลธรรมดาให้กู้แก่พรรคนั้น ถือเป็นเงินบริจาคอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นเฉพาะถ้าพรรคกู้จากสถาบันการเงินโดยตรงเท่านั้น”
และแม้แต่ผู้ที่ขายสินค้าหรือบริการให้พรรคการเมือง ก็ต้องไม่ให้เครดิตยาวนานกว่าที่ให้แก่รายอื่นๆ และกฎสหรัฐยังระบุด้วยว่า
“กรณีบุคคลธรรมดาใช้เงินของตนเอง หรือใช้เครดิตของตนเองเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายให้แก่พรรค ให้ถือเป็นการบริจาคอย่างหนึ่ง”
ดังนั้น กรณีที่พรรคการเมืองกู้เงินจากสถาบันการเงิน น่าจะไม่มีปัญหา แต่กรณีกู้จากหัวหน้าพรรคเกิน 10 ล้านบาท ตัวอย่างตามหลักเกณฑ์ในสหรัฐ ถือว่าทำไม่ได้
ส่วนกรณีที่พิจารณาว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งตราบใดที่ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามกู้เงิน ก็ย่อมทำได้นั้น
ผมเห็นว่าจะมีข้อถกเถียงกันได้
เนื่องจากพรรคการเมืองจัดตั้งตามกฎหมายมหาชน มิใช่ไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ตามกฎหมายบริษัทมหาชน
อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการบางรายที่แสดงความเห็นชัดเจนว่า พรรคการเมืองกู้จากหัวหน้าพรรคได้ จึงต้องให้ กกต.และศาลเป็นผู้พิจารณา
แต่ขอย้ำว่า กกต.ควรจะเร่งมือการตรวจสอบเรื่องโต๊ะจีน พปชร. ด้วย และมีการแถลงความคืบหน้าเป็นระยะๆ
และถึงเวลาที่ กกต.จะต้องปรับกติกาของไทยให้เป็นสากลในทุกด้าน
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- อ้างประเทศชาติแต่หวังผลประโยชน์!! "ดร.เสรี" ไขคำตอบ เหตุใดรัฐบาลตั้งยาก?? ลั่นเอาแต่ได้กันทั้งนั้น!
- ราชกิจจาฯประกาศสถานที่สำหรับใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว