- 13 ก.ย. 2565
ทวิตเตอร์ลุกเป็นไฟ ปลุกกระแสทวงคืน เพชรประดับยอดมงกุฎ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ หลังเสด็จสวรรคต
ทวิตเตอร์ลุกเป็นไฟ ปลุกกระแสทวงคืน เพชรประดับยอดมงกุฎ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังอยู่ในช่วงไว้อาลัยให้กับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ กษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุด เป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองเพียง สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์เสด็จสวรรคตไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น (เข้าสู่ช่วงวันที่ 9 กันยายน 2565 ตามเวลาประเทศไทย)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ดันมีรายงานจากต่างประเทศว่า ชาวอินเดียได้เกิดกระแสเรียกร้องทวงคืน เพชรโคห์อินัวร์ (Kohinoor) อัญมณีล้ำค่าขนาด 105.6 กะรัต ซึ่งเป็นหนึ่งในเพชร 2,800 เม็ด ที่ประดับอยู่บนมงกุฎของราชินีอังกฤษ ภายหลังการสวรรคตของ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
แต่ถ้าจะพูดกับตามตรง การทวงคืนเพชรโคห์อินัวร์จากทางอินเดีย นับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งจากรายงานของเว็บไซต์ไทม์ส เผยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินเดียเคยมีความพยายามในการทวงคืนหนึ่งในอัญมณีที่โด่งดังที่สุดในโลกเม็ดนี้มาหลายครั้งแล้ว เช่นเดียวกับรัฐบาลอิหร่าน อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ที่ต่างก็ออกมาอ้างกรรมสิทธิ์ในเพชรโคห์อินัวร์
ทว่ายังไม่เคยมีความพยายามใดที่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่เพชรโคห์อินัวร์ยังอยู่ในการครอบครองโดยราชวงศ์อังกฤษจนถึงปัจจุบัน
แต่นับจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต และมีโอกาสที่เพชรโคห์อินัวร์จะยังคงอยู่ในการครอบครองของอังกฤษต่อไป จึงกลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากในอินเดียปลุกกระแสทวงคืนเพชรขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นหัวข้อที่ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์
เพชรโคห์อินัวร์ ซึ่งหมายถึง "ภูเขาแห่งแสง" นับเป็นอัญมณีที่ถูกนำมาประดับบนมงกุฎราชินีมาตั้งแต่ปี 1937 เดิมถูกขุดพบครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่เหมืองของรัฐอานธรประเทศ อินเดีย ในสมัยราชวงศ์คาคาติยา ก่อนจะเปลี่ยนมือผู้ครอบครองไปสู่ราชวงศ์โมกุลในศตวรรษที่ 16
กระทั่งเมื่ออินเดียถูกกองทัพจากเปอร์เซียเข้ารุกราน เพชรโคห์อินัวร์ก็ถูกเคลื่อนย้ายไปยังอัฟกานิสถาน และถูกส่งต่อไปยังราชวงศ์ต่างๆ ก่อนที่มหาราชา รัญชิต ซิงห์ จะทรงนำเพชรกลับมายังอินเดียอีกครั้ง แต่แล้วอินเดียก็สูญเสียอัญมณีล้ำค่านี้ไปอีก เมื่อแคว้นปัญจาบถูกอังกฤษเข้ายึดครอง
โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้รับเพชรโคห์อินัวร์มาในช่วงปลายคริสต์ศักราช 1840 ก่อนจะนำไปถวายแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ด้วยประวัติอันยาวนานของเพชรโคห์อินัวร์ ทำให้แม้ขณะนี้เพชรจะอยู่ในการครอบครองของอังกฤษ แต่ก็ยังคงมีรัฐบาลจากหลายประเทศที่พยายามอ้างกรรมสิทธิ์ในอัญมณีชิ้นนี้
ภาพจาก The Royal Family
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline