- 21 เม.ย. 2563
หม่อมปลื้ม ไม่จบไม่สิ้น เดินหน้ากดดันรัฐบาลเร่งเปิดประเทศ อ้างตัวเลขผู้ป่วยลดลงมาก ไม่ควรล็อคดาวน์ คุกคามเสรีภาพประชาชน งานนี้ โบว์ ณัฏฐา โดดร่วมแจมด่าไปถึงโฆษกศบค.
ภายหลังออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนัก ในการแสดงความเห็นเชิงคัดค้านของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ หม่อมปลื้ม เรื่องการเลื่อนเปิดเทอมตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเกรงว่าจะได้รับกระทบจากการแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสงบนิ่งโดยสิ้นเชิง และปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ความหย่อนยาน หรือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุม มีโอกาสสูงทำให้เชื้อไวรัส กลับมาแพร่ระบาดได้อีกครั้ง และยิ่งกลายเป็นความยากลำบากในการควบคุมสถานการณ์ โดยเฉพาะปริมาณผู้ป่วยที่เป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อในลักษณะของเชื้อไวรัส ที่้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยารักษาอาการป่วยโดยตรง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์กลับว่า เป็นความเสี่ยงในระดับสูง ถ้าเร่งรีบให้มีการเปิดภาคการศึกษา ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์โรคระบาดยังเป็นปัญหากับหลายชาติทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : หม่อมปลื้มเร่งหนัก เทียบโควิดระบาดไทย เป็นปท.อื่นเปิดหมดแล้วทุกกิจกรรม )
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ก็ไม่หยุดโจมตีแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการล็อคดาวน์ และการบังคับใช้กฎหมาย ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีส่วนสำคัญทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลดลงตามลำดับ
จนล่าสุดภายหลัง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย (ประจำวันที่ 21 เม.ย.) ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 19 คน ยอดป่วยสะสม 2,811 ราย โดยมีเสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมผู้เสียชีวิตเป็น 48 คน และมีผู้หายป่วยแล้ว 2,108 คน เหลือยังรักษาตัวอยู่ในรพ.จำนวน 655 ราย
พร้อมกับเน้นย้ำการดูแลสถานการณ์ด้วยความรอบคอบ ว่า "การจะมีมาตรการผ่อนปรนหรือยกเลิกนั้น จะต้องศึกษาจากมาตรการของประเทศต่างๆด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็มีมาตรการที่ต่างกันออกไป เช่น สหรัฐ ฯ เรียกร้องให้มีการผ่อนปรน อิหร่านให้มีการผ่อนปรนในระดับต่ำ เช่น แท็กซี่ต้องมีระบบการป้องกัน สเปน ขยายการปิดเมืองอีก 15 วันมีผลถึง 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการเลื่อนปิดเมืองเป็นครั้งที่ 3
ทั้งนี้ ครม. จะมีการประกาศอีกครั้งว่า จะมีการผ่อนปรนมาตรการจะเกิดขึ้นที่จังหวัดไหนและเวลาใด ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ โดยศบค.ร่วมกับรัฐบาล จะมีการตัดสินโดยใช้ข้อมูล สถิติ ความเห็นจากนักวิชาการ และภาคธุรกิจ มาช่วยกันคิดหาทางออก เนื่องจากสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ปากท้องก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ชีวิตต้องอยู่ได้ก่อน เศรษฐกิจและสังคมจึงจะตามมา จึงขอฝากประชาชนให้ร่วมมือกันทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อต่ำ 10 อย่างน้อยต่อเนื่องไปอีก 14 วัน โดยยังคงสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านให้เป็นชุดพฤติกรรมใหม่ หรือ New Normal ซึ่งไทยอาจจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่มีการจัดการสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศได้เป็นอย่างดี"
จากนั้นไม่นาน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ หรือ หม่อมปลื้ม ก็โพสต์แสดงความเห็นอีกครั้ง ด้วยข้อความว่า "รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 655 ราย ป่วยเพิ่ม 19 คน หมดเหตุผลสำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเเละหยุดปิดสถานที่ต่างต่างอย่างนี้ได้เเล้ว!"
