- 26 ต.ค. 2563
หลังจากประกาศลาออกจากมูลนิธิร่วมกตัญญู เนื่องจากไม่ต้องการทำให้เหล่าสมาชิกคนอื่นๆ ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ครั้นจะอยู่เฉยๆ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ก็ทนไม่ได้ที่ต้องเห็นส่วนหนึ่งของม็อบคณะราษฎรล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจในครั้งนี้
หลังจากประกาศลาออกจากมูลนิธิร่วมกตัญญู เนื่องจากไม่ต้องการทำให้เหล่าสมาชิกคนอื่นๆ ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ครั้นจะอยู่เฉยๆ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ก็ทนไม่ได้ที่ต้องเห็นส่วนหนึ่งของม็อบคณะราษฎรล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจในครั้งนี้
อ่านข่าว - "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" สุดกลั้นน้ำตา ไลฟ์สดลาออกร่วมกตัญญู ตัดกังวลโดนโยง ออกมาซัดแรงพวกจาบจ้วงสถาบันฯ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางสำนักข่าวทีนิวส์จะขอย้อนประวัติการทำงานของ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่แม้ปัจจุบันเขาจะลดบทบาทการเก็บศพลง แต่สิ่งที่ยังยึดมั่นเสมอคือ “ความตั้งใจ” ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้หลายปีที่ผ่านมา เขาเลือกที่จะช่วยเหลือแบบลงลึกด้วยเงินทุนของตัวเอง โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 4 - 5 แสนบาท โดยการช่วยเหลือคนอื่นแบบไม่มีผลตอบแทน ทำงานจิตอาสาจนทำให้เลิกคิดเรื่อง ความรัก และปัจจุบันกับอาการไทรอยด์เป็นพิษ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขาได้รับไปพร้อมๆ กับการตั้งคำถามของคนทั่วไปถึงสาเหตุแท้จริงของการช่วยเหลือแบบทุ่มสุดตัวว่าเขาทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร และมีสักแวบไหมที่คิดจะเลิก
จากความฝังใจวัยเด็กในภารกิจช่วยเหลือคนยากของโรงเจที่จังหวัดบ้านเกิด และมีโอกาสเห็นมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง และมูลนิธิร่วมกตัญญูเข้าไปแจกอุปกรณ์การเรียนในโรงเรียนของตนเอง ทำให้บิณฑ์ หรือเด็กชายท็อปในวันนั้นจดจำและบ่มเพาะความชอบช่วยเหลือคนอื่นมาตลอด “ตอนอายุ 13-14 เคยออกไปช่วยโรงเจเก็บศพไม่มีญาติ เราก็คิดว่าทำไมเขาไม่รังเกียจ มันก็เลยฝังใจเรื่อยมา จนเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ เข้าวงการบันเทิง พอเจออุบัติเหตุก็อยากลงไปช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร”
เมื่อเข้าวงการบันเทิงเป็นพระเอกได้ 4-5 ปี วันหนึ่งในช่วงหยุดพักถ่ายละคร เกิดเหตุตึกถล่ม เขากลับรีบขับรถออกออกจากบ้านไปยังจุดเกิดเหตุ โดยตั้งใจไปช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ใต้ซากตึก ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีทักษะ “ตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่าเราเป็นพระเอก ตอนนั้นคิดแค่อยากช่วยคนที่อยู่ในตึก เพราะทุกวินาทีสำหรับเขาสำคัญที่สุด” พระเอกหนุ่มพกพาเพียงพละกำลังเข้าไปช่วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เขาได้พบกับทีมงานมูลนิธิร่วมกตัญญูฮีโร่ประจำใจ “เขาเห็นเราเขาก็ยื่นค้อนปอนด์ให้ แล้วให้สวมเสื้อร่วมกตัญญู ตอนนั้นผมใช้ค้อนตอกซากตึกตั้งแต่ 3 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืน ผมเป็นคนแรกที่ขุดเจอศพ เลยได้ฉายาพระเอกเก็บศพ และมีรหัสอาสาสมัครร่วมกตัญญูว่า “ดารา 1” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”
จากนั้นเขาเริ่มติดใจงานกู้ภัยและการช่วยเหลือทุกรูปแบบ ทุกวันหลังถ่ายหนังถ่ายละครเสร็จจะต้องออกไปตระเวนช่วยเหลือคนอื่นจนคล้ายการเสพย์ติด
“เมื่อก่อนผมเป็นนะ ไม่ได้เลย ถ้าวันไหนไม่ได้ออกไปช่วยเก็บศพ ช่วยคนบาดเจ็บ เพราะมันคือความสุขที่เราได้ทำ พอช่วยแล้วกลับมาบ้านเราจะมีความสุข นอนหลับสบาย แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่เป็นแล้ว ผมเริ่มรู้และใช้เหตุผลตามความเป็นจริง”
จากนั้นเหล่าศิลปิน ดาราก็เริ่มเข้ามาเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิกู้ภัยต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาเองเริ่มรู้สึกอิ่มตัวในงานเก็บศพ ก็พอดีกับช่วงปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เขาจึงสร้างเพจของตัวเองขึ้น เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่คงยังไม่พ้นถูกครหาว่าเป็นการ “สร้างภาพ” ในทางกลับกันสำหรับเขาคิดว่าเพจเป็นช่องทางสะพานบุญให้คนอื่นมากกว่า “เหตุการณ์ขนาดนั้นถ้าผมรู้คนเดียวมันก็ไม่สามารถช่วยใครได้เยอะ แต่ถ้าคนที่ตามผมหรือเป็นแฟนเพจผม จะตามไปช่วยเหลือพวกเขาได้ มันกว้างขึ้นและช่วยได้เยอะกว่า” หลังจากนั้นเขาคือคนแรกๆ ที่ใช้ช่องทางนี้เพื่อต่อยอดให้คนอื่นเห็น และเข้าไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยหวังเพียงเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ที่รอคอย
แรกเริ่มเพจของเขามีจำนวนแฟนเพจเพียงหลักสิบ แต่ปัจจุบันยอดไลค์เดินทางไปไกลถึงกว่า 6 ล้านไลค์ ทำให้ในแต่ละวันจะมีผู้โพสต์ขอความช่วยเหลือเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ใช่ว่าทุกเคสจะได้รับการพิจารณาเพราะก่อนที่จะลงไปช่วยเหลือเขาจะต้องคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมากที่สุด “สิ่งที่บอกเราได้ชัดเจนคือรูป ถ้าเล่ามาเฉยๆ ยังไม่เท่าไร บางทีไปถึงแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่เขาบอก เราก็รู้สึกว่าไม่อยากไปแบบนั้น ถ้ามีรูปมา บางทีเราตัดสินในคืนนั้นเลย และรีบไป บางทีไปช่วยปุ๊บ กลับมาถึง เขาโทรมาบอกว่าเสียชีวิตแล้ว”
ในทุกครั้งของการช่วยเหลือจะมีเงิน 2 หมื่นบาทซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของคุณบิณฑ์มอบให้ หลังจากนั้นเขาก็จะถ่ายรูปนำมาโพสต์ในเพจส่วนตัว หวังให้แฟนเพจคนอื่นๆ ได้เห็น และใครที่ปรารถนาจะช่วยเหลือก็สามารถติดต่อหรือโอนเงินผ่านเลขที่บัญชีที่ระบุไว้
“เงินที่ผมใช้ช่วยเป็นเงินที่ผมทำงาน ทำรายการ เป็นพิธีกร ทุกวันนี้หาเงินได้ผมก็เอาไปช่วยคนอื่น แต่มีบางคนที่มาทำบุญกับผม ฝากเงินผมไปทำบุญโดยไม่ต้องการใบเสร็จ บางคนให้เป็นแสน ผมไม่ได้ไปขอ แต่เขารู้ว่าถ้าเอาเงินให้ผม ผมเอาไปทำบุญแน่ๆ บางทีผมไปเดินตลาดได้เงินฝากไปทำบุญเป็นแสน”
ทุกคนก้าวเดินมาบนเส้นทางที่ไม่แตกต่างกันนัก มีทั้งสิ่งที่ทำสำเร็จและล้มเหลว มีเรื่องเข้ามากระทบทำให้เกิดความทุกข์ หรือแม้แต่สัมผัสกับเราแล้วทำให้เกิดสุข หากแต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีสิ่งไหนอยู่กับเรายาวนานแม้แต่ความร่ำรวยและความอับจน นี่จึงเป็นความพอใจที่เกิดขึ้นกับชีวิตในวัยกว่า 50 ของพระเอกพ่อพระ จากนี้เขาก็หวังแต่เพียงว่าจะยังคงมีเรี่ยวแรงช่วยเหลือคนอื่นต่อไป
“ตอนนี้ผมดูแลคนชราที่ถูกทิ้งตามที่ต่างๆ ไว้ที่บ้านมุทิตากว่า 10 คน และต้องจ้างเขาเลี้ยงรายละ 15,000 บาทต่อเดือน ผมเลยคิดจะสร้างบ้านให้เป็นสถานที่สำหรับคนเหล่านี้ เราจะได้ไม่ต้องจ่ายเดือนละเป็นแสน แต่เราจ้างคนมาดูแลเป็นรายได้ต่อเดือนแทน ดูแลได้ 20 คน 20 เตียง ตอนนี้กำลังมีโครงการคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 7-8 ล้าน นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำให้เสร็จก่อนที่ผมจะเป็นอะไรไป”
นอกจากเมล็ดพันธุ์แห่งความเมตตาที่บ่มเพาะมาแต่วัยเด็ก “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ยังเป็นหนึ่งคนบันเทิงที่ระลึกเสมอว่าบันไดแต่ละขั้นที่เขาก้าวเดินจากเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ สู่เส้นทางสายดวงดาวที่ส่งให้เขาได้เป็นพระเอกมีชื่อนั้นล้วนมาจาก “ผู้ชม”
เมื่อสิ่งที่ผู้ชมมอบทำให้เขามีชื่อเสียง เงินทอง อาชีพ และชีวิตที่ดีขึ้น เขาจึงเลือกที่จะตอบแทนคุณเหล่านั้นด้วยการช่วยเหลือคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนยังคงระลึกว่า “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” คือพระเอกตัวจริง แม้หัวโขนและชื่อเสียงจะหมดไป
โดยผลงานล่าสุดคือ ช่วยเหลือน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมียอดรับบริจาครวม 422,496,026 บาท มียอดการเบิกเงินออกจากบัญชีรวม 82,000,000 บาท ช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. - 1 ต.ค.62 เป็นเงิน 74,484,000 บาท ช่วยเหลือประชาชน รายละ 5,000 บาท จำนวน 13,078 ครอบครัว และผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการทุพพลภาพ รายละ 5,000 บาท จำนวน 1,677 ราย วัดจำนวน 51 แห่ง มีชาวอุบลราชธานีได้รับความช่วยเหลือแล้ว 6 อำเภอ จาก 15 อำเภอ
พร้อมกันนี้ยังได้เดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือให้กับ 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมา การช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ รัดกุม และทุกครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน และจะเดินทางกลับมาฟื้นฟูน้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี เบื้องต้น มีโรงเรียนและวัดแจ้งความจำนงขอให้ช่วยเหลือฟื้นฟูแล้วกว่า 100 แห่ง
>> Hot Sale ลาซาด้า ยกขบวนสินค้า ลดกระหน่ำทุกรายการ สูงสุด 90% <<