- 05 ส.ค. 2563
กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด จากจุดเริ่มการใช้อำนาจสั่งคดีของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ขณะดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ในการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขณะที่คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี กลับเห็นว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 7 วรรค 4 และ คำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1515/2562 เรื่อง การมอบหมายและมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด วันที่ 1 ต.ค.2562 รวมถึงมีความเห็นเสนอให้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ตามหลักฐานใหม่ที่ปรากฎ ใน 2 จุดสำคัญ
กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด จากจุดเริ่มการใช้อำนาจสั่งคดีของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ขณะดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ในการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขณะที่คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี กลับเห็นว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 7 วรรค 4 และ คำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1515/2562 เรื่อง การมอบหมายและมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด วันที่ 1 ต.ค.2562 รวมถึงมีความเห็นเสนอให้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ตามหลักฐานใหม่ที่ปรากฎ ใน 2 จุดสำคัญ
กระทั่ง นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ได้ทำบันทึกข้อความถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เรื่องการแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานอัยการตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ผู้ต้องหาคดีขับรถยนต์ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า การพิจารณารื้อหลักฐานใหม่เพื่อดำเนินคดีกับนายวรยุท หรือ บอส อยู่วิทยา มีหลายปมต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากการใช้อำนาจในการสั่งคดีไม่ฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าว เป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ประธานก.อ.ส่งหนังสือถึงอสส.แจง 6 ข้อ เตือน พลิกคดีหาเหตุฟ้องบอส อยู่วิทยา )
ล่าสุด อ.แก้วสรร อติโพธิ ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้น ผ่านเว็บไซด์ไทยโพสต์ หัวข้อ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบจากตำรวจและอัยการ ในคดี "บอส" มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
หลังจากที่ให้เกียรติรอฟังคำชี้แจงจากคณะทำงานตรวจสอบคดีบอส ของอัยการ จนๆ ได้คำตอบมาพอสังเขปแล้วในวันนี้ ผมก็เห็นว่ายังมีคำถามสำคัญที่ยังไม่ได้ตอบอีกไม่น้อย ดังจะขอทวงถาม ไปโดยลำดับดังนี้
คำถามที่ 1 : หลักฐานไม่พอฟ้อง ?
1.1) คำอธิบายว่า “หลักฐานไม่พอฟ้อง” นั้นรับฟังได้ ถ้าไม่มีใครเอาหลักฐานที่พอฟ้องได้ออกไปจากสำนวน คำถามจึงมีอยู่ว่าทำไมผลการตรวจเลือดของนายบอส ที่สาขาวิชานิติเวช คณะแพทย์ รามาฯ ที่รายงาน สน.ทองหล่อ เป็นทางการว่า “ พบ Cocaethylene อันเป็นสารที่เกิดขึ้นในเลือดในกระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย (Metabolism) หลังการ เสพ Cocaine ร่วมกับแอลกอฮอล์ ”นั้น แล้วทำไมรายงานนี้จึงไม่มีอยู่ในสำนวนสอบสวนที่อัยการส่งให้อัยการกรุงเทพใต้ ใครเอาออกไป จนสั่งไม่ฟ้องคดีในฐาน เมาสุราหรือเมายาขับรถ
1.2) ในสำนวนสอบสวนดังกล่าว รายงานไว้อย่างไร ทำไมอัยการกรุงเทพใต้ทั้งผู้รับผิดชอบและอธิบดีใน ปี 2559 จึงไม่สงสัยเลยว่า รถพังยับเยินอย่างนี้ ควรจะมีผลการตรวจแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดจากสถาบันทางนิติเวชเช่นคดีปกติทั่วไปมาแสดงในสำนวนสอบสวนด้วย อำนาจดุลพินิจอัยการที่เชื่อตำรวจไปหมดจนไม่ยอมสงสัยอะไรเลยอย่างนี้ นี่คืออำนาจตรวจสอบของอัยการที่เราต้องยอมรับ เช่นนั้นหรือ
1.3) คดีนี้ เรื่องเมาเหล้าหรือเสพยาขับรถนี้ สำคัญมากๆ หากขับรถชนคนตายแล้ว ก็ติดคุกถึง 10 ปี เท่ากับขับรถโดยประมาทเลยทีเดียว ผิดติดคุกโดยพนักงานสอบสวนและอัยการไม่ต้องพิสูจน์ความเร็วรถ หรือความประมาทของใครเลย พยานตรวจเลือดที่สำคัญที่สุดอย่างนี้ อัยการไม่บี้ให้กระจ่างได้อย่างไร
1.4) มาวันนี้ หากเสนอกันไว้ว่าจะหยิบเรื่องโคเคนขึ้นมาเป็นหลักฐานใหม่เพื่อดำเนินคดี ก็อย่าไปเอาผิดเฉพาะความผิดตามกฎหมายยาเสพติดเท่านั้น ต้องใช้ความผิดฐานเมายาขับรถชนคนตาย ตามกฎหมายจราจรทางบกนี้ด้วย
คำถามที่ 2 : อำนาจให้ความเป็นธรรมของอัยการสูงสุด?
2.1) คดีข้อหาประมาทนี้ อัยการกรุงเทพใต้สั่งฟ้องไปแล้ว รอแต่หาตัวมาส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น แล้วอำนาจอัยการสูงสุดยังมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องทับลงไป ตามคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาบอสได้อีกหรือ
2.2) ยิ่งไปกว่านั้น คำร้องขอความเป็นธรรมที่ว่านี้ เมื่อร้องไปยังอัยการสูงสุดคนก่อน ก็ได้มีการพิจารณา และใช้อำนาจอัยการสูงสุดสั่งให้ยุติกระบวนการพิจารณาคำร้องนี้แล้วอีกด้วย อัยการสูงสุดคนใหม่จะมาสั่งทับคำสั่งยุติคำร้องนี้อีกได้อย่างไร กฎหมายอัยการบอกว่าอัยการสูงสุดคนใหม่ต้องมีอำนาจสูงสุดกว่าคนก่อนอย่างนั้นหรือ อัยการประเทศไหน
คำถามที่ 3 : อำนาจร้องสอดของกรรมาธิการ?
เมื่ออัยการสูงสุดคนก่อนสั่งยุติเรื่องแล้วคำร้องนี้จึงไหลมาเข้าที่ประชุม กมธ.กฎหมาย ของสภา หรือ สนช. แล้วจากนั้นก็มีหนังสือจาก กมธ.นี้ส่งไปยัง อสส.ปัจจุบัน แล้วมีการใช้อำนาจ อสส.สั่งไม่ฟ้องข้อหาประมาททำให้คนตายไปในที่สุด
3.1) คำถามแรกมีอยู่ว่า หนังสือนี้ระบุความเห็นว่าอย่างไร และจริงหรือไม่ที่มีผู้ชี้แจงว่า ที่ประชุม กมธ.ไม่ยอมรับพิจารณาคำร้องนี้เลย แล้วเหตุใดจึงมีหนังสือถึง อสส. ออกมาได้ในนามของคณะกรรมาธิการ มีใครในคณะกรรมาธิการออกหนังสือโกหก เปิดเกมส์ให้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งอย่างนั้นหรือ ถ้ามี ใครควรจะเป็นจำเลยในก๊วน 157 นี้บ้าง
3.2) หนังสือนี้ส่งถึง อสส. คนปัจจุบัน ใครเป็นผู้ใช้อำนาจ อสส.รับเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆที่ อสส.เดิมสั่งยุติไปแล้ว กมธ.มีอำนาจอะไรมามาสอดส่าย ให้ สนง.อัยการสูงสุด รับเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ไหนว่ารัฐธรรมนูญรับรองให้อัยการเป็นองค์กรอิสระไปแล้ว จริงหรือไม่ว่า อัยการที่รับหน้าที่กลั่นกรองเรื่อง ได้ตรวจและเสนอเป็นเบื้องต้นไว้แต่แรกแล้วว่า พยานตามคำร้องไม่พึงรับฟัง แล้วเบื้องบนคนไหนสั่งฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ให้สอบพยานเพิ่มเติมตามคำร้องได้ ใช่ อสส.คนปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่ไปต่างจังหวัดแล้วหรือ
คำถามที่ 4 : ยังทนดูกันต่อไปได้อีกหรือ ?
