- 17 ส.ค. 2564
"ต้น ณฐนนท์" ผู้จัดละคร "Dare to love ให้รักพิพากษา" พร้อมกับ "หนุ่ม กรรชัย" เข้าชี้แจ้งอัยการสูงสุด ประเด็นดราม่าละคร ยืนยันละครถ่ายจบแล้ว ปรับเนื้อหาไม่ได้ แต่พร้อมใส่คำชี้แจง
จากกรณีดราม่าละครละครเรื่อง "Dare To Love ให้รักพิพากษา" ที่นำทัพนักแสดง เบลล่า ราณี , กองทัพ พีค ที่มีอัยการระดับสูงหลายรายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอเนื้อหาบิดเบือน ทำให้สังคมเข้าใจผิดต่อบทบาทการทำงานของอัยการที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง พร้อมกับมีการเรียกร้องให้ผู้จัดละคร ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 แก้ไขและชี้แจงต่อสาธารณะโดยด่วน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 "ต้น ณฐนนท์ ชลลัมพี" ผู้จัดละคร "Dare to love ให้รักพิพากษา" พร้อมกับผู้ประกาศข่าว "หนุ่ม กรรชัย" จากรายการโหนกระแส ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานอัยการ ได้หอบเอกสารเข้าพบ "นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์" อัยการสูงสุด เพื่อชี้แจ้งการผลิตละคร
โดย ต้น ณฐนนท์ ได้เปิดใจถึงดราม่าดังกล่าวว่า ตนคิดว่าด้วยความที่ประเทศไทยค่อนข้างมีเอกลักษณ์และมีความน่ารักแบบไทยๆ ที่ลงตัว การมีผู้ใหญ่ให้ความสนใจและกรุณาปันเวลามาใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ แม้ว่าไม่ใช่วาระแห่งชาติ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ตนเป็นเด็ก ทำได้ดีที่สุดก็คือเข้ามาพบอัยการด้วยตัวเอง เพื่อเรียนรู้และมีโอกาสได้ชี้แจงเป็นการส่วนตัว การทำงานแบบมืออาชีพทุกคำติเพื่อก่อ ทำให้ตนมีไฟในการทำงาน ถือว่าเป็นเรื่องได้มากกว่าเสีย
ส่วนเรื่องแนวทางการผลิตต่อไปในอนาคต ตนก็คงต้องคำนึงถึงรายละเอียดเพิ่มเติมที่จะไม่ทำให้คนดูและคนในสายอาชีพต่างๆ ที่อยู่ในบทไม่รู้สึกกระทบจิตใจพวกเขาจนเกินไป ส่วนตัวมีความตั้งใจที่อยากรังสรรค์งานดีดีสู่สายตาผู้ชม อยากจะยกระดับเนื้อหาของละคร อยากยกระดับการถ่ายทำ มุมกล้อง และเทคโนโลยีในการถ่ายทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมาะสมกับยุคสมัยอยู่แล้วครับ นี่ก็ปี 2021 แล้วไม่อยากจะย่ำอยู่ที่เดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแบบนี้ที่ประชาชนซึมเศร้าจากวิกฤติ เราเป็นเฟืองเล็กๆในการสร้างรอยยิ้มได้ก็ดีใจแล้ว ทางผู้จัดก็ต้องขอบพระคุณผู้ใหญ่ในวงการทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและ แฟนคลับหลายๆล้านคนที่ให้ความไว้ใจสนับสนุนตนและศิลปินให้มีสัมมาอาชีพแบบนี้คงอยู่ได้ในยามยาก
ส่วนเรื่องการแก้ไขในการถ่ายทำคงไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะถ่ายทำเสร็จหมดและออกอากาศแล้ว แต่สิ่งที่ทำได้และยินดีที่จะทำคือการ ใส่คําชี้แจงเพิ่มเติมในช่วงเริ่มต้น ระหว่างดำเนินเรื่อง และช่วงท้ายก่อนจบและหลังจบ EP. เช่น "ตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆในละครเรื่องให้รักพิพากษาเป็นเรื่องราวสมมติถูกเติมแต่งและเป็นสถานการณ์เฉพาะบุคคล เพื่ออรรถรสของละครโดยมิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพใดใดและไม่ได้มีเจตนาชี้นำชักจูงและเกิดทัศนคติในทางลบต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง"
เรื่องของขบวนการยุติธรรมเป็น เทรนด์ของละคร ซีรีส์ในปัจจุบันทั่วโลกเช่น เกาหลี อเมริกา ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยให้ความสนใจมาก ทางผู้จัดมีความตั้งใจที่จะนำเสนอละครเชิงนี้ เพื่อให้เกิดความสดและแปลกใหม่ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าขบวนการยุติธรรมของประเทศเรานั้นศักดิ์สิทธิ์ โปร่งใส น่าเคารพ และ เป็นเกราะพึ่งพาให้กับประชาชนทุกคน
ก่อนหน้านี้ ทางส่วนที่ปรึกษาของละครอย่าง "ทนายนิด้า" และ "ทนายเจมส์" ได้ออกมาชี้แจ้งเบื้องต้นแล้วว่า ทางบทละครอาจมีเพิ่มเติมสีสันของละคร ไม่ใช่จริงจังเหมือนสารคดี ทางละครวางแนวทางการผลิตละคร ออกมาตั้งแต่แรก ตั้งใจให้ละครออกมาในรูปแบบไหน มันก็เป็นตัวบ่งบอกที่ชัดเจนแหละครับว่าเราตั้งใจทำงาน ทำการบ้าน และทำเต็มที่เพื่อให้เนื้อหาและรายละเอียดมันใกล้ความเป็นจริงที่สุดเท่าที่ตนจะทำได้แล้ว ที่ปรึกษาทางกฏหมาย เจ้าหน้าที่ศาล และอีกหลายวิชาชีพที่เราเชิญมาเป็นที่ปรึกษา ไม่ได้คิดเองทำเองโดยพละการ คุณนึกสภาพแบบนี้ว่า ถ้าตนให้วิชาชีพอื่นมาทำหนังทำละคร แล้วมาให้คนในวิชาชีพตนวิจารณ์รับรองว่าคุยกัน 3 วันก็ไม่จบ มันต้องดูที่เจตนาและเจตจำนงครับ ตนมั่นใจว่าคนที่แยกแยะคำ 2 คำออกระหว่าง สารคดีกับละคร เขาคงจะเข้าใจแล้วก็คงไม่ต้องอธิบายกันเยอะ"
ขอบคุณ : สวพ.FM91