- 31 ก.ค. 2563
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงเรื่องคดีข่าวดังกล่าว ความว่า "เฟอร์รารีคันนั้นวิ่งแค่ 76 กม./ชม. จริงหรือ? สูตรการคำนวณความเร็วมีเพียงสูตรเดียวเท่านั้น แต่ทำไมผลลัพธ์ของอาจารย์ 2 ท่าน จึงต่างกันมาก ของใครถูก? มาช่วยกันค้นหาคำตอบ
ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงที่ประชาชนยังคงให้ความสนใจ สำหรับเหตุกรณีการสรุปคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา โดยการไม่สั่งฟ้อง ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 โดยรองอัยการสูงสุด ขณะที่ ในฝ่ายของคณะทำงานสตช. ก็มีความเห็นไม่แย้งคำสั่ง ส่งผลให้คดีเป็นที่ยุติ และ ผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอาญากว่า 8 ปี กลายเป็นผู้บริสุทธิ์โดยปริยาย
กระทั่งต่อมามีรายงานว่า นายจารุชาติ มาดทอง 1 ใน 2 พยานปากเอก ได้เสียชีวิตแล้วจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อช่วงตี 1 ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ออกมาระบุว่า พนักงานสอบสวนคดี บอส วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กระทิงแดง ชี้แจงเหตุเจอโคเคนในร่างกาย ว่าเกิดจากการทำฟัน จึงไม่แจ้งข้อหายาเสพติด ซึ่งหลังจากที่ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอออกไปนั้น มีหลายคนได้ตั้งคำถามว่า โคเคน ใช้ในทางการแพทย์จริงหรือ แล้วโคเคนชนิดไหนกันที่ถูกนำมาใช้ แล้วใช้ในปริมาณเท่าไร ซึ่งหลายคนที่เป็นทันตแพทย์ก็ถึงกับงงว่า การใช้โคเคนมาใช้ในการทำฟันนั้นมีอยู่ในตำราจริงหรือ เพราะปกติที่รักษาคนไข้ ก็ไม่ได้ใช้โคเคนแล้ว
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงเรื่องคดีข่าวดังกล่าว ความว่า "เฟอร์รารีคันนั้นวิ่งแค่ 76 กม./ชม. จริงหรือ? สูตรการคำนวณความเร็วมีเพียงสูตรเดียวเท่านั้น แต่ทำไมผลลัพธ์ของอาจารย์ 2 ท่าน จึงต่างกันมาก ของใครถูก? มาช่วยกันค้นหาคำตอบ
อาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับคดีอื้อฉาวในฐานะเป็นผู้คำนวณความเร็วของรถเฟอร์รารีมี 2 ท่าน คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทั้ง 2 ท่านใช้สูตรเดียวกันดังนี้
ความเร็ว = ระยะทาง/ระยะเวลา
แต่ระยะทางและระยะเวลาที่ทั้ง 2 ท่านใช้ในการคำนวณนั้นไม่เท่ากัน ทำให้ความเร็วที่คำนวณได้ไม่เท่ากัน กล่าวคือ ดร.สธน คำนวณความเร็วได้ 177 กม./ชม. ในขณะที่ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ คำนวณได้ 76 กม./ชม. ซึ่งต่างกันมาก
อาจารย์แต่ละท่านวัดระยะทางและระยะเวลาแตกต่างกันดังนี้
1. ดร.สธน
1.1 ระยะทาง
ดร.สธน วัดระยะทางจริงบนถนนที่เกิดอุบัติเหตุจากจุดที่รถโผล่เข้าจอภาพจนหายออกไปจากจอภาพได้ 31 เมตร
1.2 ระยะเวลา
ดร.สธน วัดระยะเวลาโดยนับจำนวนเฟรมที่รถโผล่เข้าในจอภาพจนหายออกไปจากจอภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นระยะเวลา ได้ระยะเวลา 0.63 วินาที โดยคำนวณจากจำนวนเฟรมที่นับได้หารด้วยค่าความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (Frame Per Second หรือ FPS) ซึ่ง ดร.สธน พบว่า FPS มีค่าเท่ากับ 25 เฟรม/วินาที
1.3 ความเร็ว
คำนวณความเร็วได้เท่ากับ 31/0.63 = 49.21 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 177 กม./ชม.
2. รศ.ดร.สายประสิทธิ์
2.1 ระยะทาง
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ใช้ความยาวของรถแทนระยะทางบนถนน โดยวัดความยาวของรถตามเส้นทแยงมุมได้ 5.281 เมตร เหตุที่ใช้ความยาวตามเส้นทแยงไม่ใช้ความยาวในแนวตรงก็เพราะเห็นว่าภาพจากกล้องวงจรปิดอยู่ในแนวเฉียง
2.2 ระยะเวลา
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ วัดระยะเวลาโดยนับจำนวนเฟรมเช่นเดียวกับ ดร.สธน แต่เป็นจำนวนเฟรมที่นับตามความยาวเส้นทแยงแล้วเปลี่ยนเป็นเวลา ซึ่งได้ 2 ค่า คือ 0.24 วินาที และ 0.26 วินาที หรือค่าเฉลี่ย 0.25 วินาที
2.3 ความเร็ว
คำนวณความเร็วได้เท่ากับ 5.281/0.25 = 21.12 เมตร/วินาที หรือเท่ากับ 76 กม./ชม.
3. ข้อสังเกต
ผมมีข้อสังเกตต่อการคำนวณความเร็วของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ดังนี้
3.1 ในการหาระยะทาง รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ใช้ความยาวรถแทนความยาวถนน ซึ่งสามารถทำได้ และจะใช้ความยาวรถตามแนวตรงหรือแนวทแยงก็ได้ แต่จะต้องนับจำนวนเฟรมซึ่งต้องใช้ในการคำนวณหาระยะเวลาให้ถูกต้อง สอดคล้องกับความยาวรถที่วัด ในกรณีนี้ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ได้เลือกใช้ความยาวตามแนวทแยง แต่อาจนับจำนวนเฟรมได้ค่ามากเกินไป เพราะทราบมาท่านว่าไม่ได้ดูจากวิดีโอต้นฉบับ แต่เป็นการดูจากคลิปที่ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายมาจากหน้าจออีกที ซึ่งอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้
3.2 ในการหาระยะเวลาซึ่งต้องคำนวณจากจำนวนเฟรมที่นับได้ตามแนวทแยงหารด้วยค่าความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (FPS) รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ใช้ค่าความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (FPS) 2 ค่า “ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (FPS) จะต้องมีค่าเดียวเท่านั้น” ผมได้คำนวณย้อนกลับจากข้อมูลของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ ได้ค่าความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (FPS) 2 ค่า ดังนี้
3.2.1 ช่วงที่ 1 รศ.ดร.สายประสิทธิ์ นับจำนวนเฟรมตามความยาวเส้นทแยงของรถได้ 4 เฟรม และคำนวณระยะเวลาตามความยาวเส้นทแยงได้ 0.24 วินาที ผมคำนวณย้อนกลับหาความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (FPS) ได้เท่ากับ 4/0.24 = 16.67 เฟรม/วินาที
3.2.2 ช่วงที่ 2 รศ.ดร.สายประสิทธิ์ นับจำนวนเฟรมตามความยาวเส้นทแยงของรถได้ 6 เฟรม และคำนวณระยะเวลาตามความยาวเส้นทแยงได้ 0.26 วินาที ผมคำนวณย้อนกลับหาความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (FPS) ได้เท่ากับ 6/0.26 = 23.08 เฟรม/วินาที
จะเห็นได้ว่าค่าความเร็วในการบันทึกภาพ (FPS) ของ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ มี 2 ค่า คือ 16.67 เฟรม/วินาที และ 23.08 เฟรม/วินาที ซึ่งไม่ถูกต้องดังกล่าวแล้วข้างต้น และอาจเป็นค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากท่านดูจากคลิปที่ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายมาจากวิดีโอต้นฉบับ ซึ่งแสดงภาพ Slow Motion ถึง 4 เท่า อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้
3.3 ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า เหตุที่ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ คำนวณความเร็วของรถได้ต่ำกว่า ดร.สธนมากนั้น อาจเกิดจาก
3.3.1 การนับจำนวนเฟรมตามความยาวเส้นทแยงได้ค่ามากเกินไป
3.3.2 การใช้ค่าความเร็วในการบันทึกภาพของกล้องวงจรปิด (FPS) ต่ำกว่าความเป็นจริง
จากปัจจัยทั้ง 2 ประการดังกล่าว ทำให้ระยะเวลาที่คำนวณได้สูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งส่งผลให้ความเร็วของรถที่คำนวณตามสูตร (ความเร็ว = ระยะทาง/ระยะเวลา) “ต่ำลง” ไม่ตรงกับความเป็นจริง
4. สรุป
จากการคำนวณดังกล่าวข้างต้นและจากความเสียหายอย่างยับเยินของรถเฟอร์รารี ท่านคิดว่าความเร็วในขณะเกิดอุบัติเหตุควรจะเท่ากับ 76 กม./ชม. หรือมากกว่าครับ?"