- 28 ธ.ค. 2565
โลกไม่มีแววสงบสุข จับตาสงครามแห่งที่ 2 ของยุโรปกำลังปะทุ ชายแดนตึงเครียด ผู้นำสั่งทหารเตรียมพร้อมรบเต็มรูปแบบ
สงครามแห่งที่ 2 ของยุโรปกำลังปะทุ ผู้นำสั่งทหารเตรียมพร้อมรบเต็มรูปแบบ อีกหนึ่งประเด็นหลักประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตา เมื่อมีรายงานว่า จากสงครามจุดแรกในยุโรปที่เกิดจากการที่รัสเซียส่งทหารบุกยูเครน ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ขณะที่ใกล้จะครบปีในเดือนกุมภาพันธ์สงครามจุดที่ 2 ก็เริ่มปะทุ เมื่อเซอร์เบียสั่งทหารเตรียมพร้อมเต็มรูปแบบ เพื่อคุ้มครองชาวเซิร์บในดินแดนโคโซโว
โดยประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยเดิม เมื่อนายบราติสลาฟ การซิช รัฐมนตรีมหาดไทยของเซอร์เบีย บอกว่ากำลังปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดีเซอร์เบียอย่าง อเล็กซานดาร์ วูซิช ที่ให้ใช้ทุกมาตรการในการปกป้องชาวเซิร์บในโคโซโว ด้วยการส่งกองกำลังรักษาความมั่นคงเข้าไปตรึงบริเวณชายแดนด้านที่ติดกับโคโซโว ด้วยสถานะที่ "พร้อมรบเต็มรูปแบบ"
การเคลื่อนไหวมีขึ้นหลังความตึงเครียดระหว่างเซอร์เบียกับโคโซโว ขยายขึ้นเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ จากการที่ชาวเซิร์บอ้างว่าถูกชาวแอลเบเนียที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในโคโซโวรังแก ขณะที่นายเทศมนตรี ผู้พิพากษาและตำรวจชาวเซิร์บ ได้พากันลาออกเพื่อประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาลโคโซโว ที่จะให้รถทุกคันในกรุงพริสตินาติดป้ายทะเบียนเซอร์เบีย
และชาวเซิร์บในโคโซโวหลายพันคนได้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลที่ส่วนใหญ่เป็นชาวแอลเบเนีย ถอนกำลังตำรวจออกจากพื้นที่ทางเหนือ พวกเขายังตั้งเครื่องกีดขวางถนนถึง 9 จุด ในพื้นที่ทางเหนือ ที่มีประชากรชาวเซิร์บอาศัยอยู่ราว 50,000 คนด้วย
สำหรับ โคโซโว ประกาศตัวเป็น "รัฐเอกราชแบบเอกภาคี" เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี 2551 โดยใช้ชื่อ "สาธารณรัฐโคโซโว" หลังรัฐสภาลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ และนายฮาชิม ทาชี นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแยกโคโซโวเป็นอิสระจากเซอร์เบีย และแม้จะเป็นการประกาศเอกราชฝ่ายเดียว ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) แต่เซอร์เบียยังถือว่าโคโซโวเป็นเพียง "จังหวัดปกครองพิเศษ" ของตนเอง และย้ำเตือนมาตลอดว่าจะปกป้องชาวเซิร์บทุกวิถีทางถ้าพวกเขาถูกโจมตี
ที่จริงโคโซโวอยู่ภายใต้การบริหารของสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2542 และแม้เอกราชของเซอร์เบียจะได้รับการยอมรับในประชาคมโลก แต่เซอร์เบียก็ไม่ได้ปกครองโคโซโวอย่างแท้จริง โดยองค์กรที่ทำหน้าที่นี้คือ คณะทำงานของสหประชาชาติประจำโคโซโว (United Nations Mission in Kosovo) หรือ UNMIK และสถาบันการปกครองตนเองชั่วคราวของท้องถิ่น (Provisional Institutions of Self-Government) มีกองกำลัง "KFOR" (Kosovo Force) ภายใต้การนำขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO เป็นผู้รักษาความมั่นคง
ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างโคโซโวกับเซอร์เบียในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เกิดขึ้นหลังสงครามบอลข่าน ในปี 2455 เมื่อเซอร์เบียเข้ายึดครองโคโซโว ก่อนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียเมื่อปี 2461 ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศถูกปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม (ไม่ขึ้นต่อสหภาพโซเวียต) มีนายพลติโต เป็นประธานาธิบดี แต่พอระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปี 2532 รัฐต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นยูโกสลาเวียได้แยกตัวเป็นประเทศอิสระ ได้แก่ สโลวีเนีย โครเอเชีย มาซิโดเนีย บอสเนีย มอนเตเนโกร
แต่นับตั้งแต่ปี 2533 โคโซโวต้องเผชิญกับ "อาชญากรสงคราม" สโลโบดัน มิโลเซวิช ประธานาธิบดีผู้มีแนวคิดคลั่งชาติในยุคนั้น และสถานการณ์ตึงเครียดถึงขีดสุด เมื่อเขาส่งกองทัพเข้าไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมในโคโซโวเมื่อปี 2541 ทำให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ต้องเข้าแทรกแซงด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดถล่มจนเซอร์เบียต้องยอมถอนทหาร
ก่อนที่ทหาร NATO จำนวน 40,000 นาย จะเข้าไปรักษาความมั่นคงในเดือนมิถุนายน ปี 2542 และยุติบทบาทของเซอร์เบียในโคโซโว ส่งผลให้โคโซโวเป็นจังหวัดหนึ่งของเซอร์เบียแต่เพียงแต่ในนาม ในขณะที่การบริหารงานทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ โดยมีโดยกองกำลังทหารของสหประชาชาตินำโดย NATO รักษาความสงบเรียบร้อย
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline