- 06 ก.ค. 2564
ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว กลับบ้านได้เมื่อไร หลังเพลิงสงบแล้ว คำนวณค่าสารเคมี 1 - 5 กิโลเมตร ยังสาหัส แนะวิธีป้องกันหากเลี่ยงไม่ได้
หลังจากที่มุ่งพยายามเกินกว่า 24 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิงที่โหมลุกไหม้ โรงงานกิ่งแก้ว 21 หมู่ 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หรือ โรงงานหมิงตี้เคมีคอล (บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด) จนทำให้เกิดกลุ่มควันดำพวยพุ่งทำให้ต้องอพยพชาวบ้านและประชาชนที่อยู่ในรัศมีที่อันตราย ซึ่งเช้าวันนี้ (6 ก.ค. 64) เพลิงได้สงบลงแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดโพสต์สุดท้าย น้องพอส วีรบุรุษดับเพลิง ดับสลดเหตุไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว
- ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วยังหนัก รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต งดให้บริการชั่วคราว
- "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ทรงพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว รับผู้เสียชีวิตไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์
- ทำความรู้จัก สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ มีผลกับสุขภาพ จากเหตุไฟไหม้โรงงานเคมิคอล กิ่งแก้ว 21
ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ คำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน โดยใช้ Box Model ซึ่งใช้ข้อมูลอัตราการระบายจากแหล่งกำเนิด มาประมวลผลร่วมกับสภาพอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่ ซึ่งจากการคำนวณจากรัศมี ใน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ 1 กิโลเมตร, 3 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตร ซึ่งจากการคำนวณจะได้ค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน ดังนี้
รัศมี 1 กิโลเมตร มีค่า 1,035.47 ppm
รัศมี 3 กิโลเมตร มีค่า 86.43 ppm
รัศมี 5 กิโลเมตร มีค่า 51.77 ppm
นอกจากนี้ ทางประกาศจากกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน กำหนดค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
- ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง
- ระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในระยะ 1 กิโลเมตร ค่าความเข้มข้นของเคมีในบรรยากาศยังมีอยู่มาก และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ส่วนในระยะ 3 และ 5 กิโลเมตร ถือว่ายังมีความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศอยู่เช่นกัน ดังนั้นแนะนำว่า คนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร อย่าเพิ่งรีบกลับบ้าน แนะนำให้รอฟังประกาศจากทางการก่อน
ขณะเดียว อ.อ๊อด หรือ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้มีสารปนเปื้อนไปกับฝุ่นละอองสีดำที่กระจายไปในหลายพื้นที่ เป็นสารอันตรายและเป็นสารก่อมะเร็ง ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษกำลังมอนิเตอร์อย่างต่อเนื่อง หากความเข้มข้นของสารเคมีโดยเฉพาะสารสไตรีนอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยคือ ระดับ 1 จึงจะสามารถประกาศให้ประชาชนกลับเข้าที่พักได้
ทั้งนี้ หมอกควันสีดำที่กระจายไปมีสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากจะสะสมจนเกิดอันตรายได้ จึงแนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 ที่กรองฝุ่น PM2.5 ได้ ส่วนประชาชนที่ยังได้กลิ่นสารเคมี ขอให้ออกจากพื้นที่โดยด่วน
ด้าน รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าในสถานการณ์ที่มีสารพิษปนเปื้อนมากับอากาศแบบนี้ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากาก N95 ก็ไม่สามารถกรองไอระเหยสารเคมี ต้องใช้หน้ากากสำหรับป้องกันสารเคมีโดยเฉพาะเท่านั้น และเครื่องฟอกอากาศในบ้านก็ใช้กรองสารเคมีไม่ได้เช่นกัน จึงควรอพยพไปที่อื่นชั่วคราวเป็นการดีที่สุดครับ