- 05 พ.ค. 2562
ไซโคลน “ฟานิ” ถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดีย ทำให้ฝนตกหนักและกระแสลมแรง คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 12 ศพ และบาดเจ็บอีกมากกว่า 100 คน ทางการต้องสั่งอพยพประชาชน 1 ล้านคนออกจากพื้นที่ชายฝั่ง
พายุไซโคลนฟานิ ซึ่งมีความรุนแรงเทียบเท่าเฮอริเคนระดับ 4 เคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง บริเวณอ่าวเบงกอล ในรัฐโอริสสา ทางภาคตะวันออกของอินเดียแล้วส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรง เคลื่อนตัวด้วยความเร็วลมกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไซโคลน “ฟานิ” หนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดกระหน่ำภูมิภาคนี้ในรอบ 20 ปี ได้พัดขึ้นฝั่งเมื่อเวลา 08.00 น.ของวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 09.30 น.วันเดียวกันตามเวลาในไทย
อิทธิพลของพายุลูกนี้ ทำให้ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่นเป็นจำนวนมาก หลังคาอาคารบ้านเรือนของประชาชนพังเสียหาย การติดต่อสื่อสารถูกตัดขาดเป็นวงกว้างอีกทั้งในหลายพื้นที่ ต้องประสบกับน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากน้ำภายในเขื่อนกักเก็บน้ำเอ่อท้นตลิ่ง ทำให้ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน อพยพออกจากรัฐโอริสสา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โอฑิศา ทางตะวันออกของประเทศ
.
สำนักข่าวพีทีไอของอินเดีย รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 12 รายแล้วในอินเดีย ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐโอริสสา กล่าวกับเอเอฟพีว่า แม้ว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการยังไม่มีการยืนยัน แต่ก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บเฉพาะในเมืองปุรีแล้วประมาณ 160 คน หลังไซโคลน ฟานิพัดเข้าเมืองปุรี ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ที่ตั้งของวัด “จากานนาถ” (Jagannath temple) อายุ 858 ปี
นอกจากนี้ ยังมีรายงานน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และเจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศ ระบุว่า เกิดสตอร์มเซิร์จหรือคลื่นซัดฝั่งสูง 1.5 เมตร ซึ่งอาจทำลายบ้านเรือนในที่ลุ่มต่ำได้ อีกทั้งยังคาดว่าจะพัดถล่ม 15 อำเภอในรัฐโอริสสา หนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย ก่อนอ่อนกำลังลงแล้ว
.
ขณะที่เที่ยวบินโดยสารจำนวนมากและการให้บริการรถไฟโดยสารทั้งเข้าและออกรัฐถูกยกเลิก ขณะที่โรงเรียนและสำนักงานรัฐบาลก็ปิดทำการ และการทำธุรกิจในท่าเรือ 3 แห่งบนชายฝั่งด้านตะวันออก ก็ปิดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สภาพอากาศในอินเดียขณะนี้ ยังเผชิญภาวะแปรปรวนต่างกันไป ที่รัฐราชสถาน ติดพรมแดนปากีสถาน มีพายุทราย ส่วนที่รัฐมหาราษฏระ ติดชายฝั่ง คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมทะเลอาระเบียน ด้านพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือติดพรมแดนจีน มีฝนตกหนักมาก และที่แถบเทือกเขาหิมาลัย จะมีหิมะตกหนัก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุฟานิ
.
อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่ไกลถึงเทือกเขาเอฟเวอเรสต์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2,300 กิโลเมตร
ทั้งนี้ พายุไซโคลนฟานิ นับเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุด ที่พัดถล่มภูมิภาคนี้ในรอบกว่า 20 ปี อีกทั้งก่อให้เกิดสตอร์มเซิร์จสูง 1.5 เมตรด้วย