การเต้นตามตามคำร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยหรือผู้ต้องหา (ที่มีฐานะ) อย่างยืดเยื้อ ไม่มีหยุด แล้วลงเอยเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องอย่างน่าคลางแคลงของอัยการ ที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ นี้ ระเบิดเป็นคำถามตามรายทางมาหลายปี และถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนไม่น่าจะทนกันได้อีกต่อไปแล้ว
4.1) ที่ส่งฟ้องไปแล้ว ก็ยังถอนฟ้องได้ เช่นคดีธัมมชโย หรือไม่ก็ไม่อุทธรณ์ไปเสียเฉยๆ เช่น คดีโอ๊ค ก็ทำมาแล้ว ทั้งๆที่คดีนี้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เขาเห็นตามอัยการ และ ดีเอสไอแล้วด้วย
4.2) คดีธรรมกาย คดีวิคตอเรีย สองคดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทุ่มเทเต็มที่ อัยการที่ร่วมสอบสวนก็ยืนหยัดเห็นด้วยจนเห็นควรเสนอให้ฟ้อง แต่อัยการในสำนักงานก็สั่งสอบเพิ่มเติมตามคำร้องจำเลยมาตลอด แล้วก็สั่งไม่ฟ้องไปในที่สุด จนไม่รู้จะให้อัยการมาร่วมสอบสวนกับดีเอสไอเขาทำไม ในเมื่อไม่ฟังเขาเลยอย่างนี้ ทำไมไม่ให้ ดีเอสไอฟ้องเองไปเลยจะไม่ดีกว่าหรือ ในเมื่ออัยการก็เข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่แรก เหมือนนานาประเทศเขาแล้ว
4.3) มาคดีบอสนี่ บานปลายสูงสุดถึงขนาดอัยการสั่งคดีทับกันเองได้ ราวกับเป็นศาลพิพากษาทับกันเองไปมา ตามที่จำเลยจะอุทธรณ์ฎีกากะให้ถึงที่สุดเลยทีเดียว แถมชั้นฎีกายังมี กมธ.สภาร้องสอดเข้ามาอีกด้วย
พอกันทีแล้วใช่ไหม กับ “อำนาจดุลพินิจ” ที่เละเทะแบบนี้ ? คณะกรรมการอัยการ กับ ปปช. ทนได้ไหมครับ?
ก่อนหน้านั้น พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้โพสต์ความเห็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ในองค์กรอัยการว่า "ได้ฟังการแถลงข่าวของกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการแล้วสรุปแบบสั้นๆ ว่า... ผู้สั่งคดี(อัยการ) สั่งไปโดยชอบ ตามกรอบของกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ และกรรมการมีข้อเสนอให้ตำรวจทำการสอบสวนเพิ่มเติมเพราะมีพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่ได้รวบรวมไว้ เช่น เรื่องความเร็วรถ 177 กม./ชม. เรื่องผลตรวจมีสารเสพติดในร่างกายของบอส อยู่วิทยา
อันว่า "พยานหลักฐานใหม่" ต้องเป็นพยานหลักฐานที่ไม่เคยมีมาก่อน ถ้ามีมาก่อนแล้วแต่สอบสวนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ (พนักงานสอบสวนไม่รวบรวมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ /พนักงานอัยการไม่ตรวจสอบหลักฐานและสั่งเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์) จะมาถือว่าเป็นหลักฐานใหม่หาได้ไม่? เพราะเป็นเพียงความบกพร่องในการรวบรวมพยานหลักฐาน(ไม่ว่าจะโดยไม่ใส่เข้าไป หรือเอาออกจากสำนวน) และจะบกพร่องทั้งผู้รวบรวม(พนักงานสอบสวน ) และผู้ตรวจสอบสำนวน(พนักงานอัยการ)
คดีนี้ จึงต้องเริ่มจากเอาผิดกับผู้สั่งคดีก่อนว่าสั่งไปโดยมิชอบ (สั่งไปโดยที่หลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์) แล้วค่อยเอากลับมาสั่งให้ตำรวจทำการสอบสวนเพิ่มเติมให้ครบถ้วนแล้วจึงค่อยสั่งคดีใหม่ มิใช่อ้างว่าอัยการที่สั่งคดีถูกต้องแล้ว จึงโยนใส่ตำรวจว่าบกพร่องในการรวบรวมหลักฐานเพียงฝ่ายเดียว
จากเหตุนี้การที่จะปฏิรูปการสอบสวนโดยให้พนักงานอัยการมาร่วมสอบสวนเสีย ตั้งแต่ชั้นสอบสวนควรจะคิดให้จงหนักเมื่อเอาการตรวจสอบถ่วงดุลมารวมไว้ที่เดียวกัน จึงควรที่จะสร้างกลไกอะไรขึ้นมาเสริมหรือไม่??