- 17 พ.ย. 2563
"อ.ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ศาลยุติธรรม โพสต์ไม่แปลกใจพรรคเพื่อไทย นำฝ่ายค้านหนุนเต็มที่ร่างแก้ไขรธน.ฉบับไอลอว์
ตามติดอย่างใกล้ชิดกับกระบวนการเสนอแก้ไขรัฐธรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยประเด็นความเห็นหลัก ๆ เพราะเห็นว่าเกิดขึ้นในยุครัฐบาลคสช. พร้อมความพยายามจะผลักดันให้นำร่างแก้ไขของ กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ไปพิจารณาใช้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงว่าร่างรธน.ฉบับไอลอว์ มีแนวทางไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง โครงสร้างสถาบันกษัตริย์ครั้งใหญ่ รวมถึงยังเปิดช่องโอกาสทางการเมืองให้กับผู้ถูกพิจารณาโทษกระทำความผิดในอดีต ได้รับการนิรโทษกรรมแฝงอยู่ด้วย
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : วิปรัฐบาล เคาะแล้ว หนุนแก้ไขร่างรธน.แค่ 2 ฉบับ แทงกั๊กสวนม็อบคว่ำไอลอว์ )
อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิปรัฐบาล ส่งสัญญาณจะบอยคอตร่างรธน.ฉบับไอลอว์ แต่กับพรรคฝ่ายค้านเป็นไปในทิศทางตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค มีมติว่าจะขอรวมทุกญัตติเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาไปพร้อมกัน โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะสนับสนุนทั้ง 7 ญัตติ รวมทั้งร่างของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เนื่องจากร่างฉบับนี้เป็นของประชาชน ซึ่งในฐานะผู้แทนที่มาจากประชาชน จึงไม่อาจไม่รับหลักการได้ และพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าร่างของไอลอว์ ไม่มีส่วนใดที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามานั้น รัฐสภาควรยอมรับฟังเสียงของประชาชน
ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันว่าควรสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของไอลอว์ เพราะเป็นการนำเสนอกฎหมายโดยประชาชน เป็นใช้สิทธิและอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านการเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ซึ่งประชาชนมีความตั้งใจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายใดๆ เพราะเห็นว่ามีปัญหาในหลายประเด็นและสอดคล้องกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล คือ การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงสามารถพิจารณาร่วมกันได้
"นอกจากนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต่อรัฐสภา ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ โดยมีสาระสำคัญแตกต่างจากร่างของรัฐบาล คือ จะยกเรื่องการรณรงค์ ให้สิทธิประชาชน ภาคเอกชน และพรรคการเมืองในการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง ซึ่งการใช้สิทธิออกเสียงแสดงประชามติ ควรเปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง และควรมีบทบัญญัติอนุญาตให้มีการออกเสียงล่วงหน้า และออกเสียงนอกพื้นที่ เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด"
ล่าสุด "อ.ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ศาลยุติธรรม ให้ความเห็นว่า "พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ แน่นอนอยู่แล้ว เพราะถ้าร่างนี้ผ่านรัฐสภาผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ คือนายทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทย
นายทักษิณ , นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , นายประชา มาลีนนท์ และอีกหลายคนที่หลบหนีการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะได้กลับเมืองไทยอย่างคนทีไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเลย ผู้ที่ถูกจำคุกอยู่ก็จะต้องได้รับปล่อยตัว
นอกจากนี้ร่างฯ ของไอลอว์ ยังต้องการแก้หมวดหนึ่งและหมวดสองของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติเกี่ยวกับรูปแบบของการปกครองของประเทศไทยและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ด้วย มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข อาจแก้เป็นประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐก็เป็นได้ นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมพรรคเพื่อไทย จึงต้องการแก้รัฐธรรมนูญตามร่างของไอลอว์อย่างออกหน้าออกตา"
>> Lazada ช้อปดีลเด็ดลดต่อเนื่องจาก 11.11 แจกส่วนลด 150฿ คลิกเลย <<