- 19 ก.ค. 2565
ทำความรู้จัก ไวรัสมาร์บวร์ก หลังโผล่มาระบาดที่ กานา ดับแล้ว 2 ราย เสี่ยงอีกเกือบ 100 อันตรายกว่าอีโบลาติดเชื้อแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง
ทำความรู้จัก ไวรัสมาร์บวร์ก หลังโผล่ระบาดใน กานา ดับแล้ว 2 ราย เสี่ยงเกือบ 100 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ว่า จากผลการวิเคราะห์ตัวอย่างของผู้ป่วยสองคนในแคว้นอาชานติทางภาคใต้ของกานาพบว่า ทั้งสองรายซึ่งเสียชีวิตแล้วและไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburgvirus) ที่คล้ายโรคอีโบลา นอกจากนี้สถาบันปาสเตอร์ในประเทศเซเนกัลยืนยันผลลัพธ์ตรงกับสถาบันวิจัยการแพทย์โนกูชิ เมมโมเรียลในกานา
WHO ลงรายละเอียดว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายวัย 26 ปี เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และเสียชีวิตในวันที่ 27 มิ.ย. ส่วนผู้ติดเชื้อรายที่สองเป็นชายวัย 51 ปี เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. และเสียชีวิตในวันเดียวกัน ซึ่งทั้งสองคนรักษาตัวในโรงพยาบาลเดียวกัน
ตามรายงานระบุว่า อาการไวรัสมาร์บวร์ก ของทั้งสองรายนั้น มีอาการท้องเสีย มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ก่อนเสียชีวิตนอกจากนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงมากกว่า 90 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนในชุมชน ทุกคนได้รับการเฝ้าสังเกตอาการ
ด้าน นพ. มัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาของ WHO กล่าวชื่นชมว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับมือกับผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมรับมือกับการระบาด เพราะหากไม่มีการตัดสินใจที่รวดเร็วทันที ไวรัสมาร์บวร์กอาจระบาดเกินกว่าควบคุมได้อย่าง และเมื่อมีการประกาศการระบาดแล้ว อนามัยโลกจะสนับสนุนด้านทรัพยากรเพื่อรับมือการระบาด
ไวรัสมาร์บวร์กมีความอันตรายและทำให้เสียชีวิตได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิตระหว่าง 24%-88% จากการระบาดในอดีต ทั้งนี้ การระบาดของไวรัสมาร์บวร์กครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ตรวจพบในแอฟริกาตะวันตก หลังจากกินียืนยันมีผู้ป่วยรายเดียวในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว และการระบาดสิ้นสุดในอีกกว่า 5 สัปดาห์ต่อมา
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กราว 10 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2510 ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก เชื้อแพร่จากค้างคาวผลไม้สู่คน และแพร่ระบาดจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ พื้นผิว และวัตถุ
"ไวรัสมาร์บวร์ก" เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรงที่มีอัตราป่วยตายสูงถึง 80% โดย "อาการไวรัสมาร์บวร์ก" จะมีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว (maculopapular rash) สำหรับในรายที่รุนแรงหรือในบางรายที่เสียชีวิตจะมีอาการเลือดออกง่าย สาเหตุเพราะภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง โดยอวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-21 วัน
อย่างไรก็ตาม ส่วนการรักษานั้น ไม่มีการรักษาจำเพาะ ในรายที่มีอาการรุนแรงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดให้สารนํ้าอย่างเพียงพอ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline