- 24 พ.ย. 2563
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ชำแหละอีกชุดใหญ่ ปมฉาวเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ซัดทอท.สุดฝืน ยื่นสภาพัฒน์ 2 รอบ โดนตีกลับหมด เพราะสร้างผลเสียมากกว่าได้ประโยชน์ หรือเป้าหมายใหญ่คือผลตอบแทนพาณิชย์อื่น ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน
เกาะติดประเด็นปัญหาแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนต่อขยายอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่ามีแนวโน้มจะสร้างความเสียหาย มากกว่าคุณประโยชน์ในระยะยาว สำหรับ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเห็นว่าผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยังมีแนวโน้มจะดึงดันก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หรือเทอร์มินัล 1 ด้านทิศเหนือ (North Expansion) หรือถูกเรียกว่า “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” แทนการขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกให้ได้ โดยไม่ได้สนใจเสียงคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพหลายองค์กรและนักวิชาการหลายคน
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : ดร.สามารถ ชี้ให้เห็นอีกข้อพิรุธ ทำไมทอท.ยังดันทุรังแผนสร้างเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ )
ล่าสุด ดร. สามารถ ได้โพสต์ความคืบหน้าการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่ออธิบายย้ำว่า จนถึงขณะนี้ ทอท.ยังแสดงเจตนาจะเดินหน้าแผนดังกล่าวต่อไป โดยอ้างอิงข้อมูลจาก "สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" หรือ สภาพัฒน์ ว่า เปิด จม.สภาพัฒน์ ฉบับที่ 2 ค้าน! เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ แต่ ทอท.เมิน จะเดินหน้าสร้างให้ได้"
ถ้าอยากรู้ว่าเนื้อหาในจดหมายฉบับที่ 2 ของสภาพัฒน์ที่ค้านเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ เป็นอย่างไร และทำไมจึงไม่สามารถเบรก ทอท.ได้ มาติดตามและช่วยกันค้นหาคำตอบ ... หลังจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์มีมติค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ หรือส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือในสนามบินสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต่อไป แต่ ทอท.ก็ไม่ลดละความพยายาม โดยได้ขอให้สภาพัฒน์พิจารณาใหม่อีกครั้ง ในที่สุดสภาพัฒน์ได้มีมติค้านเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 และได้มีหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้ง ทอท.ต่อไป แต่ดูเหมือนว่าไม่สามารถหยุดยั้ง ทอท.ได้ ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือยังคงอยู่ในแผนงานก่อสร้างของ ทอท.
เนื้อหาในหนังสือของสภาพัฒน์ฉบับที่ 2 สรุปได้ดังนี้
1. ที่ตั้งของส่วนขยายด้านทิศเหนือจะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกับเทอร์มินัล 1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เช่นรถไฟฟ้าไร้คนขับหรือเอพีเอ็ม และระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เป็นต้น ทำให้ผู้โดยสารจะต้องมีขั้นตอนและระยะเวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก จะไม่มีการลงทุนในระบบดังกล่าว ทำให้วงเงินค่าก่อสร้างต่ำกว่า แต่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกับส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ซึ่ง ทอท.อ้างว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปี
2. จากการพิจารณาแนวโน้มฐานะทางการเงินของ ทอท. ระหว่างปี 2563-2576 พบว่าหากมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ทอท.อาจขาดสภาพคล่องทางการเงินระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ทอท.อาจต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสนามบินอื่น เช่น สนามบินดอนเมือง และสนามบินเชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ ทอท.ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ
3. สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้โดยสารทางอากาศลดลงอย่างมาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 50-60% และจะกลับมามีจำนวนเท่ากับระดับเดิม (ปี 2562) ได้ในปี 2567 ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง การลงทุนพัฒนาจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่เกินจำเป็นในอนาคต
ดังนั้น สภาพัฒน์จึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเว้นงานขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ซึ่งใช้เงินลงทุนต่ำกว่า แต่ ทอท.ควรเร่งดำเนินงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 เนื่องจากมีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารน้อย เพราะเป็นการดำเนินการในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารชะลอตัว
สรุปได้ว่าสภาพัฒน์มีความเห็นให้ ทอท.เร่งขยายเทอร์มินัล 1 แทนการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือฃ แต่อย่างไรก็ตาม ทอท.ยังคงมุ่งมั่นที่จะก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้ได้ โดยอาจขอให้สภาพัฒน์พิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งผมเห็นว่าคงเป็นเรื่องยากที่สภาพัฒน์จะเปลี่ยนใจหาก ทอท.ไม่สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลพร้อมด้วยรายการคำนวณและแบบจำลองเสมือนจริง (Simulation) ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือดีกว่าการขยายเทอรมินัล 1 จริง และสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนจริง คงไม่มีใครสั่งสภาพัฒน์ได้ แต่เหตุใด ทอท.จึงไม่ยอมแพ้ มีอะไรดีหนอ ใครบอกได้บ้าง?
ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง #เทอร์มินัล 2 #ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ #สนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ก่อนหน้าไม่นานนัก "ดร.สามารถ" เพิ่งจะโพสต์พฤติการณ์ของ ทอท. ที่เห็นว่ามีความพยายามจะผลักดันโครงการก่อสร้าง "เทอร์มินัล 2 " ให้ได้ มีใจความสำคัญว่า ทอท.เด็กดื้อ ตื๊อสร้าง "เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ" สภาพัฒน์ค้านแล้ว 2 ครั้ง คือ แม้ว่าสภาพัฒน์ได้ค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทหรือ "เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ" ไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ ทอท.ก็ยังดึงดันที่จะก่อสร้างให้ได้ อะไรทำให้ ทอท.เป็นเด็กดื้อ ติดตามได้จากบทความนี้
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต้องการที่จะเพิ่มความจุของสนามบินสุวรรณภูมิโดยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ทางด้านทิศเหนือของเทอร์มินัล 1 หรืออาคารผู้โดยสารในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บท ทำให้ถูกเรียกว่าเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นการตัดรูปเทอร์มินัลมาแปะไว้เท่านั้นโดยไม่ได้ศึกษาความเหมาะสมอย่างละเอียดรอบคอบ แต่ต่อมา ทอท.เรียกอาคารนี้ซึ่งไม่มีอยู่ในแผนแม่บทว่าส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ทั้งนี้ แผนแม่บทกำหนดให้ขยายเทอร์มินัล 1 ก่อน แล้วตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ทางด้านทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราด
ทอท.ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากองค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร และนักวิชาการที่เป็นห่วงว่าส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นานาตามมา ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสนามบิน เมื่อเรื่องนี้ถึงมือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ที่จะต้องให้ความเห็นก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป ปรากฏว่าถูกตีกลับออกมาถึง 2 ครั้ง กล่าวคือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 สภาพัฒน์ไม่เห็นด้วย แต่ ทอท.ไม่ยอมแพ้ โดยได้เสนอเรื่องเข้าไปใหม่เป็นครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ก็ยังมีมติไม่เห็นด้วยอีกครั้งในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 เนื่องจากเห็นว่าส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะทำให้เกิดปัญหาดังนี้
1. รถบนมอเตอร์เวย์จะติดขัด ในปัจจุบันปริมาณรถบนมอเตอร์เวย์มีมากอยู่แล้ว หากสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ จะเร่งเพิ่มปริมาณรถขึ้นอีก
2. ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางจากส่วนต่อขยายด้านเหนือไปสู่เทอร์มินัล 1 หรืออาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2565 ซึ่งจะต้องใช้รถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) หลายสาย
3. จะทำให้การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ทางทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทล่าช้าออกไป ส่งผลกระทบต่อการรองรับผู้โดยสาร
ด้วยเหตุนี้ สภาพัฒน์จึงเสนอให้ ทอท.ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความพร้อมทุกด้านทั้งด้านแบบก่อสร้างที่ ทอท.ได้เสียค่าแบบไปหมดแล้ว ด้านงบประมาณ และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ได้รับความเห็นชอบแล้ว รวมทั้ง ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วด้วย ที่สำคัญ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้โดยสารไม่แน่นแออัด ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายอาคารตามที่ ทอท.ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ขยายเทอร์มินัล 1 ตลอดมา ต่อจากนั้นจึงขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันตก และตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ใกล้ถนนบางนา-ตราดต่อไป
แม้ว่าการขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้งบประมาณน้อยกว่าและระยะเวลาสั้นกว่า รวมทั้งความพร้อมทุกด้านดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ ทอท.ก็ไม่ฉกฉวยโอกาสทองในการเร่งขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งๆ ที่ แผนแม่บทกำหนดให้ทำเช่นนั้น กลับดื้อรั้นที่จะเดินหน้าก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้ได้ อะไรทำให้ ทอท.ไม่ยอมทำตามแผนแม่บท มาช่วยกันหาคำตอบ
1. เพราะมีศูนย์อาหารและเครื่องดื่ม City Garden ขวางอยู่ทางทิศตะวันออกของเทอร์มินัล 1 ใช่หรือไม่? ใครได้รับผลประโยชน์จาก City Garden? ในกรณีมีการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกจะต้องรื้อ City Garden ออกไป อนึ่ง หากมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ได้มีการออกแบบให้ City Garden เป็นที่ตั้งของสถานี APM ซึ่งจะทำให้มีผู้มาใช้บริการ City Garden มากยิ่งขึ้น
2. เพราะ ทอท.ต้องการให้ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือเป็นตัวเร่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ที่ดินแปลงที่ 37 ที่อยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ใช่หรือไม่? และเอกชนรายใดจะได้รับสัมปทานพัฒนาที่ดินแปลงนี้?
ทั้งนี้ ทอท.มีแผนที่จะพัฒนาที่ดินแปลงนี้ให้เป็นศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์การประชุม อาคารสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าส่งออก และแหล่งบันเทิงครบวงจร เป็นต้น โดย ทอท.จะก่อสร้าง APM เชื่อมโยงจากส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือไปสู่ที่ดินแปลงที่ 37 เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่ต้องการไปใช้บริการ นอกจากนี้ จากข้อมูลของ ทอท.ยังพบว่าจะมีการต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เข้าสู่ที่ดินแปลงที่ 37 อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ที่ดินแปลงนี้กลายเป็น “ไข่แดง” หรือ “ขุมทรัพย์สุวรรณภูมิ” ต่อไป
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทอท.มุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการบินกันแน่ ถ้าคำตอบคือธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน ทอท.จะต้องคำนึงถึงความสะดวกสบาย รวดเร็วและปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก
3. การขยายเทอร์มินัล 1 จะไม่ทำให้พื้นที่ร้านค้าเพิ่มขึ้น ต่างกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือที่สามารถเพิ่มพื้นที่ร้านค้าได้มาก และสามารถกระตุ้นการพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ที่ดินแปลงที่ 37 ได้ ใช่หรือไม่?
ถ้าสภาพัฒน์ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดทิศทางและกำกับการพัฒนาของประเทศไม่สามารถหยุดยั้ง ทอท.ได้ และที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยสั่งการให้ ทอท.รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่ ทอท.ไม่ทำตาม โดยได้เลือกรับฟังความเห็นจากบางฝ่ายเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่า ทอท.ใหญ่จริงๆ เราจะทำอย่างไรกันดี?
ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนจะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัย จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง#เทอร์มินัล 2 #อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 #ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ #สนามบินสุวรรณภูมิ
ช้อปปิ้งออนไลน์ ลาซาด้า ดีลดี ส่งฟรีทุกวัน ลดต่อเนื่องจาก11.11 >> กดช้อปเลย <<