ปานเทพ ยกคำพิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีอัยการติดคุก เพราะกลับคำสั่ง ไม่ฟ้องผตห.

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า " ถอดบทเรียน ศาลฎีกาเคยพิพากษาโทษจำคุกมาแล้ว “รองอธิบดีกรมอัยการ” สั่งไม่ฟ้องกลับความเห็นสั่งฟ้องของ“อธิบดีกรมอัยการ”คนก่อนหน้า

จากกรณี นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ในฐานะรักษาราชการแทนอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ ทายาทเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทั้งที่อัยการสูงสุดคนก่อน ได้สั่งฟ้องไปแล้วนั้น จนทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์มาระยะใหญ่ 


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า " ถอดบทเรียน ศาลฎีกาเคยพิพากษาโทษจำคุกมาแล้ว “รองอธิบดีกรมอัยการ” สั่งไม่ฟ้องกลับความเห็นสั่งฟ้องของ“อธิบดีกรมอัยการ”คนก่อนหน้า

“การกลับคำสั่ง” อดีตผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายใน “องค์กรอัยการ” จากคำสั่ง “ฟ้อง” กลายเป็น “ไม่ฟ้อง” เพื่อช่วยเหลือจำเลยนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ หากแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏมีคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้วว่าการกระทำกลับคำสั่งฟ้องกลายเป็นไม่ฟ้องของผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรอัยการนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลฎีกาพิพากษาอัยการที่ “กลับคำสั่ง” ดัวยอัตราโทษจำคุกมาแล้ว

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2518 อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น พร้อมกับ “อธิบดีกรมอัยการ” (ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในหน่วยงานอัยการเวลานั้น) ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นพ้องให้สั่งฟ้องจำเลยคือ “พล.ต.ต. เจตจันทร์ ประวิตร กลับพวก” จำนวน 3 สำนวน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ในคดีการจัดซื้อที่ดินผ่านคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินโดยตรงระหว่างปี พ.ศ. 2513-2515 จนเป็นเหตุทำให้เกิดความเสียหายแก่ตำรวจ

ประมาณปี พ.ศ. 2517 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามส่งสำนวนคดีทั้ง 3 สำนวนนี้มาให้พนักงานอัยการ กรมอัยการ ชื่อ “นายอรุณ อิศรภักดี” ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง อัยการพิเศษฝ่ายคดี ได้มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” ทั้ง 3 สำนวนนี้ ส่งกลับไปให้อธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น ปรากฏว่า อธิบดีกรมตำรวจทำความเห็นแย้ง “คำสั่งไม่ฟ้อง”คดี 3 สำนวนนี้ ว่าควรจะ “สั่งฟ้อง” ปรากฏว่า “นายโปร่ง เปล่งศรีงาม” อธิบดีกรมอัยการในเวลานั้นเห็นพ้องกับอธิบดีกรมตำรวจ ชี้ขาดให้ “สั่งฟ้องคดี” 3 สำนวนนี้ !!!

ถึงแม้ “นายโปร่ง เปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการ” ในเวลานั้นจะได้ชี้ขาดไปแล้วว่าสั่งฟ้องคดีทั้ง 3 สำนวนนี้ แต่ก็ยังไม่ได้ฟ้องต่อศาล ก็เป็นเพราะว่าจำเลยในคดี 3 สำนวนนี้ขอเลื่อนหลายครั้ง ที่จำเลยในคดี 3 สำนวนนี้ ขอเลื่อนหลายครั้งก็เพราะอ้างว่าในช่วงเวลานั้น ได้มีการ “ยื่นร้องขอความเป็นธรรม” ต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมา


โดยจำเลยในคดี 3 สำนวนนี้ได้ยื่นร้องขอต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความจริงในเรื่องนี้ขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปว่า พล.ต.ต. เจตจันทร์ ประวิตร ซึ่งเป็น “จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่มีความผิด” และขอให้เสนอรายงานชุดดังกล่าวไปให้กรมอัยการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่า “ชอบแล้ว”

หลังจากนั้นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงส่งเรื่องผลการสอบสวนไปให้กรมอัยการเพื่อทราบ นายโปร่ง เปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการในเวลานั้น ก็สั่งการว่า “ทราบแล้ว” ตามขั้นตอนเช่นกัน ภายหลังรับทราบว่าคณะกรรมการสอบสวนที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมาแล้วสรุปผลว่า “จำเลยไม่มีความผิดแล้ว” นายโปร่ง เปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการ จึงตัดสินใจ “ลาออกจากราชการ” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2518

โดยภายหลังจากที่ “นายโปร่ง เปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการ” ลาออกจากราชการไปแล้ว ปรากฏว่าในขณะนั้น “นายอรุณ อิศรภักดี” ซึ่งเคยเป็นเจ้าพนักงานอัยการที่ “สั่งไม่ฟ้องคดี” 3 สำนวนนี้ได้เจริญเติบโตเป็น “รองอธิบดีกรมอัยการ” นอกเหนือจากนั้น นายอรุณ อิศรภักดี ในฐานะเป็น “รองอธิบดีกรมอัยการ” ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “รักษาการอธิบดีกรมอัยการ”อีกด้วย อันเป็นการรักษาตำแหน่งที่ว่างลง เพราะ นายโปร่ง เปล่งศรี ลาออกจากอธิบดีกรมอัยการ ซึ่งให้มีคำสั่งให้ฟ้องคดี 3 สำนวนนี้

ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518 กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ นายอรุณ อิศรภักดี รองอธิบดีกรมอัยการ พ้นตำแหน่ง รักษาการอธิบดีกรมอัยการ และแต่งตั้งให้ “นายเกียรติ ชีวะเกตุ” รองอธิบดีกรมอัยการอีกคนหนึ่งขึ้นมาเป็น รักษาการอธิบดีกรมอัยการแทน ปรากฏว่านายอรุณ อิศรภักดี “รองอธิบดีกรมอัยการ” ก็ได้ “กลับคำสั่งฟ้อง” ของ “นายโปร่ง เปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการ”ให้กลายเป็น “ไม่ฟ้อง” แล้วส่งกลับไปให้ “อธิบดีกรมตำรวจ โดยอ้างว่าเป็นการ “สั่งไม่ฟ้อง”ในฐานะ “รักษาการอธิบดีกรมอัยการ”

 

 

 

ปานเทพ ยกคำพิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีอัยการติดคุก เพราะกลับคำสั่ง ไม่ฟ้องผตห.

ครั้นเวลาต่อมา ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2518 นายเกียรติ ชีวะเกตุ รองอธิบดีกรมอัยการ ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมอัยการคนใหม่ได้ทราบเรื่อง ก็ได้ “เพิกถอนคำสั่งไม่ฟ้อง” ของนายอรุณ อิศรภักดี ไปยังอธิบดีกรมตำรวจ และในเวลาต่อมาพนักงานกรมอัยการก็ได้ยื่นฟ้องคดี 3 สำนวนนี้ต่อศาลอาญา ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง พนักงานกรมอัยการก็ได้ฟ้องเพื่อเอาผิดกับนายอรุณ อิศรภักดี รองอธิบดีกรมอัยการ เป็นอีกคดีหนึ่งที่ กลับคำสั่งฟ้องของอธิบดีกรมอัยการ ให้กลายเป็นไม่ฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 165 และมาตรา 200 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ดังต่อไปนี้

 

“มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 165 วรรคแรก ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการต่อไป

 

มาตรา 200 วรรคแรก ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือรับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 14,000 บาท”

 

การต่อสู้ได้มาถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาได้ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522 ความบางตอนว่า : “ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลย (นายอรุณ อิศรภักดี) ได้ลอบทำบันทึก “สั่งไม่ฟ้อง” พลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร หม่อมหลวงฉันแข ดารากร และนายเทียบ ศรีนาคคล้ำ ผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวน ลบล้างคำชี้ขาดให้ฟ้องของนายโปร่ง เปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการ ซึ่งได้ลาออกจากราชการแล้วตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจ และคำสั่งนั้น ถึงที่สุดแล้ว

 

โดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยได้รับคำสั่งชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ในอันที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาสั่งไม่ฟ้องอีกได้ แล้วลอบแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ภายหลังจากวันที่นายอรุณ อิศรภักดี จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว แต่ยังดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการอยู่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย....

 

เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 333 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก....

 

นายโปร่ง อธิบดีกรมอัยการซึ่งได้ลาออกจากราชการไปแล้วได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวนตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว เหตุนี้แม้จะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการจำเลย นายอรุณ อิศรภักดี ก็ไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดใหม่เป็นไม่ฟ้อง”

 

สำหรับคดีนี้ศาลพิพากษาไม่ลงโทษ นายอรุณ อิศรภักดี ฐานละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพราะการกระทำความผิดนี้จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เฉพาแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง และเนื่องจากหน้าที่นี้เป็นของ “อธิบดีกรมอัยการ” ไม่ใช่ “รองอธิบดีกรมอัยการ” ดังนั้นย่อมไม่ใช่หน้าที่ของ นายอรุณ อิศรภักดี จำเลยโดยตรง จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

 

แต่การที่ นายอรุณ อิศรภักดี จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการย่อมรู้อยู่แล้วว่า นายโปร่ง อธิบดีกรมอัยการคนก่อนได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์กับพวกผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวน ในระหว่างที่ นายอรุณ อิศรภักดี จำเลยยังไม่ได้รับมอบงานให้นายเกียรติรองอธิบดีกรมอัยการซึ่งจะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแทน นายอรุณ อิศรภักดี จำเลยจึงมีหน้าที่ดูแลปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของนายโปร่งดังกล่าว ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

แต่จำเลยกลับกระทำการดังได้วินิจฉัยแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า นายอรุณ อิศรภักดี จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่งนั่น เพื่อจะช่วยพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์กับพวกผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวนมิให้ต้องโทษ ที่ นายอรุณ อิศรภักดี จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลฎหมายอาญามาตรา 165,200 ศาลฎีกาพิพากษาให้นายอรุณ อิศรภักดี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 165,200 ให้ลงโทษตามมาตรา 200 อันเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 56 ไม่เสียค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29,30 คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย”

บทเรียนข้างต้นน่าจะสามารถเทียบเคียงหรือใช้อ้างอิงเพื่อยุติความสับสนทั้งหลายในขณะนี้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง"

 

ปานเทพ ยกคำพิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีอัยการติดคุก เพราะกลับคำสั่ง ไม่ฟ้องผตห.

 

 

ปานเทพ ยกคำพิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีอัยการติดคุก เพราะกลับคำสั่ง ไม่ฟ้องผตห.

 

ปานเทพ ยกคำพิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีอัยการติดคุก เพราะกลับคำสั่ง ไม่ฟ้องผตห.

 

ปานเทพ ยกคำพิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีอัยการติดคุก เพราะกลับคำสั่ง ไม่ฟ้องผตห.