- 26 มี.ค. 2563
พรรคก้าวไกล อาการหนัก โดนโซเชียลถล่ม วิพากษ์เหน็บการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาการเมืองนำหน้า
สืบเนื่องจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่างถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี และนำมาซึ่งมติในการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อยกระดับมาตรการเพิ่มเติม สำหรับการรับมือไวรัสโควิด-19 บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร โดยมีตนเองทำหน้าทีประธานศูนย์อำนวยการฯ ในการออกข้อบังคับ และการกำหนดกรอบอำนาจการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เป็นไปอย่างทันสถานการณ์มากขึ้น
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : รองวิษณุฯ แถลงประกาศ 16 ข้อกำหนด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งปิดทุกช่องทางเข้าไทย บังคับทุกจว.ปิดทุกพื้นที่เสี่ยงโควิด)
ต่อมาทางพรรคก้าวไกล นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ออกแถลงการณ์ มีเนื้่อหาบางส่วนในชิงเหน็บแนม การตัดสินใจประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุ พรรคก้าวไกลมีความเห็นว่า การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาล เพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เแต่วิกฤตที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าก่อนหน้านี้กฎหมายปกติอ่อนแอ หรือคณะรัฐมนตรีมีอำนาจน้อยเกินไป แต่หัวใจของปัญหาที่นำมาสู่วิกฤตเกิดจากการที่รัฐบาลขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การวางแผนอย่างไม่รอบคอบ
พร้อมย้ำด้วยว่ารัฐบาลต้องไม่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รวมถึงการที่รัฐบาลและพนักงานเจ้าหน้าที่ ยังมีอำนาจไปถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง เช่น อำนาจจับกุม ควบคุมตัว ตรวจค้น ตรวจสอบการสื่อสาร และกำหนดโทษร้ายแรง โดยข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือ การกระทำตาม พ.ร.ก. นี้ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. นี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่ฉวยโอกาสใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้อำนาจอย่างได้สัดส่วนต่อการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เท่านั้น และต้องให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และสมควรแก่เหตุหรือไม่
ล่าสุด อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กระบุว่า "พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์คัดค้านการที่รัฐบาล ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับเพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด -19
ขอชื่นชมพรรคก้าวไกลที่เห็นว่าเสรีภาพในการแพร่เชื้อของโควิด -19 มีความสำคัญยิ่งกว่าการที่คนไทยจะต้องเจ็บป่วยหรืออาจถึงแก่ความตายเพราะโควิด -19 การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับเพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด -19 เพื่อจำกัดเสรีภาพของโควิด 19 ของรัฐบาลจึงไม่อาจกระทำได้ คนไทยก็ควรส่งเสริมเสรีภาพของโควิด 19 ด้วยการไม่ใช้หน้ากากอนามัยเหมือน ส.ส.พรรคก้าวไกลเพื่อให้โควิด 19 แพร่เชื้อได้อย่างเสรีดังเช่นการแพร่เชื้อในบางประเทศในทวีปยุโรป
ทั้งนี้ช่วงท้ายของโพสต์ดังกล่าว ระบุว่า พรรคก้าวไกลควรต้องออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย กับการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินของประเทศต่างๆ นับสิบประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้ก่อนประเทศไทยด้วย
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบกับเพจเฟสบุ๊คพรรคก้าวไกล พบว่ายังคงมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ การทำหน้าที่ของพรรคก้าวไกลในเชิงลบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการตำหนิวิธีคิดแบบนักการเมือง ที่ไม่รู้กาลเทศะ และมองทุกอย่างในรูปของการเอาชนะทางการเมืองเท่านั้น