- 19 ส.ค. 2563
ล่าสุด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวชี้แจง กรณีพรรคก้าวไกลขอถอนชื่อ ส.ส.ออกจากการร่วมเสนอญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า เนื่องจากมีจุดที่เห็นต่างกัน เกี่ยวกับการกำหนดไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
ถึงแม้จะมีความคืบหน้าในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แต่โดยข้อเท็จจริงก็ยังมีรายละเอียดต้องพิจารณาในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. และ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ อย่าง นายอานนท์ นำภา ที่ประกาศชัดเจนถึงแนวทางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ขณะที่ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา สะท้อนความเห็นอีกแง่มุม โดยเน้นย้ำเรื่องคะแนนเสียงประชามติ อันนำมาซึ่งการบังคับใช้กฎหมายปกครองสูงสุดของประเทศ
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : อ.ชูชาติ มองต่างม็อบ รุกกดดันแก้รธน. ชี้ควรทำประชามติ ฟังเสียงส่วนใหญ่คนไทย )
ล่าสุด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวชี้แจง กรณีพรรคก้าวไกลขอถอนชื่อ ส.ส.ออกจากการร่วมเสนอญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า เนื่องจากมีจุดที่เห็นต่างกัน เกี่ยวกับการกำหนดไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ปิดล็อคและเป็นวิกฤตในตัวมันเอง ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองทุกวันนี้ ไม่มีเหตุผลอื่นแล้วที่จะไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และ
ในหมวดที่ 1 เคยมีการแก้ไขอยู่แล้ว หลายครั้งทั้งปี 2540 และปี 2550 แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องถ้อยคำ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของหรือมาจากประชาชนชาวไทย
ส่วนหมวดที่ 2 มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 กำหนดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้อยู่แล้ว พรรคก้าวไกลจึงขอสงวนสิทธิ์ ไม่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในร่างฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดบางประการที่พรรคก้าวไกลต้องขอสงวนไว้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามจะผลักดันต่อไป
"ทั้งนี้ด้วย 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน เป็นประเด็นหลัก ซึ่งประชาชนและนักศึกษาเห็นร่วมกันแล้ว จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยจริงๆ เพื่อให้มีการพูดคุยกันได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการรับฟังที่เป็นระบบและเราต้องการความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยทุกความคิดเห็น จะถูกนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อย่างเป็นระบบเพื่อพิจารณา จนท้ายที่สุดแล้วเมื่อมีการแก้ไขเสร็จสิ้น ก็จะมีระบบประชาพิจารณ์เข้ามากำหนดอีกครั้งหนึ่งว่า ผลการแก้ไขจะเป็นอย่างไร ขณะที่จุดยืนของพรรคก้าวไกล มั่นใจว่า มาตรา 255 จะเป็นตัวกำหนดทิศทางให้ไม่สามารถอธิบายเป็นอื่นไปได้ ในภาพรวมจึงจะไม่กระทบและยืนยันว่า ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่อาจแบ่งแยกได้”
ส่วนจะมีข้อคำถามทำให้เข้าใจว่า พรรคก้าวไกลจะเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ โดยเฉพาะกับข้อเรียกร้อง 10 ของกลุ่มนักศึกษา นายณัฐวุฒิ ย้ำว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ระบุอยู่แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถูกล็อกไว้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเขียนเพิ่มเติมว่าจะยกเว้นการแก้ไขในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 รวมถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา 10 ข้อ ก็ไม่กระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพียงแต่พรรคก้าวไกลคิดว่าสังคมไทยต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะและรับฟังกันอย่างเปิดกว้าง โดยเมื่อมีส.ส.ร.ก็ให้ส.ส.ร. รับข้อเสนอของทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีการแตะในส่วนของมาตรา 255 แต่จะมีการพิจารณาในส่วนที่สังคมไทยเรียกร้องและถกเถียงอย่างมีวุฒิภาวะ
