- 16 พ.ย. 2565
ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอน มหาเศรษฐีอันดับ 4 โลกใจป๋า เล็งควักเงินเก็บที่หามาทั้งชีวิตกว่า 4 ล้านล้าน ให้กับการกุศล
เพิ่งประกาศข่าวช็อกไปก่อนหน้านี้ เมื่อในที่สุด แอมะซอน (Amazon) ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก ต้องพ่ายต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากสถานการณ์กลับคืนสู่ช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องรับมือด้วยการปลดพนักงานราว 10,000 คน เริ่มอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้
ตามรายงานระบุว่า แอมะซอน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน เตรียมปลดพนักงานราว 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลง 1.33% สู่ระดับ 99.44 ดอลลาร์ ด้านนิวยอร์กไทม์สรายงานว่าแอมะซอนกลายเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันขนาดใหญ่รายล่าสุด ที่ปลดพนักงานตามหลัง Meta กับ Twitter ซึ่งในกรณีของแอมะซอนเป็นการเตรียมรับมือกับการเติบโตที่ช้าลง และภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ การปลดพนักงานราว 10,000 คนครั้งนี้ มีสัดส่วนต่ำกว่า 1% ของจำนวนพนักงานของแอมะซอนทั่วโลก ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2564 ระบุว่า แอมะซอนมีพนักงานที่ทำงานเต็มเวลาทั่วโลกทั้งสิ้นราว 1.6 ล้านคน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด เจฟฟ์ เบซอส (Jeffrey Bezos) มหาเศรษฐีอันดับ 4 ของโลก ณ ปี 2022 ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ เปิดเผยว่า เขามีแผนจะบริจาคเงินส่วนใหญ่ของทรัพย์สินทั้งหมด 1.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท ให้กับการกุศล
พร้อมกันนี้ เจฟฟ์ เบซอส ยังบอกอีกด้วยว่า เขามีแผนจะบริจาคเงินเพื่อช่วยรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ซึ่งเขาระบุว่า "เรามีปัญหาใหญ่มากมายในโลก และวิธีแก้ไขปัญหาใหญ่เหล่านั้นคือการทำงานร่วมกัน"
ตามรายงานระบุว่า ครั้งแรกที่เบซอสออกมาพูดอย่างเป็นทางการในเรื่องของการบริจาคทรัพย์สินเพื่อการกุศล หลังจากที่ผ่านมาเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดที่ไม่เข้าร่วมแคมเปญ "Give Pledge" หรือโครงการที่มหาเศรษฐีหลายร้อยคนทั่วโลกจะบริจาคทรัพย์สินให้กับการกุศล ซึ่งปัจจุบัน Give Pledge มีมหาเศรษฐีเข้าร่วมกว่า 230 คนจาก 28 ประเทศ รวมถึง อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลา หรือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เป็นต้น
ทว่าความท้าทายของเรื่องนี้คือ เบซอส จะแจกจ่ายทรัพย์สมบัติอันมหาศาลอย่างไร ทั้งนี้ เขาปฏิเสธที่จะระบุเปอร์เซ็นต์หรือสัดส่วนที่เฉพาะเจาะจงว่าจะบริจาคเป็นเงินเท่าไร หรือนำไปมอบให้ที่ไหน
ซึ่งในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เบซอสมอบเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราวๆ 3.5 แสนล้านบาท ให้กับกองทุนที่สนับสนุนการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของการใช้ซีเมนต์และเหล็กกล้าเกรดก่อสร้าง ผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินพิจารณาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ พัฒนาข้อมูลและเทคโนโลยีการทำแผนที่เพื่อตรวจสอบการปล่อยคาร์บอน และสร้างพื้นที่กักเก็บคาร์บอนจากพืชในธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม สำหรับ "แอมะซอน" เป็นหนึ่งในบริษัทกว่า 300 แห่งที่สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2040 ตามหลักการของข้อตกลงด้านสภาพอากาศปารีส แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการปล่อยคาร์บอนจะเพิ่มขึ้นถึง 18% ก็ตาม จากการเติบโตของตลาดสินค้าออนไลน์ในช่วงโควิด-19
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline