- 25 พ.ค. 2563
ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติชัดเจนไปแล้ว เกี่ยวกับอนาคตบมจ.การบินไทย แต่สิ่งที่เฝ้าติดตามก็คือแนวทางที่จะเกิดขึ้น หลังจากยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามคำปราภของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ประธานการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติชัดเจนไปแล้ว เกี่ยวกับอนาคตบมจ.การบินไทย แต่สิ่งที่เฝ้าติดตามก็คือแนวทางที่จะเกิดขึ้น หลังจากยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามคำปราภของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ประธานการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : นายกฯตู่เปิดใจถกครม.เห็นชอบแผนกู้วิกฤต ขออนุญาตคนไทย นำเจ้าจำปีเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู )
ขณะที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. เคยโพสต์แสดงความเห็นในหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการแก้ปัญหา บมจ.การบินไทย อาทิ "ปริศนา! การบินไทยขาดทุนซ้ำซาก" บางเส้นทางมีผู้โดยสารมาก แต่ขาดทุนอย่างน่ากังขา! แม้ ครม.มีมติปี 57-62 ให้ทีจียกเครื่ององค์กร ลดรายจ่าย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันถึง 8 ครั้ง แต่เหลว! ไม่มีอะไรดีขึ้น สุดยื้อการขาดทุน
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี เช่น ปี 2561 ขาดทุน 11,569 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดของการขาดทุนดังนี้
ปี 2561 ขาดทุน 48 เส้นทาง ได้กำไร 59 เส้นทาง
ปี 2562 ขาดทุน 60 เส้นทาง ได้กำไร 39 เส้นทาง
เมื่อเจาะลึกดูการขาดทุนของบางเส้นทาง พบว่าน่าแปลกใจมากว่าทำไมการบินไทยจึงขาดทุนได้ ทั้งๆ ที่มีผู้โดยสารมากและราคาค่าโดยสารสูง ยกตัวอย่างเช่น
1.เส้นทาง กรุงเทพฯ-ลอนดอน
1.1 ปี 2561 มีเที่ยวบินไป-กลับ 1,434 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 77.7% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 669 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 466,527 บาท
1.2 ปี 2562 มีเที่ยวบิน 1,434 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 82.9% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 799 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 557,183 บาท
2.เส้นทาง กรุงเทพฯ-มอสโคว์
2.1 ปี 2561 มีเที่ยวบินไป-กลับ 418 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 67.9% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 470 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 1,124,402 บาท
2.2 ปี 2562 มีเที่ยวบิน 416 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 76.5% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 477 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 1,146,635 บาท
เมื่อย้อนดูมติ ครม.ในช่วงปี 2557-2562 พบว่า ครม.มีมติให้การบินไทยแก้ปัญหาการดำเนินงานถึง 8 ครั้ง เช่น
มติ ครม.วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ให้การบินไทยปฏิรูปตัวเองโดยลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และปรับปรุงระบบการดำเนินงาน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงานระดับสูงทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดทุนสะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของการบินไทยต่อไป
มติ ครม.วันที่ 4 ธันวาคม 2561ให้ปรับปรุงพัฒนาการบริหารจัดการของการบินไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มศักยภาพในธุรกิจการขนส่งทางอากาศในปัจจุบัน โดยการปรับโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรให้เหมาะสม ถึงแม้ว่า ครม.ได้มีมติให้การบินไทยแก้ปัญหาในช่วงปี 2557-2562 แล้วก็ตาม แต่ผลประกอบการของการบินไทยในช่วงปีดังกล่าวก็ยังคงขาดทุนทุกปี ยกเว้นปี 2559 เพียงปีเดียวที่มีกำไรแค่ 47 ล้านบาท
ถึงวันนี้จึงคาดกันว่า ครม.จะตัดสินใจไม่อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นประมาณ 54,700 ล้านบาท ตามที่การบินไทยร้องขอ แต่จะเลือกแนวทางให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทยโดยผ่านกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง (ซึ่งไม่ใช่กระบวนการล้มละลาย) เพราะจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการบินไทย เนื่องจากสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ พักชำระหนี้ได้ และเจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ลงได้
ไม่ว่า ครม.จะเลือกแนวทางใดก็ตาม ผู้ที่จะทำให้การบินไทยอยู่รอดปลอดภัยได้ก็คือผู้บริหารและพนักงานของการบินไทยทุกคน ไม่ใช่คนอื่น ดังนั้น ถ้าทุกคนผนึกกำลังร่วมกันต่อสู้อย่างแน่วแน่และจริงจัง ผมมั่นใจว่าการบินไทยจะสามารถฝ่าฟันวิกฤตอันเลวร้ายนี้ไปได้ และในที่สุดจะทำให้สายการบินไทยกลับมาพลิกฟื้นทำกำไรได้เหมือนในอดีตที่เคยรุ่งเรือง
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ดร.สามารถ แจงเป็นข้อ ๆ ถ้าแผนฟื้นฟูไม่สะเด็ดน้ำ รัฐไม่ค้ำจุนเจ้าจำปีจะเกิดอะไร )
ล่าสุด ดร.สามารถ โพสต์แสดงความเห็นเพิ่มเติม ถึงทิศทางการวิกฤต บมจ.การบินไทย ในประเด็นหัวข้อ โบอิ้ง 787 หรือ “เจ็ด-แปด-จอด” บทเรียนที่การบินไทยต้องจำ!" ตามรายละเอียดว่า "การบินไทยหมายมั่นที่จะใช้เครื่องบินโบอิ้ง 787-800 สุดยอดไฮเทคของการประหยัดน้ำมัน มาช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ แต่สุดท้ายกลับสร้างปัญหาให้ต้องผวามาจนถึงทุกวันนี้"
โบอิ้ง 787-800 เป็นเครื่องบินที่ถูกสร้างจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทำให้ช่วยลดการใช้น้ำมันได้เป็นอย่างดี เครื่องบินรุ่นนี้ของการบินไทยมีความจุ 256 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 22 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 234 ที่นั่ง
โบอิ้ง 787-800 ลำแรกเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 แต่การบินไทยได้จัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 (หรือ 2014) เพื่อให้ตรงกับเลข 787 นั่นคือวันที่ 7 เดือนสิงหาคมหรือเดือน 8 และปี 2014 ซึ่งรวมกันได้เท่ากับ 7 ถึงเวลานี้การบินไทยได้เช่าโบอิ้ง 787-800 เป็นจำนวนทั้งหมด 6 ลำ
โบอิ้ง 787-800 ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบินไทยใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์กับโบอิ้ง 787-800 ทุกลำ แต่ใช้งานได้ไม่นานเครื่องยนต์เกิดขัดข้อง ต้องถอดเครื่องยนต์ออกและส่งไปซ่อมที่ศูนย์ซ่อมโรลส์-รอยซ์ ประเทศสิงคโปร์ เครื่องบินรุ่นนี้ที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์เหมือนกัน มีปัญหาทุกลำและทุกสายการบิน ทำให้ต้องรอคิวเข้าซ่อมนานมาก ระหว่างรอคิวซ่อมจึงต้องจอดเครื่องบินไว้เฉยๆ เป็นเวลานานมาก
ถึงวันนี้การบินไทยมีโบอิ้ง 787-800 ที่จอดรอการซ่อมอยู่ 2 ลำ จอดมานานกว่า 1 ปีแล้ว ลำหนึ่ง (รหัส HS-TQD) ถูกลากไปจอดไว้บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ใกล้ๆ กับตำแหน่งที่จะสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ส่วนอีกลำหนึ่ง (รหัส HS-TQC) ถูกลากไปจอดไว้บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเทอร์มินัล 1 ใกล้ๆ กับอาคารเทียบเครื่องบิน C (Concourse C)
โบอิ้ง 787-800 ทั้ง 6 ลำดังกล่าว การบินไทยเช่ามาเป็นเวลา 12 ปี โดยเสียค่าเช่าเดือนละประมาณ 36 ล้านบาทต่อลำ หรือวันละประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อลำ ลองคิดดูว่าถึงวันนี้การบินไทยต้องเสียหายไปมากเท่าไหร่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังไม่เข็ดกับโบอิ้ง 787 เพราะหลังจากนั้นไม่นานการบินไทยได้เช่าโบอิ้ง 787-900 ซึ่งมีความจุมากกว่าโบอิ้ง 787-800 (โบอิ้ง 787-900 มีความจุ 298 ที่นั่ง แบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 30 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 268 ที่นั่ง) และสามารถบินได้ไกลกว่าโบอิ้ง 787-800 มาเสริมฝูงบินอีก 2 ลำ โดยวางแผนที่จะใช้บินตรงไปสู่ลอสแอนเจลิสหรือซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคาดว่าจะช่วยทำให้ต้นทุนการบินถูกกว่าการใช้เครื่องบินแอร์บัส A340-500 ที่การบินไทยเคยใช้บินตรงไปสู่นิวยอร์กและลอสแอนเจลิสแล้วขาดทุน จนต้องเลิกบินแล้วจอดเครื่องบินทิ้งไว้ที่สนามบินอู่ตะเภามานานจนถึงทุกวันนี้
การบินไทยรับมอบโบอิ้ง 787-900 ในปี 2560 แต่ก่อนรับมอบ การบินไทยได้ส่งช่างไปฝึกอบรมที่ Boeing Flight Services เมืองซีแอตเทิลในปี 2559 เพื่อเรียนรู้วิธีการซ่อมบำรุงลำตัวอากาศยานซึ่งใช้วัสดุพิเศษ ช่างคนหนึ่งที่ไปฝึกอบรมยังได้บอกกับครูผู้สอนประจำศูนย์ฝึกอบรมด้วยความภูมิใจว่า สายการบินไทยจะกลับมาที่ซีแอตเทิลแล้วนะ
แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มาทั้งซีแอตเทิลและลอสแอนเจลิสตามที่วางแผนไว้ เพราะผู้บริหารของการบินไทยเปลี่ยนใจเอาโบอิ้ง 787-900 บินไปสู่โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์บ้าง ยุโรปบ้าง ความฝันที่จะไปอเมริกาก็หายวับไปกับสายลม ครูฝรั่งคนนั้นคงนั่งขำพวกช่างเหล่านั้น และไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไรกับผู้บริหารของการบินไทยที่ไม่นำเครื่องบินไปใช้ให้คุ้มค่าตามแผนที่วางไว้ การบินไทยใช้โบอิ้ง 787-900 ทั้ง 2 ลำ ได้ไม่นาน ก็ประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องเช่นเดียวกันกับโบอิ้ง 787-800 แต่ได้รับการซ่อมเรียบร้อยแล้ว
ในอดีตโบอิ้ง 787 เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนการบินไทย แต่ในปัจจุบันคนการบินไทยบางคน โดยเฉพาะฝ่ายช่างและกัปตันกลับเรียกขานเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจ็ด-แปด-จอด” เนื่องจากบินได้ไม่นานก็ต้องจอดอยู่กับที่
บทเรียนจากโบอิ้ง 787-800 และโบอิ้ง 787-900 เป็นบทเรียนที่การบินไทยต้องจำ ผมขอฝากบทเรียนนี้ไปยังผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหล่านี้กับการบินไทยอีก!!