- 29 พ.ย. 2565
ทนายดัง โพสต์ให้ความรู้คดีลหุโทษในต่างแดน ชี้เอามาฟ้องคดีที่ศาลไทยไม่ได้ ด้าน "ม้า อรนภา" โผล่โพสต์ ขอบคุณ...
จากประเด็นที่ร้อนแรงในตอนนี้ของ "ม้า อรนภา กฤษฎี" ที่เจอกระแสไปตบดาราหนุ่มรุ่นน้องหลังถูกปฏิเสธชวนไปกินปู และมีการแจ้งความเกิดขึ้น โดยม้าออกมาชี้แจงสั้นๆว่าพูดกันเกินไปอย่าเรียกตบและ 30 พฤศจิกายนนี้ จะมีการแถลงข่าวชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น
ล่าสุด ทนายหนุ่มรายหนึ่ง โพสต์เฟสบุ๊ก Sappisansook Yodmongkhon ให้ข้อมูลความรู้ถึงประเด็นนี้ โดยบอกว่า "กรณีที่มีเรื่องดาราท่านหนึ่งตบหน้าดาราอีกท่านหนึ่งที่เกาหลีใต้ซึ่งเมื่อดูจากคลิปเหตุการณ์แล้ว ไม่ได้รุนแรงอะไร และกระทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทนายมองว่าตามกฎหมายไทย จะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาม.391 ซึ่งเป็นลหุโทษ คือ ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจในการจำคุกและปรับน้อยกว่านี้ก็ได้ ซึ่งโทษจำคุกให้รอลงอาญาเอาไว้ก็ได้ ตามแต่พฤติการณ์ความผิด และความร้ายแรงของคดี
ต่อข้อสงสัยที่ว่าคดีประเภทนี้สามารถนำมาฟ้องที่ศาลไทยได้หรือไม่ ทนายขอตอบว่าไม่ได้ครับ คดีลหุโทษที่กระทำนอกราชอาณาจักร แม้ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำจะเป็นคนไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นคดีที่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีในราชอาณาจักรได้ ลองมาดูข้อกฎหมายกันครับ"ต่อมาได้ยกข้อกฏหมาย ทั้งมาตรา 5, มาตรา 6 และ มาตรา 7 มาอ้างอิง พร้อมบอกต่อว่า "ในเมื่อกฎหมายอาญาไม่ได้มีบัญญัติเอาไว้ว่าการกระทำความผิดลหุโทษต้องรับโทษในราชอาณาจักร การกระทำของคุณม้าอรนภา จึงไม่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลไทยได้ครับ"
ทั้งนี้พบว่า "ม้า อรนภา" ได้คอมเมนต์ว่า "ขอบคุณค่ะ"
นอกจากนี้ บอกต่อว่า "มาต่อกันตอนที่ 2 ครับว่า กรณีที่คุณม้า อรนภา กระทำความผิดลหุโทษกับคนไทย โดยการตบหน้า 1 ครั้ง ซึ่งผิดกฎหมายอาญา ม.391 ที่บัญญัติว่าผู้ใดใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย แก่กายหรือจิตใจ ซึ่งความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร จะสามารถให้มารับโทษอาญาที่ประเทศไทย ตามป.วิอาญา ม.20 หรือ ม.22 ได้หรือไม่ ก่อนอื่นมาดูข้อกฎหมายคร่าวๆกันครับ
ป.วิอาญามาตรา 20 มีหลักว่า กรณีความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนก็ได้....ซึ่งขออนุญาตสรุปว่ากรณีความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ให้อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนก็ได้
ป.วิอาญา มาตรา 22 มีหลักว่า เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า
(2) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้นด้วย
ขอบคุณ Sappisansook Yodmongkhon
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline