- 04 ก.ย. 2563
ปิยบุตร ผนึกแน่น ธนาธร จับจังหวะ อานนท์ ภาณุพงศ์ เล่นเกมส์เสียสละติดคุก ส่งสัญญาณปลุกระดม ชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. เพนกวิน รับลูกคุกคามสถาบันกษัตริย์รอบใหม่
ถึงนาทีนี้ดูเหมือนว่าจะชัดเจนในระดับสำคัญของการตัดสินใจ และเหตุผลจริง ๆ ทำไม 2 แกนนำม็อบปลดแอก อย่าง นายอานนท์ นำภา และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง เลือกจะใช้แนวทางไม่ประกันตัว ตามเงื่อนไขใหม่ของศาลอาญา หลังจากมีคำวินิจฉัยสั่งเพิกถอนประกันตัว ตามพันธะเดิมที่มีการกำหนดไว้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2563 ซึ่งมีการอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยไม่ต้องมีหลักประกัน เพียงแต่ตีราคาประกันคนละ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับนัดหมายการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. 2563
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : ศาลอาญา สั่งเพิกถอนประกันตัว อานนท์ ผิดซ้ำปลุกระดมม็อบ ให้โอกาส ไมค์ ภาณุพงศ์ ครั้งสุดท้าย )
ปฏิกริยาของแกนนำเบื้องหลัง อย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ก เป็นสัญญาณบ่งชี้สำคัญ ผ่านข้อความการปลุกระดม ใจความสำคัญบางช่วงตอนว่า "การถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของ ทนายอานนท์ นำภา และไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก คือการใช้กฎหมายโดยมิชอบเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันนี้ การนำ “กฎหมาย” มาใช้จัดการฝ่ายตรงข้าม หรือ ที่ผมเรียกว่า “นิติสงคราม” ยังไม่ที่ท่าว่าจะลดลง พวกเขาทำอะไรบ้าง? คสช. ก่อรัฐประหาร ถือว่ามีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่พวกเขากลับใช้กำลังอาวุธ กำลังทางกายภาพ ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ขีดเขียนอะไรลงบนกระดาษ แล้วเสกให้เป็น “กฎหมาย” ใช้บังคับกับผู้คน เริ่มต้นจากการประกาศนิรโทษกรรมตนเอง
หลังจากนั้นก็เอาเจตจำนงความต้องการของตนเองเขียนๆ ลงไปในกระดาษ ลงชื่อโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วก็เสกให้เป็น “กฎหมาย” เอามาบังคับประชาชน สั่งให้ทำ สั่งห้ามทำ ใครฝ่าฝืนเอาเข้าคุก แถมยังหน้าด้านหน้าทน เขียนคุ้มกันไว้ว่าทั้งหมดนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายชั่วกัลปาวสาน
เผด็จการ คสช. ยังทำให้แนบเนียนขึ้นด้วยการออกกติกาการปกครองประเทศในช่วงยามที่เขาครองอำนาจ เสกคาถาให้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57" กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. เลือกเอง แล้ว สนช. ก็เลือกหัวหน้า คสช. มาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง
หัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งมีโทษกบฏแต่นิรโทษกรรมตนเอง ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทั้งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี วันไหนอยากรวดเร็วเด็ดขาดก็สวมหมวก คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 วันไหนใจเย็น รอได้ ให้เนียนหน่อย ก็สะกิดให้ สนช. ตราเป็น พ.ร.บ. ทั้งหมดนี้มาในนามของ “กฎหมาย”
สิ่งที่พวกเขาทำทั้งหมดนี้ คือ “ปืน” ที่เอา “กฎหมาย” มาห่อหุ้มให้ดูดี พวกเขาบริหารประเทศ “อยู่ยาว” ไปโดยใช้ “กฎหมายหุ้มปืน” เหล่านี้ ใครต่อต้าน ก็มีเจ้าหน้าที่ที่ยอมศิโรราบ ยอมให้พวกเผด็จการกดขี่สนตะพาย เอา “กฎหมายหุ้มปืน” ไปจัดการจับกุมคนต่อต้าน
ภาพรวมความคิดของนายปิยบุตร ในการเลือกสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวหาว่าการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มปลดแอก ที่กระทำผิดกฎหมาย ว่า เป็นการกระทำเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลให้เบาบางลง โดยมีการพาดพิงไปถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลด้วย "เขาใช้วิธีตั้งข้อหากวาดไว้เยอะๆ ตั้งข้อหาแรงเกินจริงอย่างมาตรา 116 เพื่อให้ประกันตัวยาก เป็นข้ออ้างว่าไม่ต้องออกหมายเรียก ขอออกหมายจับเลย ได้หมายจับมา ก็เก็บเอาไว้ ประเมินสถานการณ์ เลือกจับทีละคนสองคน เลือกจับตามวันเวลาเหมาะๆ แล้วก็รอลุ้นให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมวางเงื่อนไขห้ามชุมนุม ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แกนนำอ่อนแรง การชุมนุมอ่อนแรง
การชุมนุมเลิกไป ทั้งหมดนี้ ไม่ต้องใช้ “ปืน” ไม่ต้องสลายการชุมนุม ไม่ต้องใช้กำลังทางกายภาพเข้าปราบ ทั้งหมดออกมาดูดีอ้างว่าทำตามกฎหมาย เสร็จแล้ว ศาลจะไปยกฟ้องภายหลัง ก็ไม่เป็นไร เพราะบรรลุวัตถุประสงค์ไปก่อนแล้ว
พวกเรา “ประชาชน” คนมือเปล่า ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีอาวุธ ไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา จะสู้กับ “นิติสงคราม” การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือได้อย่างไร ?
1. ร่วมกันเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลาย ยุติการให้ความร่วมมือกับระบอบเผด็จการคณาธิปไตย หันมาใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
2. ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย
ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของแผ่นดินนี้
ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน
ประชาชนผู้ทรงเสรีภาพอันติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ไม่มีใครมาพรากไปได้ ต้องรวมตัวกันไปชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ให้มากที่สุด วิธีนี้เท่านั้นที่จะหยุดยั้ง “นิติสงคราม” ที่พวกเขาใช้ย่ำยีบีฑาเรา
ไม่แตกต่างกันมากนัก สำหรับท่าทีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หรือ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เลือกใช้โซเชียล ทวิตข้อความว่า "ความฝันของอานนท์และไมค์ไม่ใช่อาชญากรรม เมื่อกระบวนการยุติธรรมล่มสลาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่ อย่าปล่อยให้คนที่ลุกขึ้นสู้รู้สึกเดียวดาย" หลังจากก่อนหน้าได้พูดกล่าวว่า "การชุมนุมด้วยสันติวิธีไม่มีความรุนแรง อย่าไปเชื่อคำขู่ว่าการชุมนุมเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นสิทธิ์หน้าที่พลเมืองของเรา"
สำคัญที่สุดเมื่อยิ่งต่อจิ๊กซอร์เข้ากับท่าทีของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ทำให้ภาพการตัดสินใจเลือกไม่ประกันตัวของ นายอานนท์ นำภา และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก ยิ่งเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ว่าเป็นไปเพื่อการโหมปลุกระดมให้มวลชน ออกมาแสดงพลังขับไล่รัฐบาล และแสดงจุดยืนเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไปในแนวทางเดียวกัน หลังจากก่อนหน้ามีความเห็นไม่ลงตัวกับกลุ่มประชาชนปลดแอก หรือ เยาวชนปลดแอก ที่เห็นว่าควรยืนข้อเรียกร้องเดิม 3 ข้อ โดยไม่ก้าวล่วงไปถึง ข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่มีการนำเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันกษัตริย์
"ถึงฝ่ายเผด็จการ การถอนประกันพี่ไมค์กับพี่อานนท์ไม่ช่วยให้คนพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์น้อยลง เพราะต่อให้ไม่มีสองคนนี้ก็ยังมีคนอื่นที่สืบทอดเจตนารมณ์ ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ทุกคนตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไปพร้อมจะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยแล้ว อย่าเอาเรือขวางน้ำเชี่ยว อย่าทะเลาะกับกาลเวลา มันเป็นไปตามยุคสมัย การยอมปรับตัวเท่านั้นคือทางทำให้สถาบันกษัตริย์สง่างาม แต่การปิดปากจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมลงไปยิ่งกว่านี้ เชื่อผม ในส่วนของวันที่ 19 นี้ จัดแบบเบิ้ม ๆ แน่นอน ขอให้พี่น้องจากทุกสารทิศมารวมตัวกันที่ท่าพระจันทร์ เพราะถ้าคนเยอะ เราจะไปยึดสนามหลวงคืนเป็นสนามประชาชน!"
ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะตัดสินใจและดำเนินการอย่างไร กับการเปิดให้กลุ่มปลดแอก ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง เข้าไปใช้สถานที่เคลื่อนไหวชุมนุมอีกครั้ง และด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวโยงกับสถาบันเบื้องสูง หลังจากเพิ่งจะออกแถลงผลสอบข้อเท็จจริง การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางลบอย่างหนัก แล้วอ้างว่าไม่ทราบประเด็นการเคลื่อนไหวคุกคาม ก้าวล่วง สถาบันเบื้องสูงมาก่อน
"จากกรณีที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้มอบหมายให้อธิการบดี มธ.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและรวบรวมข้อเท็จจริงการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยล่าสุดคณะกรรมการฯได้พิจารณาพยานหลักฐานเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสําคัญ 2 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การขออนุญาตชุมนุม พบว่า มหาวิทยาลัยเป็นผู้อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาจัดกิจกรรมการชุมนุมตามเงื่อนไขที่หารือและตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายมหาวิทยาลัย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตํารวจในพื้นที่ และฝ่ายนักศึกษาผู้ขอจัดการชุมนุม ซึ่งจะอยู่บน 3 ข้อเรียกร้อง คือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคาม ประชาชน ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พบว่า มหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ตํารวจในพื้นที่ไม่ทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด
2.การระงับการชุมนุมเมื่อได้เกิดเหตุการณ์สุ่มเสี่ยง พบว่า การกระทําดังกล่าวอยู่เหนือความคาดหมาย และการป้องกันของมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ตํารวจ โดยเจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ได้ เลือกใช้วิธีนุ่มนวลตามแนวทางการปฏิบัติกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม คือ การรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน เพื่อใช้ในการพิจารณาดําเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายต่อไปในอนาคตเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งระหว่างกัน
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังมีข้อห่วงใยเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็น ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาควรกําหนดแนวปฏิบัติภายในอย่างรอบคอบและรัดกุม เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามสิทธิพลเมืองที่ได้กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.การแสดงออกต่างๆ ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ทุกฝ่ายจึงพึงระมัดระวังการใช้คําว่า “ธรรมศาสตร์” หรือคําใดๆ ที่ทําให้สังคมเข้าใจว่า เป็นตัวแทนหรือเป็นเจตจํานงร่วมกันของประชาคม ธรรมศาสตร์ทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการนําไปสู่ประเด็นโต้แย้งและความเสียหายในวงกว้างต่อไป