"ก่อนหน้านี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พูดในสภาฯถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนในสังคมไทย ว่า เราควรจะเปิดกว้างให้มีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้อย่างมีวุฒิภาวะ ดังนั้นเมื่อมีส.ส.ร.ขึ้นแล้ว ทุกๆความเห็นจะถูกนำเสนอเป็นระบบ เพื่อให้ส.ส.ร.พิจารณา อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดเราไมได้เรียกร้องเฉพาะส.ส.ฝ่ายค้าน แต่เรียกร้องไปถึงส.ส.รัฐบาลได้ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขกับเราด้วยเช่นกัน"
ในตอนท้ายนายณัฐวุฒิ ชี้แจงย้ำว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลได้ทำญัตติเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 269 ถึง 272 เพื่อให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล แต่ยังไม่ได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมยกเลิก มาตรา 279 เกี่ยวกับการรับรองการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ขณะที่การหมวดที่ 1 และ 2 ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงกันในกรรมการบริหารและส.ส.ของพรรคก้าวไกล แต่ท้ายที่สุดมีความเห็นร่วมกันว่า การคงข้อความดังกล่าวไว้ไม่เป็นประโยชน์ในแง่การผลักดันร่าง และการไม่มีข้อความดังกล่าวก็ไม่ส่งผลต่อการผลักดันให้มีส.ส.ร. โดยสรุปก็คือในร่างฉบับของพรรคฝ่ายค้านมีรายละเอียดบางประการที่พรรคก้าวไกลต้องขอสงวนไว้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามจะผลักดันต่อไป
โดยเบื้องต้นมี ส.ส.พรรคก้าวไกลและพรรคอื่นร่วมลงชื่อเสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคก้าวไกลแล้ว แต่ยังไม่ครบเงื่อนไข 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา หรือ สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 98 คน แต่คาดว่าจะสามารถยื่นได้ภายในสัปดาห์หน้า เพราะถ้ายืดเวลาไปอีกจะไม่เป็นผลดีต่อวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยระบุถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า "การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ไม่ช้าก็เร็วเราจะเดินไปถึงวันนั้นอยู่แล้ว เสียงของรัฐบาลไม่อาจทัดทานเสียงของประชาชนได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้ มีปัญหามากตั้งแต่ที่มาเนื้อหาและกระบวนการ เราต้องอาศัยความแน่วแน่ และการทำงานอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นเรื่องของความฝันของยุคสมัย เป็นเรื่องของประชาชน หากแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ประเทศก็ไม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านเราเห็นตรงกันว่าจะไม่แตะในหมวด 1 และหมวด 2 ส่วนการปรับรูปแบบการเดินหน้าแก้รัฐธธรมนูญ คงต้องพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะจัดแบบใด ไม่ว่าจะเป็นแบบเวทีเสวนา หรือการปราศรัย ก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาอะไร เพราะเรามีเสรีภาพในการแสดงออก เราไม่มองเป็นมาตรา แต่เรามองว่าต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ และร่างใหม่โดยประชาชนทั้งฉบับ"
และในวันที่ 14 ส.ค. 2563 นายธนาธร กล่าวเพิ่มเติมผ่าน “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” มีใจความสำคัญช่วงหนึ่งว่า การชุมนุมของนักศึกษา คือเอาเรื่องที่ทุกคนพูดกันในที่ลับ มาพูดในที่สาธารณะได้ นับว่าเป็นความกล้าหาญของพวกเขา แม้แต่ตนเองก็ยังไม่กล้าหาญเท่านักศึกษา ส่วนข้อเสนอ 10 ข้อของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็คือการนำความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจออกมาพูดในที่สาธารณะเท่านั้น
“ผมอยากเรียกร้องสังคมให้พูดกันด้วยเหตุผล และมองเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะ ต้องพูดคุยกันเพื่อให้เข้าใจปัญหา การพูดคุยกันอย่างเปิดเผยไม่ใช่อาชญากรรม แต่การพูดคุยอย่างเปิดเผย คือสิ่งที่สังคมที่มีวุฒิภาวะต้องทำ แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีคนที่ไม่สบายใจเวลาพูดถึงเรื่องนี้ ดังนั้นเวลาเราขอให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเปิดใจรับฟัง นอกจากการใช้เหตุผลแล้ว เราก็ต้องบอกกันเองว่าเราต้องสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ การสื่อสารกันด้วยเหตุผลย่อมดีกว่าการสื่อสารกันด้วยอารมณ์”