- 30 ส.ค. 2562
ดร.สามารถ จัดชุดใหญ่ ถามแทนใจคนไทย ทอท. คิดอะไรกับเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ต่อไปสุวรรณภูมิแออัด..ใครจะรับผิดชอบ??
เรื่องเก่ายังไม่จบมาเรื่องใหม่ สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เกิดกรณีปัญหาข้อพิพาทระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในประเด็นโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ชนิดที่ต้องเฝ้าจับตาว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง ขณะที่สถานการณ์ร้อนว่าด้วย เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ก็ยังไม่จบ เพราะกระแสคัดค้านยังรุนแรง ในหลากหลายมิติ
โดยเฉพาะกับมุมมองของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ที่ไล่ลำดับความเห็นมาเป็นขั้นเป็นตอน โดยชี้ให้เห็นว่าจะเกิดปัญหาในระยะยาว หากทอท.ยังดันทุรังเดินหน้าแผนก่อสร้างที่ขัดแย้งกับภาพที่ควรจะเป็น และแนวการออกแบบซึ่งผ่านกระบวนการคิดจากหลายฝ่ายก่อนหน้า
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ดร.สามารถ ย้ำอีกรอบทอท.อย่าดันทุรังแผนสร้าง ถ้าเสียหายต้องรับผิดชอบ)
ล่าสุด ดร.สามารถ โพสต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อย้ำให้เห็นว่าที่ผ่านมา แผนแม่บท เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ มีการดำเนินการมาอย่างไร และ องค์ประกอบว่าด้วยคุณสมบัติ ท่าอากาศยานนานาชาติในอนาคต อยู่ในระดับเหมาะสมขนาดไหน ตามรายละเอียดปรากฎดังนี้
"เวลานี้สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นประตูสำคัญของประเทศไทยมีผู้โดยสารแน่นแออัด สร้างความไม่สะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งทำให้ผู้โดยสารล่าช้าเสียเวลา เป็นผลให้คุณภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิลดลง ด้วยเหตุนี้ Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจการบินและจัดอันดับสนามบินดีเด่นของโลกเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้จัดให้สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในอันดับที่ 46 ร่วงลงมาจากอันดับที่ 36 ในปี พ.ศ.2561
ในปี พ.ศ.2561 สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร 62.8 ล้านคน ในขณะที่มีความจุ 45 ล้านคนต่อปี นั่นหมายความว่ามีปริมาณผู้โดยสารมากกว่าความจุของสนามบินถึง 17.8 ล้านคน จึงทำให้สนามบินแน่นแออัด
ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาได้ และทำไมบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จึงไม่เร่งขยายสนามบินให้ทันกับการเพิ่มของปริมาณผู้โดยสาร ปล่อยให้ผู้โดยสารแน่นแออัดได้อย่างไร ใครจะต้องรับผิดชอบ? เป็นคำถามที่ผู้สนใจต้องการคำตอบ
ผมได้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ และได้ทำเสร็จในปี พ.ศ.2536 ในฐานะวิศวกรของบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของอเมริกา
แผนแม่บทนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักดังนี้ (1) อาคารผู้โดยสารหรือเทอร์มินัล 2 หลัง ประกอบด้วยเทอร์มินัล 1 อยู่ทางทิศเหนือด้านมอเตอร์เวย์ และเทอร์มินัล 2 อยู่ทางทิศใต้ด้านถนนบางนา-ตราด (2) อาคารเทียบเครื่องบินรอง (สำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอขึ้นเครื่องบิน) 2 หลัง ตั้งอยู่ระหว่างเทอร์มินัล 1 และเทอร์มินัล 2 (3) รถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) วิ่งใต้ดินเชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับเทอร์มินัล 2 และ (4) รันเวย์ 4 เส้น ตั้งอยู่ด้านตะวันตก 2 เส้น และด้านตะวันออก 2 เส้น องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี
แผนแม่บทดังกล่าวมีการวางแผนการก่อสร้างเป็นระยะๆ ดังนี้
ระยะที่ 1 สร้างเทอร์มินัล 1 สร้างรันเวย์ 1 และรันเวย์ 2 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2549 ทำให้สนามบินมีความจุ 45 ล้านคนต่อปี ซึ่งขณะนี้สนามบินก็ยังคงมีความจุเท่าเดิมคือ 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และรถไฟฟ้าไร้คนขับช่วงที่ 1 หรือ APM 1 เชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 สนามบินจะมีความจุเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 60 ล้านคนต่อปี (45+15)
ระยะที่ 3 ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันตก สร้างรันเวย์ 3 จะทำให้สนามบินมีความจุเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 75 ล้านคนต่อปี (60+15)
ระยะที่ 4 สร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 สร้างรันเวย์ 4 และรถไฟฟ้าไร้คนขับช่วงที่ 2 หรือAPM2 เชื่อมระหว่างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 กับหลังที่ 2 รวมทั้งเชื่อมกับเทอร์มินัล 2 จะทำให้สนามบินจะมีความจุเพิ่มขึ้น 45 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 120 ล้านคนต่อปี (75+45)
