- 24 เม.ย. 2563
ผลทดลองชี้ ยาต้านไวรัสโควิด-19 Remdesivir ใช้ไม่ได้ผลกับการรักษาผู้ป่วยหนัก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ยาทดลองต่อต้านไวรัส เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ของ Gilead Sciences Inc ล้มเหลวในการช่วยเหลือคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการหนัก ระหว่างการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มครั้งแรกในจีน โดยบริษัทผู้ผลิตยาบอกว่าผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป และใช้กลุ่มตัวอย่างน้อย
การทดลองยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) นี้ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดทั่วโลก และเป็นความหวังว่าจะเป็นทางออกของการรักษาโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตชาวโลกแล้วมากกว่า 191,000 คน จากผู้ติดเชื้อมากกว่า 2.7 ล้านคน รายงานรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2563 เผยว่า ราคาหุ้นของบริษัท กิลีแอดไซแอนเซส ร่วงลงทันที 4.3% หลังจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานข่าวนี้เป็นรายแรก
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เพิ่งมีรายงานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า คนไข้โควิด-19 บางรายที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ชิคาโก ฟื้นจากอาการไข้และระบบทางเดินหายใจในเวลาอันรวดเร็วหลังได้รับยา
แต่ตามร่างเอกสารที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เผยแพร่ทางเว็บไซต์โดยไม่ได้ตั้งใจก่อนจะลบทิ้ง ระบุว่า ในการทดลองทางคลินิกที่จีน โดยการให้ยาทางหลอดเลือดดำ เรมเดซิเวียร์ไม่มีผลช่วยให้อาการของผู้ป่วยหนักดีขึ้น หรือลดเชื้อไวรัสในกระแสเลือด กระนั้นเอกสารนี้เป็นเพียงฉบับร่างที่มีรายละเอียดน้อย และมีข้อจำกัดในการตีความข้อมูล ซึ่งยังไม่ผ่านการตรวจทานภายในแวดวงนักวิจัย
ภาพที่เว็บไซต์ข่าวด้านการแพทย์ STAT จับภาพหน้าจอไว้ได้ก่อนจะโดนลบ กล่าวว่า การทดลองครั้งนี้ทดลองกับผู้ป่วย 237 ราย โดย 158 รายได้รับยาเรมเดซิเวียร์ อีก 79 รายได้รับยาหลอก ผลที่ออกมาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาจริงมีอัตราการเสียชีวิตที่ 13.9% ไม่แตกต่างมากนักกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ที่มีอัตราเสียชีวิต 12.8% การทดลองนี้ถูกระงับก่อนกำหนด เนื่องจากคนไข้ 18 รายมีอาการข้างเคียงจากผลของยา
ซาลิม ไซยิด นักวิเคราะห์จากมิซูโฮ ให้ข้อสังเกตว่า การทดลองนี้ยังไม่ใช่การศึกษาที่กว้าง ดังนั้น สถิติที่ออกมาจึงไม่แข็งแรง
ด้านบริษัท กิลีแอด ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า โพสต์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของดับเบิลยูเอชโอนั้นแสดงคุณลักษณะที่ไม่เหมาะสมของการศึกษานี้ ซึ่งถูกยุติลงก่อนกำหนดเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการทดลองน้อย ผลลัพธ์นี้จึงไม่สามารถใช้เป็นข้อสรุปที่มีความหมายในเชิงสถิติได้
"เหตุนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวจึงยังไม่ได้ข้อสรุป ถึงแม้ว่าแนวโน้มในข้อมูลบ่งชี้ให้เห็นประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้เรมเดซิเวียร์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ" เอเอฟพีอ้างคำชี้แจงจากบริษัทซึ่งไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
พวกแพทย์คาดเดากันว่า ยานต้านไวรัสเช่นเรมเดซิเวียร์น่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อให้ยากับคนไข้โดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะยานี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในเลือด
"คุณสามารถดับกองไฟได้ แต่ทันทีที่มันลามเป็นไฟป่า มันก็ยากที่จะควบคุม" ดร.เควิน ไกรมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อที่มหาวิทยาลัยฮุสตันเมธอดิสต์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ กล่าว
ถึงขณะนี้ยังไม่มีการรักษาด้วยยาใดหรือวัคซีนใด ที่ได้รับการรับรองว่าใช้ได้ผลกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่่งโจมตีปอดและสามารถหยุดระบบการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักสุด นอกจากเรมเดซิเวียร์ที่ถูกตั้งความหวังไว้สูงแล้ว ยังมียาต้านมาลาเรีย ไฮดร็อกซีคลอโรควิน และคลอโรควิน ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางระหว่างรอผลการทดลองขนาดใหญ่ โดยการศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ผลยังคละเคล้ากัน
การบำบัดโรคด้วยวิธีอื่นที่กำลังมีการศึกษา รวมถึงการเก็บแอนติบอดีของผู้ป่วยที่หายแล้ว และฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วย หรือการสร้างแอนติบอดีจากหนูที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมซึ่งถูกทำให้ติดเชื้อโควิด-19