ขณะเดียวกันก็มีการโพสต์เพิ่มเติมในภายหลัง แสงความเห็นเรื่องกำหนดเปิดเทอมการศึกษาอีกครั้ง บางช่วงบางตอนว่า ".....สถานการณ์มันเข้าสู่สภาวะปกติเเล้ว ชีวิตต้องกลับมาเดินหน้าตามปกติ ไม่ใช่มานั่งหดหัวอยู่บ้านกันต่อเเล้วไม่ยอมให้เด็กไปโรงเรียน ตัวเลขที่ศบค.เเถลงทุกวันดูบ้างไหม หรือ เเค่ให้โฆษกเเถลงไปวันวัน อย่าอ้างว่าหมอจากสธ.มากดดันนะครับ ตอนนี้มันจบเเล้ว เปิดเศรษฐกิจ เปิดโรงเรียน คืนสภาพชีวิตให้เราทุกคน จะมานั่งอยู่ในบ้านต่ออีก 2 เดือนใช้ส่วนไหนของสมองคิด คนไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของรัฐ สิทธิในการประกอบอาชีพเเละการเข้าถึงการศึกษานั้นมี เลิกนโยบายที่เกินเลยสักที"
ขณะที่ก่อนหน้านั้น ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็โพสต์ทวิตเตอร์ ข้อความว่า "วันนี้ผู้ติดเชื้อใหม่ 19 ราย เหลือผู้ป่วยโควิด 655 คน ในประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคนและอุณหภูมิเกือบ 40 องศา โฆษกกล่อมประสาทคนบอกให้ตัวเลขเหลือต่ำสิบต่อเนื่อง 14 วัน (จึงจะหยุดล็อคดาวน์?) ขอเรียกร้อง ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ นับตัวเลขคนผูกคอตายสะสมเอามาแถลงด้วยค่ะ #รัฐบาลประสาท"
ทางด้าน พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า สำนักข่าวเยอรมันเยอรมันประโคมข่าวว่า " บ้าละ ที่คนออกมาเที่ยวในสวนแบบไม่สนใจกฎหมายเรื่องโควิดของเยอรมนี ... บางท่านอาจว่าเขามาตากแดด ตามคำแนะนำของผู้นำบางประเทศ แต่ผมเห็นว่านี่ล่ะ ความรักในสิทธิและเสรีภาพของฝรั่งยิ่งกว่ากลัวความตาย คนไทยเราอาจจะรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคย ผมเลยเอามาแสดงให้ดูบ่อย ๆ หวังว่าจะไม่ว่ากัน
ข่าวในสหรัฐฯ ที่หลายรัฐ อย่างเช่นในเท็กซัสก็ประท้วงไม่ใส่หน้ากาก รัฐอื่น ๆ อย่างฟลอริดาก็ให้หยุดการกักตัว ซึ่งคนไทยส่วนมากยังไม่เข้าใจอารมณ์ของฝรั่ง ในเยอรมนี ผมเดาเอานะเขารู้ว่ารัฐบาลเขามีระบบสาธารณสุขที่ดี เขากักตัวเองจนพ้น 14 วันมาสองรอบแล้ว รู้สึกว่าถ้าเว้นระยะห่างได้พอ ใส่หน้ากากเวลาจำเป็น ไม่ต้องตลอดเวลา ก็มีความปลอดภัย คนเยอรมันมีวินัยสูง คงไปหาว่าเขาไร้วินัยยากมาก ลองฝึกคิดแบบฝรั่งบ้างก็ดีนะครับ ใช้เหตุผลและวิทยาศาสตร์เยอะ ๆ เพื่อลองดูสังคมในมุมอื่น ๆ บ้าง วิกฤติแบบนี้มีเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้นให้วิเคราะห์ได้ดีทีเดียวน่าสนุกมาก"
ประเด็นดังกล่าว ถ้าย้อนกลับไปฟังสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อธิบายก็จะเกิดคำถามกลับไปยังกลุ่มบุคคล ที่พยายามเรียกร้องให้เร่งปลดล็อคประเทศในทุกด้านมาโดยตลอด ว่ามีเจตนาแฝงอะไร นอกเหนือจากความคิดที่นำเสนอผ่านโซเชียล
เนื่องจากนายกรัฐมนตรีระบุว่า "เรื่องการพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันอังคารหน้า ว่าจะต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือ สถิติต่างๆ และทางด้านการสาธารณสุขจะเป็นตัวชี้วัดสิ่งเหล่านี้ ส่วนตัวเลขต่างๆที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ผู้รักษาหายมากขึ้น ล้วนเกิดจากการที่พวกเราทุกคนร่วมมือกัน คงไม่ใช่รัฐอย่างเดียว หากประชาชนร่วมมือกันมากก็จะลดลงได้มาก และเรื่องการผ่อนปรนก็จะมากขึ้นในอนาคต
"ผมทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั้นคือสุขภาพ ถ้าที่มีการบาดเจ็บ สูญเสีย ล้มตายกันมากกว่านี้แล้วจะทำอย่างไร สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดถ้าทำอะไรเร็วเกินไป มีแรงกดดันสูง โดยที่มันไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก แต่เป็นการระดมให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล หรือให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมา สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะสูญเสียเป็นศูนย์ในทันที และจะเรียกกลับมาไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน จึงจะมีมาตรการดังกล่าวมาได้ อันนี้ขอให้รับทราบด้วย"
ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในอาเซียน จากการประมวลข้อมูลโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 มีรายละเอียดดังนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศ
-สิงคโปร์ +1,111 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 9,125 ราย)
-อินโดนีเซีย +375 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 7,135 ราย)
-ฟิลิปปินส์ +140 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 6,599 ราย)
-มาเลเซีย +57 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 5,482 ราย)
-ไทย +19 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 2,811 ราย)
-พม่า +8 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 119 ราย) ข้อมูลย้อนหลังหนึ่งวัน
-บรูไน +0 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 138 ราย)
-เวียดนาม +0 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 268 ราย)
-กัมพูชา +0 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 122 ราย)
-ลาว +0 ราย (รวมติดเชื้อสะสม 19 ราย)
โดยเฉพาะกรณีของสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ถึงขั้นประกาศ ขยายเวลามาตรการเข้มงวด Circuit Breaker เพิ่มเติมอีก 4 สัปดาห์ จนถึง 1 มิถุนายน 2563 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มจากให้ประชาชนอยู่กับบ้านมากขึ้น การเพิ่มมาตรการควบคุมจุดที่อาจแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย (hot spots) เช่น ตลาดสด โดยควบคุมการเข้าออกตลาดและลดจำนวนคนที่ใช้บริการ และเพิ่มการปิดกิจการต่างๆ เพื่อลดคนไปทำงานลงอีก