- 08 ส.ค. 2563
ล่าสุด ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มีการเสวนาหัวข้อ การตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดี ปัญหาอยู่ตรงไหน? คนหรือระบบ? มีผู้ร่วมเสวนาคือ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่าที่พันตรีสมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการเนติบัณฑิตยสภา ประธานอนุกรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ผศ.ดร.กรรณภิรมย์ โกมลารชุน รองคณะบดี คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ดำเนินรายการโดย ดร.โสภัทร นาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสื่อดิจิทัลและการสร้างสรรค์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
เกาะติดกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับคดีความที่ถูกเปิดโปงโดยสื่อนอก สำหรับการสรุปคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา โดยการไม่สั่งฟ้อง ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ซึ่งหลายๆ ฝ่ายต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างดุเดือด ในขณะที่หลักฐานต่างๆ ก็ชี้ชัดถึงความผิดของ บอส อยู่วิทยา
ทั้งนี้ ก่อนการเสวนามีบรรยายพิเศษหัวข้อ “ความรับผิดชอบของอัยการในการสั่งคดี” โดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด กรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
ศ.ดร.คณิต กล่าวตอนหนึ่งว่า ในยุคของตนไม่มีโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้บริหารต้องรอบรู้ทั้งหมด ดังนั้นตนต้องรู้ความเป็นไปของอัยการ ระเบียบอัยการสูงสุดเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าผู้บริหารจะพัฒนางานได้ จะต้องมีนโยบาย ตนก็ประกาศเป็นโยบายออกไป การเป็นอัยการสูงสุดไม่ได้เป็นได้โดยง่าย การเป็นอัยการที่ดีนั้นยาก ยิ่งเป็นอัยการสูงสุดยิ่งยาก
"ในสมัยผม คนที่เป็นอัยการสูงสุด ต้องผ่านการตรวจสอบโดยคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)และเสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ในสมัยหลังไม่ใช่แบบนี้ เดิมเมื่อ ก.อ. approved (อนุมัติ)แล้ว ต้องส่งไปรัฐสภาด้วย ถ้ารัฐเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ต้องเพิกถอน ดังนั้น การเป็นอัยการสูงสุดไม่ง่าย"
ศ.ดร.คณิตระบุว่าในกรณีคดีของนายบอสหรือนายวรยุทธ อยู่วิทยา "เท่าที่ฟังรายการนายสนธิ ลิ้มทองกุล ระบุว่าร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้นได้สั่งฟ้องไปแล้ว แล้วคนอื่นจะเปลี่ยนคำสั่งได้อย่างไร" ศ.ดร.คณิตระบุ
ศ.ดร.คณิต ยังกล่าวอีกว่า อำนาจของเรา อัยการสูงสุดต้องสั่ง อัยการอื่นจะทำได้ต่อเมื่ออัยการสูงสุดมอบให้ทำงาน อำนาจการสั่งคดีเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด คดีบอส เมื่ออัยการสูงสุดสั่งฟ้องแล้ว คนอื่นจะมาแตะไม่ได้ "ถ้ามีอะไรต้องไปหารือกับอัยการสูงสุดที่จะเป็นผู้ออกคำสั่งแต่เพียงผู้เดียว แต่กรณีนี้ ผมเห็นตามข่าว รองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง เขาทำผิดกฎหมายชัดๆ"
ศ.ดร.คณิตระบุด้วยว่าที่อ้างทำตามระเบียบในประเด็นการขอความเป็นธรรม เดิมตนเป็นคนริเริ่มทำระเบียบเรื่องการยื่นขอความเป็นธรรมไว้ ว่าเมื่อมีการเสนอขอความเป็นธรรมขึ้นมา อัยการสูงสุดเท่านั้นต้องเป็นผู้สั่ง ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ถือว่าผิดกฎหมาย
“ระบบของเรา อำนาจสั่งคดี เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด เมื่ออัยการสูงสุดคนนี้ได้รับการอนุมัติแต่งตั้งโดยสภา ต้องไปหาข้อเท็จจริง ว่าที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลพูดถูกต้องหรือไม่ รัฐบาลต้องเทคแอคชั่นเพื่อให้ระบบกระบวนการยุติธรรมเราเป็นที่เชื่อถือศรัทธาต่อไป” ศ.ดร.คณิต ระบุ
นอกจากนี้ ศ.ดร.คณิต ยังได่ตอบคำถามที่ว่าเมื่อมีดุลพินิจที่ไม่นำข้อเท็จจริงใดเข้าสู่สำนวน ข้อเท็จจริงนั้น จะถือเป็นพยานใหม่ได้หรือไม่
ศ.ดร.คณิตกล่าวว่าหลักฐานใหม่ ต้องไม่เคยปรากฏมาก่อน
ทั้งนี้ศ.ดร.คณิตกล่าวถึงกรณีการแถลงข่าวของสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่องผลพิจารณาของคณะทำงานกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธเมื่อเร็วๆ นี้ว่า "การแถลง เป็นการแถลงป้ององค์กรของตนเอง ฟอกขาว ผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุดปัจจุบัน ไม่เวิร์ค ปกติแล้วคดีใหญ่ ผมจะลงมาดูเอง”
ศ.ดร.คณิต ยกตัวอย่างกรณีคดีอื่นๆ อาทิ คดีฆาตกรรมชาวต่างชาติที่เกาะเต่า คนที่เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติ คนผิดเป็นชาวเมียนมา คดีนี้ตามหลักแล้ว ผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุดต้องลงไปดู ขณะนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนเมียนมา นางอองซานซูจี เรียนต่อนายกฯว่า ให้ช่วยมอบความยุติธรรมแก่ชาวเมียนมาที่ถูกกล่าวหาด้วย คดีเกาะเต่าเป็นเรื่องระหว่างประเทศ แต่อัยการไม่ทำงาน รวมถึงเหตุการณ์ที่ยิงเสือดำตายในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีว่าจริง ๆ แล้วอัยการสูงสุดต้องลงมาดูด้วยตนเอง
“คดีใหญ่ๆ อัยการสูงสุดต้องมาดู หลังจากผมพ้นตำแหน่งไปแล้ว อัยการก็ดิ่งเหว คนเป็นอัยการต้องมีความกล้าในการที่จะทำงาน” ศ.ดร.คณิตระบุ
ด้าน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า กรณีคดีนายวรยุทธ เดิมอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว ถือว่าคดีนี้ยุติแล้วใช่หรือไม่ เดิมคดีนี้ ยุติแล้ว แต่ขณะที่รอผู้ต้องหา ทั้งที่คดีสั่งเด็ดขาดแล้ว เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ถ้าตนเป็นอัยการ ตนจะไม่นำคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก แต่อัยการกลับใช้ช่องขอความเป็นธรรมแล้วสั่งสอบสวนใหม่ แล้วเมื่อถึงตอนนี้ อัยการบอกจบแล้ว
“กระบวนการสืบสวนสอบสวน ทำสำนวนในครั้งนี้ ผมใช้คำว่า ผมเชื่อว่าดุลพินิจครั้งนี้ไม่ถูกต้อง แต่จะไม่ถูกต้องโดยระบบใด ผมไม่รู้ ”
พล.ต.ต.วิชัย กล่าวอีกว่า คดีนี้ ส่อเจตนาที่จะเอื้อหรือช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ต้น เช่น ข้อหาเมาแล้วขับที่สั่งไม่ฟ้อง เกรงว่าการที่สั่งไม่ฟ้องจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ผิด
ขณะที่ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ระบุว่า คดีนายวรยุทธ นอกจากประเด็นการคำนวณความเร็วที่เป็นปัญหาแล้ว เรื่องตลกที่ 2 ของคดีนี้คือกรณีสารเสพติด ซึ่งมีการตรวจพบสาร เบนโซอิลเอคโกไนน์ (Benzoylecgonine) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในต่างประเทศล้วนใช้วิธีนี้ในการตรวจสอบสารเสพติดในร่างกาย กรณีนี้ แพทย์ก็ตรวจพบเจอสารตัวนี้ ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากเมตาบอลิซึมของโคเคน
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นผลตรวจจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ยังพบ โคคาเอธทีลีน (Cocaethylene) ที่จะเจอเมื่อคนร้ายเสพโคเคนพร้อมกับกินเหล้า สารตัวนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดีบอกว่าเกิดจากกินเหล้าพร้อมกับโคเคน เป็นการส่งจดหมายแจ้งจากภาควิชาหนึ่ง ไปหาภาควิชาหนึ่ง ไม่ได้มาจากตำรวจหรืออัยการ แต่เกิดจากโรงพยาบาลรามาส่งไปโรงพยาบาลตำรวจ ต่อมา รพ ตร.ยืนยันผลตาม รพ.รามาธิบดี แต่ รพ.ตำรวจมีความเห็นแนบท้ายว่า เบนโซอิลเอคโกไนน์ (Benzoylecgonine) และโคคาเอธทีลีน (Cocaethylene) ไม่ใช่สารเสพติด แต่ทั้งสองตัวตรวจเจอในเลือดของนายวรยุทธ
"คือ รพ.ตำรวจไม่ได้พูดถึงโคเคนเลย ตอนนั้น ผมก็โพสต์เฟซบุ๊กถาม ในที่สุด มีหมอคนหนึ่งบอกว่า มันมาจากโคเคน แต่หมอคนหนึ่งบอกว่ามาจากยาปฏิชีวนะ บอกว่าบอสกินยา อะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ซึ่งเป็นตระกูลยาฆ่าเชื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillins) ดังนั้น วงการวิทยาศาสตร์ปั่นป่วนหมดเลย บอกว่า กินยาฆ่าเชื้อแล้วเจอเมตาบอลิซึมของโคเคน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับอะม็อกซี่ซิลลินเลย ส่วนกรณีที่ว่าไม่มีการยกประเด็นยาเสพติดมา โดยอัยการบอกว่าเป็นหลักฐานใหม่นำเอามาฟ้องได้ คือมันไม่ใหม่ เพราะมันมีหลักฐานอยู่แล้ว แค่ไม่ใส่เข้าไปในสำนวน” รศ.ดร.วีรชัย ระบุ