แผนแม่บทดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการก่อสร้าง และเนื้องานที่ระบุไว้ในช่วงเวลาของการก่อสร้างบ้างเป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสาร แต่ไม่มีการเพิ่มหรือลดองค์ประกอบหลักของสนามบิน เช่น เทอร์มินัล เป็นต้น
ถึงเวลานี้การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิยังอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ก่อสร้างในปี พ.ศ.2553 และให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2560 แต่จนถึงขณะนี้ (สิงหาคม 2562) การก่อสร้างระยะที่ 2 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือ ทอท.ยังไม่เริ่มขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก ทั้งๆ ที่ได้ออกแบบเสร็จแล้ว และได้รับอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว แต่ ทอท.เปลี่ยนใจจะไปขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันตกแทน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ออกแบบ และยังไม่ได้ศึกษาอีไอเอ ที่สำคัญ ครม.ก็ยังไม่ได้อนุมัติ
อะไรเป็นเหตุให้ ทอท.ไม่ยอมขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก? ผู้สนใจคงหาคำตอบได้ไม่ยาก
ในขณะที่ไม่ยอมขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก แต่ ทอท.กลับมุ่งมั่นที่จะสร้างเทอร์มินัล 2 ซึ่งผิดแผนแม่บทหรือที่เรียกกันว่า “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” ที่ไม่เคยมีอยู่ในแผนแม่บทมาก่อน แต่เสมือนถูกตัดมาแปะไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายดังที่ผมได้กล่าวแล้วในหลายบทความที่ผ่านมา
เช่น (1) ไม่ทำให้สนามบินมีความจุเพิ่มขึ้น เพราะ ทอท.ไม่สามารถก่อสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มเติมได้ (2) ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย เพราะจะต้องใช้ APM ถึง 3 สาย ประกอบด้วย APM ลอยฟ้า 2 สาย และ APM ใต้ดิน 1 สาย ทำให้เหนื่อย สับสนวุ่นวายก่อนจะได้ขึ้นเครื่อง และ (3) ทำให้เพิ่มปัญหารถติดบนมอเตอร์เวย์
เนื่องจากเทอร์มินัล 2 ตัดแปะจะตั้งอยู่ด้านมอเตอร์เวย์ ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้มอเตอร์เวย์เข้า-ออกสนามบิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ถูกคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพถึง 12 องค์กร และผู้หวังดีหลากหลายกลุ่ม
อนึ่ง ทอท.มักอ้างว่า เหตุที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะก็เพราะว่าองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ได้แนะนำให้ทำเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงไอเคโอได้แนะนำไว้เมื่อปี พ.ศ.2554 ในกรณี ทอท.ใช้เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น เลิกใช้สนามบินดอนเมือง ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดมารวมอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดไอเคโอได้มีหนังสือตอบ ทอท.ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 สรุปได้ว่า ไม่ยืนยันที่จะสนับสนุนให้ ทอท.ก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ เนื่องจากไอเคโอได้แนะนำไว้นานแล้ว แต่ ทอท.ไม่ได้ทำตามคำแนะนำ ที่สำคัญ คงเป็นเพราะ ทอท.ไม่สามารถแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ
การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งล่าช้าอยู่แล้ว ยิ่งล่าช้าเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากการไม่ทำตามแผนแม่บท เป็นผลให้สนามบินสุวรรณภูมิแน่นแออัด หาก ทอท.เร่งก่อสร้างระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2560 ตามที่กำหนดไว้หลังจาก ครม.อนุมัติในปี พ.ศ.2553 ก็จะทำให้สนามบินมีความจุ 60 ล้านคนต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ไม่ใช่มีความจุเพียงแค่ 45 ล้านคนต่อปี สนามบินก็จะไม่แน่นแออัดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญ สนามบินสุวรรณภูมิคงได้รับการจัดอันดับสนามบินดีเด่นของโลกให้อยู่ในอันดับที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่อันดับที่ 46
น่าเสียดายที่ ทอท.ไม่เร่งก่อสร้างสนามบินระยะที่ 2 ตั้งแต่ ครม.อนุมัติในปี พ.ศ.2553 ซึ่งในขณะนั้น มีผู้โดยสาร 42.5 ล้านคน น้อยกว่าความจุของสนามบิน น่าเสียดายที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ดังเช่นสนามบินชางงีของสิงคโปร์ ซึ่งครองแชมป์ติดต่อกันมานานหลายปีแล้ว ถ้า ทอท.เดินตามแผนแม่บทมาอย่างต่อเนื่อง สนามบินสุวรรณภูมิคงมีโอกาสได้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกดังเช่นสนามบินชางงีอย่างแน่นอน
ที่เป็นเช่นนี้ ทอท.จะโทษคนอื่นไม่ได้ นอกจากตัวเอง!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สนามบินฮ่องกงประกาศยกเลิกเที่ยวบินขาเข้าและขาออกทั้งหมด
-กงสุลใหญ่ฯเตือนคนไทย สนามบินฮ่องกงประกาศสถานการณ์พิเศษ
-ทหาร-ตำรวจ เฝ้าระวังตรวจเข้มแนวรถไฟฟ้า และสนามบิน หลังเกิดเหตุป่วนเมืองกรุงหลายจุด (คลิป)
-สนามบินเชียงใหม่ แจงสาเหตุพาวเวอร์เเบงค์นักท่องเที่ยว