- 07 ต.ค. 2563
ยังคงถือเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง สำหรับโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร ภายหลัง ผู้บริหารองค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม . มีแนวทางจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ จากเดิมที่กำหนดไว้ จนมีการตั้งคำถามในหลายมิติ ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์องค์กรหรือภาคเอกชนรายใด เนื่องจากได้มีการเปิดให้มีการซื้อเอกสารประกวดราคาไปก่อนหน้านานแล้ว และมีบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ให้ความสนใจมากถึง 10 ราย ด้วยหลักการที่รับรู้ รับทราบ ตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะยึดเอาผลการประมูลว่าด้วยผลตอบแทนต่อรัฐ หรือ ผู้ให้ราคาตอบแทนสูงสุดเป็นตัวชี้วัด กระทั่ง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ต้องออกมาโพสต์แสดงความเห็นในประเด็นว่าด้วย "เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ใครได้ประโยชน์?"
ยังคงถือเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง สำหรับโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร ภายหลัง ผู้บริหารองค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม . มีแนวทางจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์ จากเดิมที่กำหนดไว้ จนมีการตั้งคำถามในหลายมิติ ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์องค์กรหรือภาคเอกชนรายใด เนื่องจากได้มีการเปิดให้มีการซื้อเอกสารประกวดราคาไปก่อนหน้านานแล้ว และมีบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ให้ความสนใจมากถึง 10 ราย ด้วยหลักการที่รับรู้ รับทราบ ตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะยึดเอาผลการประมูลว่าด้วยผลตอบแทนต่อรัฐ หรือ ผู้ให้ราคาตอบแทนสูงสุดเป็นตัวชี้วัด กระทั่ง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ต้องออกมาโพสต์แสดงความเห็นในประเด็นว่าด้วย "เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ใครได้ประโยชน์?"
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ดร.สามารถ ชำแหละยับรฟม. จู่ๆรื้อเกณฑ์ประมูล รถไฟฟ้าสีส้ม คาใจสุดใครได้ประโยชน์ )
ล่าสุด ดร.สามารถ ได้โพสต์แสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นดังกล่าว โดยระบุถึงความเห็นที่แตกต่างภายในรฟม.เพื่อทักท้วงสิ่งไม่ถูกต้อง แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา เพื่อความถูกต้อง ชอบธรรม ต่อการประมูลโครงการรถไฟฟ้าฯ ผ่านข้อเขียนหัวข้อ “เสียงค้าน!” จาก กก. “ไม่เอาเกณฑ์ใหม่” ประมูลสายสีส้ม มีใจความสำคัญว่า "ไม่ใช่กรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทุกท่าน ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลหลังจากปิดขายซองประกวดราคาจนสร้างความกังขาไปทั่ววงการก่อสร้าง แต่มีบางท่านที่ไม่เห็นด้วยและได้คัดค้านอย่างมีเหตุผลน่ารับฟังยิ่ง ท่านคัดค้านว่าอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้
ตามที่ผมได้โพสต์บทความเรื่อง “เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ใครได้ประโยชน์?” ไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 สรุปความได้ว่าโดยปกติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโดยพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอสอบผ่านด้านเทคนิคก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนให้มากที่สุดก็จะชนะการประมูล
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก็เช่นเดียวกัน เดิม รฟม.ใช้เกณฑ์นี้ โดยกำหนดเกณฑ์สอบผ่านด้านเทคนิคไว้ไม่น้อยกว่า 85% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการคัดเลือกผู้รับเหมาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกำหนดเกณฑ์สอบผ่านด้านเทคนิคไว้เพียง 70% เท่านั้น แต่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลก็สามารถก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จสมบูรณ์ ได้ผลเป็นอย่างดี และได้เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) ดังนั้น สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งเกณฑ์เดิมจะต้องพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน
โดยกำหนดเกณฑ์สอบผ่านไว้ถึง 85% หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมดีมากอยู่แล้ว แต่หลังจากปิดการขายซองประกวดราคาแล้ว รฟม.เปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่ กล่าวคือ พิจารณาความสามารถด้านเทคนิคและด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐพร้อมๆ กัน ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุดไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลก็ได้ ส่งผลให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน
หลังจากบทความนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ผมได้รับเสียงกระซิบจากผู้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ว่ามีกรรมการบางท่านไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และได้แสดงความเห็นคัดค้านด้วยเหตุผลที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง เช่น
1. ที่ผ่านมา รฟม.ได้คัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ โดย รฟม.ไม่เคยนำความสามารถด้านเทคนิคมารวมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ แต่พิจารณาแยกกัน กล่าวคือหากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดสอบผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิค ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ ใครเสนอมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ปรากฏว่า รฟม.สามารถคัดเลือกได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงและเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐมากที่สุด ทำให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จมาทุกโครงการ
2. สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น หาก รฟม.เห็นว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน และผู้ชนะการประมูลจะต้องมีความสามารถทางเทคนิคสูง รฟม.ก็สามารถตั้งเกณฑ์การสอบผ่านด้านเทคนิคที่สูงเพิ่มขึ้นได้ (เดิมกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85% ซึ่งถือว่าสูงมากอยู่แล้ว) ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่สอบผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจะเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาผลตอบแทนให้แก่รัฐ รฟม.ก็จะสามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่ให้ผลตอบแทนแก่รัฐมากที่สุดและมีความสามารถทางเทคนิคสูงได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคและผลตอบแทนให้แก่รัฐพร้อมๆ กัน
3. รฟม.มีประสบการณ์จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ซึ่งมีช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดังนั้น หาก รฟม.ต้องการได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง โดยเฉพาะเทคนิคการก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รฟม.ก็สามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาตั้งเป็นเกณฑ์ให้คะแนนทางเทคนิคได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่สอบผ่านด้านเทคนิคมีคุณสมบัติตามความต้องการของ รฟม. ไม่จำเป็นจะต้องนำคะแนนด้านเทคนิคมารวมกับคะแนนด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ
4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังไม่มีแบบรายละเอียด ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดตามข้อกำหนดทางเทคนิคหรือสเปกของ รฟม. ดังนั้น รฟม.สามารถควบคุมให้ผู้ชนะการประมูลออกแบบรายละเอียดโดยใช้เทคนิค มาตรฐาน และวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างและการเดินรถ เพื่อทำให้ได้งานที่มีคุณภาพสูงตามความต้องการของ รฟม.ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล
5. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และใช้วงเงินลงทุนสูง แต่ รฟท.ก็ไม่ได้พิจารณาความสามารถด้านเทคนิครวมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทนให้แก่รัฐ ดังเช่นที่ รฟม.กำลังทำอยู่ในขณะนี้
จะเห็นได้ว่าเหตุผลในการคัดค้านการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นเหตุผลที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง แล้วทำไมกรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่าจะต้องเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล? ผู้หวังดีที่เข้าร่วมประชุมกระซิบให้ผมฟังอีกว่า ในการประชุมฯ นอกจากมีกรรมการคัดเลือกฯ แล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานอื่นอีกหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงคมนาคม รฟม. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ รฟม. เป็นต้น
ผู้แทนจาก รฟม. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ รฟม.ได้พยายามชี้แจงโดยโน้มน้าวให้กรรมการเห็นว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลจะทำให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของ รฟม. ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์งานประมูลมาอย่างโชกโชนจึงไม่แนะนำให้ รฟม.ใช้เกณฑ์ประมูลใหม่นี้มาตั้งแต่ต้นตอนเปิดขายซองประกวดราคา หากเห็นว่าเกณฑ์ใหม่นี้จะรักษาประโยชน์สูงสุดของภาครัฐได้จริง ทำไมจึงเพิ่งมาเปลี่ยนใจเมื่อผู้ยื่นข้อเสนอรายหนึ่งมีหนังสือเสนอความเห็นถึง สคร.
การทำงานใดที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายให้สำเร็จได้นั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งอาจเป็นไปตาม “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ท่านศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ได้กล่าวไว้ในคดี “บอส” อันโด่งดัง ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง