- 14 มี.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
กระท่อนกระแท่นในเรื่องภาพลักษณ์องค์กรมาโดยตลอดต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา ด้วยสภาพทางธุรกิจรุมเร้า โดยเฉพาะตัวเลขผลประกอบที่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขาดทุน จนกลายเป็นรอยด่างพร้อยที่มักถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อสำคัญบนโลกโซเชียล ในช่วงเกิดเหตุการณ์ในทางลบ อย่างหนึ่งอย่างใดกับ “บมจ.การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของคนไทยทุกคน
อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะย่ำแย่เสมอไป บทความในคอลัมน์ “ฉาย บุนนาค” บนหน้าหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจวันนี้ มีมุมมองที่อาจแตกต่างออกไป เพราะเป็นการมองจากบุคคลภายนอก ที่ได้มองย้อนกลับเข้าไปใน บมจ.การบินไทย อย่างมีนัยสำคัญ และถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่เฝ้ามองการพัฒนาองค์การบินของไทยให้พัฒนาก้าวไกลยิ่งๆขึ้นไป
“หลังจากมีโอกาสได้สัมผัสและใช้บริการเอื้องหลวงการบินไทยเดินทางไปที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ต้องขอชมว่า “การบินไทย” ช่วงขวบปีหลัง ถือว่ามีพัฒนาการในการบริการและคุณภาพที่สูงมาก แม้ตัวเครื่องอาจจะไม่ได้ใหม่เอี่ยมอ่องเช่นเดียวกับแอร์โฮสเตสบางท่านที่สูงวัยนิดหน่อย…แต่ก็เอาเถอะ ฝูงบินใหม่ๆ หรือ แอร์โฮสเตสสาวๆ สวยๆ ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เราควรมองที่คุณภาพและองค์รวม
เพราะหลายสิ่งหลายอย่างในโลกใบนี้นั้น “สวยแต่รูปจูบไม่หอม”ระหว่างเดินทางก็อดคิดถึงเรื่องการรับสมัครบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า “ดีดี การบินไทย” นั้นไม่ได้
ขยายแล้วขยายอีก มาเป็นครั้งที่ 5 และจะครบกำหนดรับสมัครอีกครั้งในวันที่ 30 มีนาคม 2561 จนท่านประธานสรรหาและปลัดกระทรวงการคลัง “สมชัย สัจจพงษ์” ต้องชี้แจงกับสื่อว่า ที่ผ่านมามีคนมาสมัคร 7 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย ซึ่งน้อยเกินไปในการคัดเลือกและเพื่อประโยชน์สูงสุดของการบินไทยจึงต้องยืดเวลาออกไปอีก
นี้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและมาตรฐานที่สูงขึ้นของ “การบินไทย” เป็นหลักการที่ถูกต้องแล้ว ในการพิจารณาสรรหาและคัดเลือก “ผู้นำ-ผู้บริหาร” หรือ “คู่ครอง”… ว่าควรใช้ความพิถีพิถัน ละเมียดละมัยดั่งสุภาษิตโบราณที่ว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง”
ที่ผ่านมา “การรีบเร่ง” เลือกสรรคนมาบริหารรัฐวิสาหกิจทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพราะความหละหลวมของกระบวนการสรรหา เช่น บางครั้งก็รีบไปเลือกบุคคลที่มีเรื่องร้องเรียนมากมายด้านความไม่โปร่งใสเช่น การสรรหาผู้ว่าการการรถไฟฟ้ามหานคร หรือ รฟม. ที่ผ่านขั้นตอนสรรหาไปแล้วแต่ถูกร้องเรียน ขณะที่หน่วยงานอย่าง ขสมก. ก็สรรหาแล้วล้มไปหลายรอบ กระทั่งหน่วยงาน การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังไม่มีตัวจริงเสียทีหลังรายเดิมถูกปลดโดย ม.44
ผลลัพธ์ของการเลือกคนผิดที่ผิดงานนั้น คนไม่คู่ควร ไม่เหมาะสม ทำให้ประเทศชาติเสียหาย เสียเวลา เสียโอกาสมากมาย “แบบกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” แบบเพลงของพี่เบิร์ด-ธงไชย
เรื่องแบบนี้ต้องลองไปถามท่านอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมต.คลัง ว่าชีช้ำกำหล่ำปลีแค่ไหนที่ต้องเผชิญกับผู้บริหารองค์กรของรัฐที่ท่านดูแล ซึ่งมี “ไม่รับโจทย์” และ “ขัดนโยบาย” กระทรวงการคลังตลอด จนตลาดตราสารหนี้ซบเซาและปั่นป่วนถึงวันนี้
กลับมากรณี การสรรหา “ดีดีการบินไทย” คนใหม่ ในฐานะของลูกค้าคนหนึ่งซึ่งซื่อสัตย์ต่อแบรนด์การบินไทยมาตลอดชีวิต ก็คงได้แต่ภาวนาว่า “ดีดี” คนใหม่คงจะเป็น “คนในองค์กร” มากกว่าคนนอก เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันส่วนใหญ่นั้น ก็เพราะ “คนนอก” หรือ “คนจากการเมือง” ทั้งหมดทั้งสิ้น
และส่วนใหญ่คนที่เติบโตมากับองค์กร จะมีความรัก ความผูกพันธ์ ความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรมากกว่าคนนอก…ตัวอย่างที่ไม่ต้องหามาไกล คือ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ) “คุณอุษณีย์ แสงสิงแก้ว” ซึ่งเติบโตมากับองค์กว่า 30 ปี และมีผลงานที่จับต้องได้ในปัจจุบัน
โดยสรุปประชาชนคนไทยทั่วประเทศ คงอยากเห็นการสรรหาผู้บริหารเบอร์ 1 ของการบินไทยนี้ เป็นไปอย่างรอบคอบและชอบธรรม แม้จะล่าช้าสักหน่อยเราคงรอกันได้…
...........
ที่มา : คอลัมน์ : ฉาย บุนนาค/หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3348 ระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.2561